เกษตรกรต้นแบบ
"ชาลี มาระแสง...ปราชญ์ชาวบ้านผู้ปลูกป่าและการเกษตรแบบผสมผสาน"
คุณชาลี มาระแสง (ปัจจุบัน นายชาลี มาระแสง เสียชีวิต)  จ. อำนาจเจริญ ปี 2551

นายชาลี มาระแสง ปราชญ์ชาวบ้านผู้ปลูกป่าและการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นเกษตรกรผู้กว้างขวาง มีจิตสาธารณะ ชอบบำเพ็ญประโยชน์และสร้างกิจกรรมต่างๆมากมาย จากวัยเด็กที่เคยอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าน้อยใหญ่อย่างสมดุล ธรรมชาติได้สอนให้นายชาลีมีความฉลาดในเรื่องการทำมาหากิน ทำให้เป็นคนที่มีความอดทนสู้งานหนัก จนกระทั่งบวชเรียนจบนักเรียนธรรมชั้นตรี ในปี 2491 หลังจากสึกออกมานายชาลีมีแนวคิดทำงานหาเงิน จึงตัดสินใจไปขายแรงงานในภาคกลาง โชคดีมีคนรับไปทำงานสวนส้ม สวนละมุด ที่อำเภอสามพราน จ.นครปฐม ทำงานหนักเท่าไหร่ก็สู้ แต่ถูกดูหมิ่นถากถางอาชีพลูกจ้างจากบรรดาลูกเจ้าของนายจ้างอยู่บ่อยครั้งก็เลยหนีไปทำงานขุดร่องวางสายโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ จากนั้นไปเป็นลูกจ้างขุดบ่อเลี้ยงปลาที่บางนา ต่อมาไปเป็นลูกจ้างทำนาที่นครนายก เป็นลูกจ้างในสวนมะพร้าว สวนมะม่วงและสวนกล้วยที่ชลบุรี จนกระทั่งปี 2495 จึงคิดหวนกลับคืนสู่บ้านเกิดที่อำนาจเจริญ

หลักคิดและการใช้ชีวิต

จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมานานหลายปี นายชาลีตั้งปณิธานอันแรงกล้าที่จะร่วมทำบุญถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์ทรงออกผนวช ในปี 2500 จึงนำประสบการณ์ที่เคยออกไปทำงานหันมาทำการเกษตร ด้วยความมุ่งมั่นที่จะออมน้ำ นายชาลีจึงบากบั่นขุดบ่อสร้างดินจนสำเร็จ ใช้เวลา 18 ปี จนได้แหล่งเก็บน้ำที่สมบูรณ์ในปี 2524 ที่มีคันดินสูง 5 เมตร ความกว้าง 14 เมตร ความยาว 280 เมตร จนทำให้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีสวนผลไม้ มีรายได้เพิ่ม เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเกษตรแบบผสมผสานแทบจะทุกวัน อาศัยทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อมหันมาออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาเชื่อมต่อกับวิถีชีวิต สร้างชุมชนเข้มแข็ง เรียนรู้การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
ปัจจุบัน มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดตั้งมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทยอีสานคืนถิ่น เป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นก่อตั้งภาคีพันธมิตรเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านใน 5 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อำนาจเจริญ และขอนแก่น และมีเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมสร้างเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสานให้ครบทุกจังหวัดเพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขและพึ่งตนเองได้
(ปัจจุบัน นายชาลี มาระแสง เสียชีวิต)

ความสามารถอันโดดเด่น

1. การทำปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรสำหรับปรับสภาพดินในนาข้าว
วัตถุดิบส่วนผสม :
- แกลบดำ จำนวน 10 กิโลกรัม
- แกลบดิบ จำนวน 10 กิโลกรัม
- มูลสัตว์ จำนวน 10 กิโลกรัม
- รำอ่อน จำนวน 20 กิโลกรัม
- น้ำหมักชีวภาพ(ฮอร์โมนสูตรแม่) จำนวน 10 ลิตร
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM จำนวน 1 ฝา
- กากน้ำตาล จำนวน 5 ลิตร
- น้ำเปล่า จำนวน 100 ลิตร
ขั้นตอน/วิธีการทำ :
1. กองวัสดุทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ยกเว้นรำอ่อน(ใส่ในขั้นตอนสุดท้าย) ผสมวัตถุดิบทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน
2. ผสมน้ำหมักชีวภาพ(ฮอร์โมนสูตรแม่) + หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM + กากน้ำตาล และน้ำเปล่า คนละลายให้เข้ากัน แล้วนำไปราดบนกองปุ๋ย จนได้ความชื้นที่เหมาะสม กำดูเนื้อปุ๋ยจับกันเป็นก้อนไม่มีน้ำไหลออกจากง่ามนิ้วมือ
3. เกลี่ยกองปุ๋ยให้เสมอกัน แล้วโรยด้วยรำอ่อน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำไปเรื่อยๆ จนกว่ารำอ่อนจะหมดทั้ง 20 กิโลกรัม ให้เนื้อปุ๋ยคลุกเคล้าเข้ากันดี ให้ได้ความชื้นที่เหมาะสม
4. เกลี่ยกองปุ๋ยให้เสมอกันในที่ร่ม จากนั้นก็หาพลาสติกมาคลุมให้มิดชิด กลับกองทุก 2 วัน ใช้เวลาในการหมัก 15 วัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
การนำไปใช้งาน :
- ใส่ปุ๋ยในนาข้าวครั้งแรกในขั้นตอนการเตรียมดิน อัตรา 300 กิโลกรัม/ไร่
- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ก่อนย้ายต้นกล้าไปปักดำ อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่
ประโยชน์จากปุ๋ย :
- ดินที่แข็งกระด้างจะเริ่มมีความร่วม ซุย ขึ้น ข้าวจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยเคมีได้น้อยลง ต้นทุนการผลิตลดลง แต่ได้ปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นในปีถัดๆไป
2. การทำสารสกัดสมุนไพรขับไล่แมลง
วัตถุดิบที่ต้องเตรียม :
- สะเดา จำนวน 3 กิโลกรัม
- บอระเพ็ด จำนวน 3 กิโลกรัม
- ข่า จำนวน 1 กิโลกรัม
- ตะไคร้หอม จำนวน 1 กิโลกรัม
- หางไหล จำนวน 1 กิโลกรัม (หรือสาบเสือ,หนอนตายหยาก)
- ผลไม้สุก จำนวน 6 กิโลกรัม
- ยาฉุน จำนวน 2 กิโลกรัม
- น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล จำนวน 4 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด จำนวน 40 ลิตร
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ จำนวน 10 ช้อนแกง
ขั้นตอน/วิธีการหมัก :
- หั่นหรือสับวัตถุดิบทั้งหมดใส่ลงในถังหมัก
- ผสมน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาลกับน้ำใส่ลงในถังหมัก
- ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ลงในถังหมัก แล้วคนวัตถุดิบส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- จัดหาวัสดุมาทับไม่ให้วัตถุดิบลอยตัว ปิดฝาถังหมักให้สนิท ตั้งเก็บไว้ในที่ร่มใช้ระยะเวลาในการหมัก 1 เดือน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
การนำไปใช้งาน : ใช้น้ำหมักสมุนไพร 3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นเพื่อป้องกันและขับไล่แมลงศัตรูพืชตอนเช้ามืด หรือตอนค่ำ
3. การทำน้ำหวานหมักจากพืชและผลไม้
การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว(น้ำแม่) :
ส่วนประกอบ :
- ผักบุ้ง 2 กิโลกรัม
- หน่อกล้วย 2 กิโลกรัม
- หน่อไม้ 2 กิโลกรัม
- ผักใบเขียวตระกูลถั่วต่างๆ 2 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 4 กิโลกรัม
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ช้อนแกง
การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้(น้ำพ่อ) :
ส่วนประกอบ :
- กล้วยน้ำว้าสุก 2 กิโลกรัม
- มะละกอสุก 2 กิโลกรัม
- ฟักทองแก่ 2 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม
- หัวเชื้อจุลินทรีย์ 10 ช้อนแกง
การหมัก : น้ำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน(แยกกันหมักแต่ละสูตรคนละถังหมัก) ระยะเวลาในการหมัก 7-15 วัน จึงนำมาใช้ประโยชน์
การผสมน้ำหวานหมักเพื่อใช้ให้ตรงกับการเจริญเติบโตของพืช :
สูตรที่ 1 : ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้น้ำแม่ 10 ส่วน + น้ำพ่อ 1 ส่วน
สูตรที่ 2 : ช่วงเร่งการออกดอกของพืช ใช้น้ำแม่ 5 ส่วน + น้ำพ่อ 5 ส่วน
สูตรที่ 3 : ช่วยเร่งผล ราก และหัว ใช้น้ำแม่ 1 ส่วน + น้ำพ่อ 10 ส่วน
การนำไปใช้งาน : หัวเชื้อน้ำหมักที่ผสมกันแล้ว 1 ส่วน ผสมน้ำเปล่า 500 ส่วน ฉีดพ่นตามช่วงอายุการเจริญเติบโตของพืช

เกียรติประวัติและผลงาน

-เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-วิทยากรบรรยายเรื่องการเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรแบบผสมผสาน
-ปราชญ์ชาวบ้านผู้พลิกฟื้นผืนป่า
-รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551

ชาลี มาระแสง
ข้อมูลการติดต่อ

25 ม.10 ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ 37240

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด