
นายบุญฤกษ์ กิมกวางทอง ปราชญ์เกษตรเจ้าของรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี2551 และเป็นเจ้าของรางวัลครูดีเด่นด้านการทำบัญชีครัวเรือนระดับจังหวัด รางวัลชนะเลิศศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนดีเด่นและได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นและได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรตัวอย่าง ประเภทก้าวหน้าของจังหวัดชลบุรี เป็นเกษตรกร 1 ใน 9 เซียนสวนไผ่เศรษฐกิจของประเทศไทย เชี่ยวชาญและรอบรู้ในการทำสวนไผ่และแปรรูปผลผลิตจากป่าไผ่ อาทิ ถ่านไม้ไผ่ สบู่และน้ำยาล้างจานจากถ่านไม้ไผ่ และได้ทำการเปิดสวนไผ่เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องไผ่ เดินตามแนวทางความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังให้บริการจัดทำโฮมเสตย์สำหรับนักท่องเที่ยว และเปิดรับนักศึกษาฝึกงานและเกษตรที่มีความสนใจในเรื่องไผ่ให้เข้ามาพักพิง ศึกษา และนำกลับไปใช้ในการพัฒนาการเกษตรในถิ่นฐานบ้านเกิดต่อไป
...
1. การบังคับไผ่ออกนอกฤดู
การบังคับไผ่ออกนอกฤดู (ออกผลผลิตมากในช่วงเดือน ต.ค. พ.ย. เท่ากับ 4 เดือน) ผลผลิตในพื้นที่ 30 ไร่ต่อ 1 ตัน ต่อ 1 วัน
ซึ่งการบังคับให้ไผ่ออกนอกฤดูนี้จะเน้นการบำรุงต้น ในช่วงเดือนที่หน่อไม้ออกปกติตามฤดูคือเดือน มิ.ย. ก.ย.
วิธีการขึ้นอยู่กับการให้ปุ๋ยที่มีปริมาณแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุต้น
ปลูก 1 เดือน ให้เคมี(ปุ๋ยยูเรีย) 1 ช้อนโต๊ะ สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0) และปุ๋ยคอก 1 ก.ก.
ปลูก 2 เดือน ให้เคมี(ปุ๋ยยูเรีย) 2 ช้อนโต๊ะ สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0) และปุ๋ยคอก 2 ก.ก.
ปลูก 3เดือน ให้เคมี(ปุ๋ยยูเรีย) 3 ช้อนโต๊ะ สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0) และปุ๋ยคอก 3 ก.ก.
เพิ่มจำนวนปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกคูณ 1 เท่าในทุกเดือน จนถึงเดือนที่ 6 จะได้ใส่ ปุ๋ยเคมี(ยูเรีย) 6 ช้อนโต๊ะ ขณะที่ปริมาณปุ๋ยคอกอยู่ที่ 10 ก.ก. และหลังจากนั้นจนกระทั้งหมดอายุของต้นไผ่ก็ยัดปริมาณการใส่อยู่ที่เดือนที่ 6 ตลอดไป
2. วิธีการเปลี่ยนถ่ายลำไผ่หวาน
เปลี่ยนถ่ายลำต้นจะเป็นถ่ายเดือน มิ.ย.-ส.ค. ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายลำไผ่นั้นมีความสำคัญกับการทำหน่อมากที่สุด
1. การเปลี่ยนถ่ายลำไผ่ควรทำปีละ 1 ครั้ง หลักจากเก็บเกี่ยวไผ่นอกฤดูในช่วงแล้ง พ.ย.-มิ.ย. ของปีถัดไป
2. เริ่มคัดแม่พันธุ์ใหม่ โดยการเลือกหน่อที่ผุดขึ้นจากใต้ดิน จะได้แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรงและให้ผลผลิตดก กอไม่ล้ม
3.กรณีสายพันธุ์ไผ่เลี้ยงหวาน ใน 1 กอ ให้ไว้ต้นใหม่ 5 ลำต้น ต้นเก่า 1 ลำต้น เพื่อช่วยการพยุงกอให้แข็งแรง รวมแล้วไผ่เลี้ยงต้องไว้ 6 ลำต้นต่อกอต่อปี
4. ส่วนกรณีสายพันธุ์ไผ่ตรงใต้หวัน ให้เลือกหน่อที่ผุดขึ้นจากพื้นดินไว้ 2 หน่อตัดต้นเก่าทิ้งทั้งหมด
สิ่งที่สังเกตและสำคัญ
ช่วงที่เหมาะสมในการเปลี่ยนถ่ายลำไผ่มากที่สุดคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ถึง 30 ก.ย. ต้นเดือนตุลาคมเริ่มตัดต้นแก่ออกริดกิ่งแขนงจากพื้นดินให้สูงประมาณ 3 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกกองละ 1 ถุงปุ๋ยอาหารสัตว์หรือประมาณ 25 ก.ก. ต่อกอ จะได้เริ่มเก็บผลผลิตในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยการเปลี่ยนถ่ายต้นจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 ทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ แต่ละปีจะทำให้แปลงสมบูรณ์ออกหน่อดกทุกปีตามที่กำหนด
3.เทคนิคการให้น้ำสวนไผ่ เกิน 1 ปี แบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม
การให้น้ำในสวนไผ่ เกษตรกรจะนิยมใช้ระบบสปิงเกอร์ ในระยะแรกและใช้ระบบนี้ต่อไปจนกว่าต้นไผ่จะมีอายุ 10 ปี
การให้น้ำระบบสปิงเกอร์ (น้ำเหวี่ยง)
1. ท่อพีวีซี (PVC) , ข้อต่อ ,ข้องอ และ หัวเหวี่ยงสำเร็จรูป
2. เครื่องสูบน้ำ (มอร์เตอร์) 1.5-2 แรงม้า
3. ระหว่างแถวของต้นไผ่ โดยจะมีการกำหนดความห่าง 2 ระยะ คือ 4*4 เมตรและ 6*6 เมตร ขึ้นอยู่กับกำลังแรงส่งของเครื่องสูบหรือแรงดันน้ำนั้นเอง
ข้อสังเกต หากพื้นที่ 1 ไร่ ให้เครื่องสูบน้ำที่มีกำลัง 1.5 แรงม้า จะทำให้เราประหยัดท่อพีวีซีเนื่องจากสามารถลดความถี่ในการวางท่อเพราะแรงดันน้ำแรง น้ำจะกระจายวงกว้างทั่วถึงเกือบทั้งแปลง
4. เทคนิคการเก็บหน่อเพื่อจำหน่าย
อุปกรณ์/ขั้นตอนการตัดหน่อ
1. มีดปลายแหลมบางด้านกว้าง 2 นิ้ว ยาว 1 ฟุต คุณสมบัติ คมมากๆ
2. ลักษณะในการตัด ให้ตัดตรงขนานพื้นบริเวณคอดินพอดี
3. ขนาดความยาวของหน่อที่ตัดจำหน่ายได้ ต้องมีขนาดความสูง 40-45 เซนติเมตร และเมื่อความสูงได้มาตรฐานดังกล่าวแล้วหน่อไม้ที่ตัดขายจะได้น้ำหนักดี เป็นช่วงหน่ออ่อนพอดีเป็นที่ต้องการของตลาด
4. นำมาล้างน้ำใส่ถุง ๆ ละ 10 กิโลกรัม คัดเลือกหน่อใหญ่หน่อเล็กใส่ถุงแยกกันก็จะได้ราคาดี
ลักษณะของการตัดตรงนี้ ส่งผลดีต่อการแตกหน่อใหม่อีก 4-5 หน่อเลยทีเดียว
5. เทคนิคการกำหนดระยะปลูกใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตและเทคนิคการวางระบบน้ำให้ทั่วถึง
การปลูกหน่อไผ่หวาน แบบปกติ คือ ความห่างระหว่างต้นระหว่างแถว 3*3 เมตร แต่หากจะริเริ่มปลูกแบบให้เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นไผ่ คือ กำหนดความห่างระหว่างต้นระหว่างแถว ที่ 1*1 เมตร
การให้น้ำแบบต่างๆ ตามสภาพพื้นดินเพื่อให้เหมาะสมกับการทำระบบน้ำ
1. พื้นที่ดินทรายวางระบบน้ำสปริงเกอร์หรือวิธีการลากสายยางรดน้ำรอบโคนต้น ให้ดูว่าถ้าหน้าดินแห้งให้รดน้ำทันที 2. พื้นที่ดินเหนียวยกร่องขนาด 6 เมตร ปลูกระยะ 3*3 เมตร หรือ 2*2 เมตร ก็ได้ เปิดร่องน้ำลึก 30 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร โดยประมาณระหว่างร่องแถวคู่ ระบบนี้ใช้แบบร่องสวนโดยเรียกว่า ร่องบกการให้น้ำสูบน้ำเข้าให้เต็มร่องอาทิตย์ละ 2 ครั้ง (ใช้กับพื้นที่น้ำไม่ท่วมเท่านั้น)
3. พื้นที่ร่องสวนให้เรือรดน้ำวันละ 1 ครั้ง
4. ดินร่วนทำระบบร่องบกหรือสปิงเกอร์ก็ได้ ให้ดูว่าหน้าดินแห้งให้รดน้ำทันที
6. การชำกล้าไผ่ให้รอด
การชำกล้าไผ่
ต้นไผ่ที่จะสามารถนำไปชำเป็นกล้าได้เพื่อขยายพันธุ์และสร้างรายได้ในการขายต้นพันธุ์นั้น จะต้องมีอายุ 6-8 เดือน เป็นอย่างต่ำ
1. กิ่งต้นไผ่ที่มีตาราก อายุ 6-8 เดือน
2. ตัดตรงใต้ข้อ ใต้ตารากลงมาประมาณ 2 เซนติเมตร
3. ตัดท่อนด้านบน ให้มีความยาว ประมาณ 1.5 ฟุต
4. นำมาชำใส่ถุงดำ ประมาณ 45 วัน(ระยะอันตรายเสี่ยงต่อการรอด) หลังจากนั้นจึงสามารถนำมาจำหน่ายได้
5. ให้น้ำกล้าพันธุ์ วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น)
สังเกต รากที่เจริญเติบโตออกมา (การเดินของราง) จะเป็นตัวชี้วัดความแข็งแรงของกล้าพันธุ์ต้นนั้นๆ หากรากมีจำนวนมากแข็งแรงก็จะมีอัตราการรอดสูงและจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี
-เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี2551
-รางวัลครูดีเด่นด้านการทำบัญชีครัวเรือนระดับจังหวัด
-รางวัลชนะเลิศศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนดีเด่น
-เกษตรกรดีเด่น
-เกษตรกรตัวอย่าง ประเภทก้าวหน้าของจังหวัดชลบุรี

49 ม.5 บ.คลองปริง ต.เกษตรสุวรรณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี 20270