สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ
บทความของผมเรื่อง "แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะนำเสนอสิ่งที่กำลังทำอยู่
และความเชื่อมั่นในโอกาสที่ประเทศไทยเราจะพลิกผันสถานการณ์จากที่เสียเปรียบชาติมหาอำนาจ
มาเป็นโอกาสทอง และสร้างความสมประโยชน์กับชาวโลกชาติอื่นๆ
ก่อนที่ผมจะนำเสนอหรือถ่ายทอดความคิด
ประสบการณ์ สู่ท่านผู้อ่าน ผมใคร่ขอขอบพระคุณคุณพ่อของผมผู้ได้จากพวกผมไปก่อนเวลาอันควรกว่า
๒๐ ปีแล้ว ขอบพระคุณท่าน ที่ท่านทำให้ผมคุ้นเคยกับการทำหนังสือพิมพ์
เมื่อผมเด็กๆ ท่านได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "ข่าวสยาม" ขึ้น
ผมจึงไม่ต้องเสียเวลาคิดอะไรมากที่จะร่วมมือกับพรรคพวกเปิดหนังสือพิมพ์
"อาทิตย์วิเคราะห์" ขึ้น ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์
"ร่วมด้วยช่วยกัน"
และผมขอขอบคุณพี่ชาย
๒ ท่าน ที่ได้เปิดโอกาสให้ผมหัดเขียนบทความบนหนังสือพิมพ์ของทั้ง ๒
ท่าน ท่านแรกคือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ"
และท่านที่สองคือ คุณขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของหนังสือพิมพ์ "มติชน"
ขอกราบขอบพระคุณด้วยครับ
ประมาณต้นปีพ.ศ.๒๕๔๐
ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้
ผมก็เหมือนนักธุรกิจชาวเอเซียส่วนใหญ่ที่คิดว่า ศตวรรษนี้เป็นของพวกเราแล้ว
โลกเป็นของชาวเอเซียเสียที หลังจากที่พวกเราต้องคอยเดินตามหลังประเทศมหาอำนาจเช่น
สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกมานานนับร้อยปี
คงเป็นเพราะพวกเราชาวตะวันออกต้องขวนขวายไปเรียนรู้ไขว่คว้าเอาปริญญาการศึกษาที่ประเทศเหล่านี้
ปีๆ หนึ่งนับเป็นหมื่นๆ คน ที่มหาวิทยาลัย "นอร์ทเทริน อิลินอยส์"
ในรัฐอิลินอยส์ซึ่งผมได้ไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้น
มีชาวไทย ๑๗ ท่านศึกษาอยู่ และมีชาวมาเลเซียซึ่งเป็นนักเรียนทุนถึง
๔๕๐ คนเรียนอยู่ มากขนาดทางมหาวิทยาลัยต้องจัดห้องพักผ่อนที่เรียกว่า
"ห้องโถงมาเลเซีย" ไว้ให้พวกเขาใช้กัน
ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ความไม่คล่องในการพูดภาษาอังกฤษ รูปร่าง หน้าตาที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเราส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกที่ด้อยกว่าชาวตะวันตก
ในเวลาที่เราอาศัยอยู่ในประเทศของเขา
บางครั้งพวกเขาก็ตั้งใจที่จะทำให้เรารู้สึกเช่นนั้นด้วย
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีอุปนิสัยที่ดูถูกเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
คนดีมีความเจริญทางจิตใจก็มีมากเช่นกัน
ความรู้สึกที่เหมือนจะเป็นปมด้อยหรือน้อยใจเหล่านี้
ฝังอยู่ลึกๆ ในใจของนักเรียนจำนวนมากที่จบการศึกษาแล้วเดินทางกับถิ่นฐานของตัวเอง
บวกกับความคุ้นเคยในวิถีชีวิตของชาวตะวันตกในเรื่อง "บริโภคนิยม"
มันเป็นระเบิดเวลาต่อมาที่มีผลสะท้อนต่อตัวบุคคลเหล่านี้ที่เริ่มเจริญเติบโตขึ้นเป็นนักธุรกิจใหญ่ในฮ่องกง
มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย สะท้อนไปถึงขบวนการนึกคิด และตัดสินใจในการลงทุน
การขยายกิจการ เป็นต้น
ผมเชื่อว่า
นี่คือระเบิดเวลาที่ระเบิดขึ้นอีก ๒๐ ปีต่อมาภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดูดีไปหมด
สภาพคล่องของเงินสดในตลาด อัตราดอกเบี้ยที่สูงในประเทศสำหรับเงินบาท
และการกู้เงินสกุลต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ประเภทที่ต่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถึง๑๐
เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกามาในอัตรา
๓ เปอร์เซ็นต์ แล้วไปฝากบริษัทไฟแน้นซ์ได้ดอกเบี้ย ๑๔ เปอร์เซ็นต์
เป็นเรื่องธรรมดา
บริษัทภายใต้การดูแลของผม
ก็กู้เงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นจำนวนมาก
ระบบสื่อสารแบบไหนที่ฝรั่งเขาว่าดีและคืออนาคตของมนุษยชาติแล้ว เราลงทุนทันที
ไม่ต้องคิดมาก โครงการส่วนใหญ่ก็แย่งกันลงทุน และส่วนใหญ่ก็ขาดทุน
ยกเว้นธุรกิจเดียวที่กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างดี นั่นคือ
ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เราเรียกกันว่า "โทรศัพท์มือถือ"
นั่นเอง
|