
นายบำรุง คะโยธา อยู่บ้านเลขที่ 103 ม.4 บ.กุดตาใกล้ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ การทำการเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นลักษณะการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ไม่ใช้ ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ทางการเกษตร เพื่อคุณภาพอาหารที่ปลอดภัยทั้งกับผู้ผลิต และผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริฯ เหตุผลที่ต้องพึ่งตนเอง เน้นการทำเกษตรแบบพึ่งตนเอง พึ่งพาตัวเองได้ ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก ด้วยการทำธนาคารข้าว เลี้ยงปลา เริ่มจากจุดเล็กๆไปจนถึงระดับชาติ นอกจากนั้นยังอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง และอนุรักษ์พันธุ์พืช เพื่อจะได้มีกินมีใช้ตลอดชั่วอายุ
...
1.จุลินทรีย์ท้องถิ่น IMO
IMO หรือ จุลินทรีย์ท้องถิ่น (Indigenous Micro organism) เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยในการย่อยสลายอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินทั้งบนผิวดินและใต้พื้นดิน IMO จัดเป็นจุลินทรีย์ที่อยู่ในประเภทจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยในการกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์หรือจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษ (จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเหม็นต่างๆ) ช่วยให้พืชสามารถนำธาตุอาหารต่างๆไปใช้ได้สะดวก ทำให้พืชแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
วัสดุในการทำ IMO
1. ข้าวจ้าว 2 ลิตร
2. กากน้ำตาล
3.ขันพลาสติกใส / กระดาษขาวหรือผ้าขาวบาง / เชือกรัด
วิธีการทำ IMO
1. เริ่มจากหุงข้าวจ้าวขาว 2 ลิตร โดยใช้น้ำน้อยๆ พอท่วมข้าวเพื่อทำให้ข้าวสวยมีลักษณะค่อนข้างแข็งเล็กน้อย พอหุงข้าวเสร็จแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
2. นำข้าวสวยมาใส่วัสดุที่มีความสูงไม่เกิน 5 นิ้ว เช่น ขันพลาสติกใส หรือกล่องข้าวพลาสติก โดยใส่ข้าวสวยลงไปในกล่องพลาสติกให้มีความสูงประมาณ 1-2 นิ้ว นำกระดาษสีขาวที่ปราศจากสารเคมี (ปราศจากหมึกพิมพ์) หรือผ้าขาวบาง ที่มีขนาดใหญ่กว่าขันพลาสติก มาปิดทับแล้วใช้เชือกมัดพอหลวมๆ
3. นำขันพลาสติกไปฝังใต้พื้นดิน ตรงบริเวณใต้ต้นไม้ หรือถ้าเป็นกอไผ่ได้ยิ่งดี เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการแพร่กระจายของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ (เชื้อรา) ได้ดีและมีจำนวนมาก และควรทำในช่วงตอนเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี อุณหภูมิไม่สูง ทำให้เชื้อสามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้นโดยขุดหลุมให้มีขนาดพอดีกับขันพลาสติก ส่วนความลึกนั้นให้ขันพลาสติกอยู่ลึกลงไปในพื้นดิน โดยให้ปากขันพลาสติกอยู่ห่างจากผิวหน้าดินประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นให้นำเศษใบไม้หรือกิ่งไม้มาวางปิดทับไว้ให้มิดชิดเพื่อป้องกันสัตว์ต่างๆ มาคุ้ยเขี่ย ในกรณีถ้าทำ IMO ในช่วงฤดูฝน ให้นำผ้าหรือถุงพลาสติกปกคลุมขันพลาสติกให้เพื่อป้องกันการเปียกชื้น โดยฝังไว้ประมาณ 3-5 วัน เมื่อเปิดดูจะพบเชื้อราสีต่างๆ เช่น สีขาว ,สีดำ,สีเหลือง-เขียว เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะพบเชื้อราทั้งชนิดและสีที่แตกต่างกันไป
4. ให้เขี่ยเชื้อราที่ไม่พึงประสงค์ทิ้งไป นั่นคือ สีดำ,สีเหลือง-เขียว ซึ่งจัดว่าเป็นเชื้อราที่ไม่มีประโยชน์ ส่วนเชื้อราสีขาวนั้นถือเป็นเชื้อราที่มีประโยชน์ ให้ขยำรวมกับข้าว แล้วเติมกากน้ำตาลในอัตราส่วน 1/1 ปิดฝาพอหลวมๆ จากนั้นหมักไว้ประมาณ 5-7 วัน จะพบว่าจุลินทรีย์เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นอันว่าสามารถนำไปใช้ได้
2.เทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน
ปุ๋ยหมักชีวภาพ (ปุ๋ยหมักชีวภาพในท้องถิ่น ที่นอกเหนือจากการใช้ขยะเปียก) มีขั้นตอนในการเตรียม ดังนี้
1.เลือกวัสดุที่จะใช้ทำปุ๋ยหมัก ควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในแปลงหรือพื้นที่ ย่อยสลายง่าย เป็น วัสดุเหลือใช้ในการเกษตรหรือครัวเรือน วัสดุเหลือใช้จากโรงงานที่ใกล้เคียง เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา หญ้า ส่วนต่างๆของมันสำปะหลัง ต้นและซังข้าวโพด เถาและเปลือกถั่วลิสง เมื่อเป็นปุ๋ยหมักจะให้ธาตุอาหารหลักแก่พืชในปริมาณที่สูง หรืออาจจะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น ขี้เลื่อย แกลบ กากอ้อย ขุยมะพร้าว ซึ่งเมื่อเป็นปุ๋ยหมักจะให้ธาตุอาหารหลักต่ำกว่า แต่ให้สารปรับปรุงดินมากกว่าปุ๋ยหมักจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อดินและพืชในระยะยาว โดยในการทำปุ๋ยหมักอาจใช้วัสดุหลายชนิดทำการหมักร่วมกัน โดยใช้วัสดุย่อยสลายยากและง่ายร่วมกัน โดยวิธีการนี้จะทำให้ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายสั้นลงกว่าการใช้แต่เพียงวัสดุย่อยสลายยาก และยังทำให้ปุ๋ยมีทั้งธาตุอาหารและสารปรับปรุงดิน
2. นำเศษวัสดุมากองรวมกันบนพื้นที่ราบ หรือในหลุม ให้ขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร สูงประมาณ 1-1.5 เมตร ผสมเศษวัสดุคลุกเคล้าให้ทั่วถึง รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาล ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:1:10) ให้ชุ่มพอสมควร บีบเศษวัสดุไม่มีออกตามนิ้วมือ เมื่อคลายมือออกวัสดุยังจับตัวเป็นก้อน
3. คลุมกองปุ๋ยด้วยพลาสติก ทางมะพร้าว ฟาง หรือเศษพืช เพื่อลดการระเหยของน้ำ
4. ดูแลกองปุ๋ยหมักให้มีความชื้นที่พอเหมาะอยู่เสมอ ถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไป(บีบดูแล้วไม่มีน้ำติดมือ) ต้องรดน้ำเพิ่ม เพราะถ้าความชื้นน้อยเกินไปจะทำให้กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เกิดขึ้นได้ช้า รวมทั้งถ้าแฉะเกินไป ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน กระบวนการย่อยสลายก็เกิดขึ้นได้ช้าเช่นกัน
5.ระบายอากาศแก่กองปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยสอดท่อเจาะรูในกองปุ๋ยตั้งแต่เริ่มแรก หรือกลับกองปุ๋ยทุก 5-7 วัน เนื่องจากจุลินทรีย์ต้องใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน และโดยเฉพาะถ้าใช้วัสดุที่มีขนาดใหญ่ทำการกองเป็นชั้นๆ การกลับกองจะช่วยคลุกเคล้าเศษวัสดุให้เข้ากัน
6.เมื่อกระบวนการหมักเสร็จสมบูรณ์แล้ว(ประมาณ 3 เดือน) ก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยสังเกตจาก สีของเศษวัสดุจะเป็นสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ อ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือฉุน อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยใกล้เคียงกับภายนอก
3.ปุ๋ยหมักเร่งด่วนโบกาชิอย่างง่าย
1. ส่วนผสม ประกอบไปด้วย
- มูลสัตว์แห้ง 1 ส่วน + แกลบดิบ 1 ส่วน + รำละเอียด 1 ส่วน หรือ มูลสัตว์แห้ง 5 ส่วน + แกลบดิบ 5 ส่วน + แกลบเผา 3 ส่วนรำละเอียด 2 ส่วน
2. การเตรียม คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันดี รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ (น้ำหมัก 1 แก้ว+กากน้ำตาล 1 แก้ว+น้ำ 10 ลิตร) ให้พอหมาด กองเอาไว้ในที่ร่มให้หนา 1 ฟุต คลุมกองด้วยกระสอบป่านหรือเศษพืช คอยกลับกองไม่ให้ร้อนจัด ประมาณ 7-10 วัน จะมีกลิ่นหอมคล้ายเห็ด มีราสีขาว และกองปุ๋ยเย็นลง ผึ่งให้แห้ง เก็บใส่กระสอบไว้ใช้ได้
3. การใช้ เช่นเดียวกับปุ๋ยหมัก แต่ลดปริมาณเพียง 1 ใน 5 เช่น หว่านใส่นาข้าว ถ้าปุ๋ยหมักต้องใช้ 1 ตัน/ไร่ ถ้าใส่โบกาชิ ใช้เพียง 200 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ช่วงไถ 100 กก. หลังปักดำ 7 วัน 30 กก. ข้าวอายุ 1 เดือน 30 กก. และก่อนข้าวตั้งท้องอีก 40 กก.
4.สูตรการทำน้ำยาเอนกประสงค์ (สูตรน้ำมะเฟือง)
วัสดุที่ใช้
1.N 70 1 กิโลกรัม
2.น้ำหมักมะเฟืองเปรี้ยว 5 กิโลกรัม
3.เกลือ 1 กิโลกรัม
4.น้ำสะอาด 10 ลิตร
วิธีทำ
1.เอา N 70 ผสมกับเกลือไอโอดีน จำนวนครึ่งกิโลกรัม กวนให้เข้ากันโดยคนไปในทางเดียวกันจนเป็นครีมละเอียด (กวนนานครีมยิ่งฟูเพิ่มมากขึ้นและกวนไปในทางเดียวกัน)
2.เติมน้ำมะเฟืองเปรี้ยวทีละนิด จนครบ 10 ลิตร (กวนไปเรื่อยๆ)
3.เทเกลือ ไอโอดีนที่เหลือ ครึ่งกิโลกรัม ลงไป แล้วกวนต่อไปอีกเล็กน้อย
4.พักฟองให้ยุบแล้วบรรจุภาชนะไว้ใช้ต่อไป
ขั้นตอนการทำน้ำหมักมะเฟืองเปรี้ยว
เตรียมวัสดุ
มะเฟือง 3 กิโลกรัม
น้ำอ้อยผง/น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
น้ำธรรมดา 10 ลิตร
วีธีทำ
1.นำมะเฟืองเปรี้ยวมาหั่นเป็นชิ้นๆ 3 กิโลกรัม
2.แล้วนำมาผสม คลุกเคล้ากับน้ำอ้อยผงหรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
3.เติมน้ำธรรมดา 10 ลิตร ปิดภาชนะ หมักไว้ 7 วันขึ้นไปจึงนำมาใช้ได้
5.สูตรการเพาะเห็ดนางฟ้า (ที่ให้ผลผลิตสูง)
สูตรการเพาะเห็ดนางฟ้า (ที่ให้ผลผลิตสูง)
- ฟาง 100 กิโลกรัม
- ปูนขาว 1 กิโลกรัม
- น้ำหมักชีวภาพ 40 ซีซี.
- แอมโมเนียมซัลเฟต 2 กิโลกรัม
ขั้นตอนและวิธีการทำ
1. ชั่งฟาง 100 กิโลกรัม แล้วนำมาวางกับพื้นซึ่งจะเป็นพื้นซีเมนต์หรือพื้นดินก็ได้ จากนั้นเกลี่ยฟางให้กระจายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาด ความกว้าง 2 เมตร และยาว 3 เมตร
2. รดน้ำให้ชุ่มจนทั่วกองฟาง เพื่อทำให้ฟางมีความชื้นพอหมาดๆ และทำให้เกิดความนิ่ม ทั้งนี้เพื่อให้จุลินทรีย์สามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
3. นำปูนขาว 1 กิโลกรัม หรือ 0.5 กิโลกรัม (แล้วแต่จะใช้สูตรที่ 1 หรือ สูตรที่ 2) และแอมโมเนียมซัลเฟต 2 กิโลกรัม มาหว่านให้ให้ทั่วกองฟาง
4. นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเปล่า ในอัตราส่วน น้ำหมักชีวภาพ 40 ซีซี. (ประมาณ 4 ช้อนแกง) ต่อน้ำเปล่า 40 ลิตร รดให้ทั่วกองฟาง ทิ้งไว้สักครู่ประมาณ 10 นาที เพื่อรอให้แอมโมเนียมซัลเฟตซึมเข้ากับฟางได้ดี
5. นำฟางที่ได้เตรียมไว้มาอัดใส่พิมพ์ให้แน่น แล้วยกออกจากพิมพ์ และนำผ้ายางมาคลุมเพื่อปรับสภาพและรักษาความชื้น เพื่อทำให้จุลินทรีย์สามารถทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น
6. การพลิกกองจะต้องทำทุกๆ 3-4 วัน โดยการพลิกด้านบนลงสู่ด้านล่างและจากล่างขึ้นบน เพื่อให้ทำให้เกิดการหมักที่สมบูรณ์และทั่วถึงกัน ประมาณ 12-15 วัน ถือว่าใช้ได้
7. นำฟางหมักที่ได้มายัดถุง (ต้องเป็นถุงยัดเห็ดโดยเฉพาะ เนื่องจากสามารถทนความร้อนได้ดี) จะต้องยัดฟางหมักให้แน่น เพื่อทำให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณมากขึ้น ถ้าหากฟางมีความหลวมผลผลิตที่ได้จะน้อยลง
8. นำถุงเห็ดที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อ โดยใช้หม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง (ใช้ถังแดงขนาด 200 ลิตร) ใช้เวลาในการนึ่งนานประมาณ 2-2½ ชั่วโมง โดยเริ่มนับเวลาตั่งแต่น้ำเดือดและมีไอน้ำขึ้น เมื่อนึ่งเสร็จแล้ว นำถุงเห็ดออกมาพักในห้องต่อเชื้อให้เย็น ประมาณ4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 1 วัน เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ตัวอื่นจะเข้ามาปนเปื้อนและทำงานก่อนเชื้อเห็ด
9. พอถุงเห็ดเย็นแล้ว นำเชื้อเห็ดมาเขี่ยใส่ถุง โดยจะต้องขั้นตอนการฆ่าเชื้อ ดังนี้
- จะต้องมีการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์
- ใช่เข็มเขี่ยเชื้อเผาไฟเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจเกิดการปนเปื้อนได้ เขี่ยเชื้อใส่ถุงเห็ด 20-30 เม็ดต่อถุง
แล้วนำกระดาษมาปิดแล้วรัดด้วยยางให้แน่น แล้วนำไปพักเชื้อในโรงเรือน นานประมาณ 1 เดือน ซึ่งประมาณ 3 วันจะสังเกตเห็นว่าเชื้อมีการเจริญเป็นเส้นใยสีขาว ซึ่งพอครบ 1 เดือนเชื้อจะเจริญจนเต็มถุง ซึ่งเชื้อจะมีสีที่เข้มขึ้นกว่าเดิม จนกลายเป็นสีน้ำตาล ถือว่าเชื้อแก่เต็มที่แล้ว
10. จากนั้นนำถุงเห็ดที่ได้ไปเรียง หรือวางเป็นชั้นๆ ตามชั้นวางที่ได้เตรียมไว้ในโรงเรือน แล้วเปิดกระดาษและสำลีออก แล้วรดน้ำให้ทั่วแต่รดพอชุ่ม ไม่ควรรดน้ำจนแฉะ เพราะจะทำให้ถุงเชื้อเน่า เก็บผลผลิตได้น้อยลง และถุงเห็ดอายุสั้นลง ควรรดน้ำในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง อย่างน้อยวันละ 3 เวลา คือ ช่วงเช้า ช่วงเที่ยง และช่วงเย็น ใช้เวลาในการรดน้ำ 3 วัน จะเริ่มเห็นดอกเห็ดโผล่ออกมาจากปากถุงเห็ด จากนั้น ประมาณ 1-2 วันก็สามารถเก็บดอกเห็ดจำหน่ายได้
หมายเหตุ เราสามารถเก็บผลผลิตไปได้เรื่อยๆ นานประมาณ 2 เดือนขึ้นไป
ข้อควรระวัง
1. การรดน้ำไม่ควรรดมากจนเกินไปเพราะจะทำให้ถุงเชื้อเห็ดมีอายุสั้นลง
2. ความชื้น ภายในโรงเรือนจะต้องมีความชื้นประมาณ 75-80 % เป็นอย่างน้อย
3. ควรมีแสงสว่าง และมีอากาศถ่ายเทบ้างเล็กน้อย
-ปี พ.ศ. 2522-22526 ได้รวมกลุ่มเกษตรรายย่อยจัดตั้งธนาคารข้าวและเคลื่อนไหวให้มีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกร แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ
-ปี พ.ศ. 2524-2526 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยสนามของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมแห่งสหประชาชาติ
-ปี พ.ศ.2526 เริ่มงานเครือข่ายระดับสากล ได้เดินทางไปร่วมประชุมเครือข่าย ชาวนา เอเชียที่ประเทศปากีสถาน
-ปี พ.ศ.2527 เดินทางเข้าร่วมประชุมเรื่องทิศทางพัฒนาที่ทวีปยุโรป
-ปี พ.ศ. 2529-2531 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มเพื่อนร่วมงานหรือป๊อป(POP)
-ปี พ.ศ. 2531-2532 เดินทางไปเรียนที่สถาบันชนบทเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้ารับการอบรมด้านการเกษตรกรรมธรรมชาติ ให้กับชาวนา
-ปี พ.ศ. 2535 ได้มีการประกาศก่อตั้งสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน
-ปี พ.ศ. 2536- 2538 ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน
-ปี พ.ศ. 2536 ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้นำชุมชนดีเด่นจากมูลนิธิอโซกา(ตั้งตามพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช) ประเทศสหรัฐอเมริกา
-ปี พ.ศ.2540 เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ จังหวัดกันดาร ประเทศกัมพูชา
-รับรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2551
-รับรางวัลผู้นำเกษตรกรก้าวหน้า ระดับประเทศ
-รับรางวัลส่งเสริมสิทธิมนุษยชนดีเด่น

103 ม.4 บ.กุดตาใกล้ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ 46000