
นฤทธิ์ คำธิศรี ชาวอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2506 พ่อแม่มีอาชีพทำนา และเขาก็มีความใฝ่ฝันว่าจะเจริญรอยตามอาชีพของพ่อแม่ แต่เพราะความเหนื่อยยากลำบากที่พ่อแม่ประสบพบเจอ พ่อแม่จึงขายนาส่งเสียให้เขาได้รับการศึกษาสูงๆ และคัดค้านความคิดที่จะมาเป็นเกษตรกรของเขา เขาจึงคว้าปริญญาตรีจากคณะประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาให้พ่อแม่ได้ภูมิใจ พร้อมกับทำงานเป็นนักวิจัยในระบบราชการ แต่ทำได้เพียง 6 เดือนก็ต้องลาออก เพราะไม่ชินกับระบบราชการ เลยหันไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฟาร์มกุ้ง ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อีก 6 เดือนต่อมาก็ได้เป็นที่ผู้จัดการฟาร์มกุ้ง ที่ได้รับเงินเดือนบวกเบี้ยเลี้ยงราวๆ แสนกว่าบาท
ทุกครั้งที่มีโอกาสเขาจะกลับมาเยี่ยมบ้านปีละไม่กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งที่กลับมาเขาจะทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ไว้ในดินลูกรังที่หลายๆ คนมองข้ามทิ้งไว้เสมอ และจะกลับมาดูผลว่ามันตายหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าพืชพันธุ์ไม่ตาย แถมยังเจริญเติบโตงอกงามดี เขาจึงตัดสินใจทิ้งเงินเดือนนับแสนที่ได้รับ และหอบเอาเงินออมที่สะสมไว้สำหรับอาชีพที่ใฝ่ฝัน เดินทางกลับมาสร้างความฝันให้เป็นจริงที่แผ่นดินเกิด ท่ามกลางความสงสัยปนประหลาดใจของผู้คนที่รู้จักโดยเฉพาะพ่อ อีกทั้งยังมีคำสบประมาทอีกมากมาย เช่น บ้าหรือเปล่า คิดอะไรอยู่ มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอกที่จะปลูกอะไรขึ้นในดินลูกรังเพราะต้นไม้ไม่โต ฯลฯ
แต่เขาก็ไม่ย่อท้อต่อคำพูดเหล่านั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าแผ่นดินเกิดเป็นดินลูกรังยากแก่การเพาะปลูก แต่เขาก็พยายามศึกษาข้อมูล ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนมั่นใจและค้นพบกับวิธีที่จะปลูกต้นไม้ในดินลูกรังสำเร็จไม่เหมือนใคร ซึ่งเขาเรียกวิธีการที่ว่าว่า "ปลูกแบบเอ๊าะเจาะแอ๊ะแจ๊ะแต่ได้ผล" (ภาษาอีสาน) หรือแปลเป็นภาษากลางว่า "ปลูกแบบขี้เกียจๆ แต่ได้เงิน"
เคล็ดลับการปลูกผักหวานป่า
แต่ก่อน เคยขุดตามดูรากว่าจะเดินทางอย่างไร มีลักษณะเช่นใด พบว่าผักหวานมีรากหลัก ๆ อยู่เพียงรากเดียว ซึ่งสามารถหยั่งลึกลงไปใต้ดินได้ถึง 2 เมตร แล้วก็หักงอเป็นมุมฉากขนานไปกับพื้นดิน และที่ปลายรากมีปมเล็ก ๆ อยู่ ซึ่งตรงนี้มีความเปราะบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนที่ปลายราก ผักหวานจะชงักการเจริญเติบโต จะให้ยอดอีกหนึ่ง หรือ สองปี แล้วก็จะเหี่ยวและตายในที่สุด
นี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้การเพาะผักหวานด้วยเมล็ดไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากผักหวานที่เพาะเมล็ดแล้วนำไปใส่ในถุงชำ เมื่อนำไปปลูกจะทำให้ปลายรากกระทบกระเทือน หรือขาดนั่นเอง
คุณนริศ บอกว่า การปลูกผักหวานจะต้องใช้เมล็ดที่เก็บมาใหม่ ๆ ไม่เกิน 2 วัน (เดือนเมษายน- มิถุนายน จะเริ่มมีผลสุกของผักหวาน) แล้วนำไปฝังดินแค่ครึ่งเมล็ดโดยวางแนวนอน เอาฟางหรือหญ้าแห้งมาปิด แล้วก็เดินจากไปโดยไม่รดน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว และห้ามเหลียวหลัง ไม่ต้องไปกังวลใดๆ ทั้งสิ้นผ่านไป 1 ปี ปราศจากการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ถางหญ้า กลับมาดูใหม่ จะเห็นผักหวานเด็ก โผล่หน้าขึ้นมามองโลกและจ้องหน้าคุณ ซึ่งคุณนริศบอกว่า ผักหวานที่แกปลูก มีอัตราการงอก 100% และรอด 100% จากนั้นจึงเอาปุ๋ยขี้วัวมาใส่ แต่พี่นริศ นี่ก็แปลก แกเอาขี้วัวสดๆ ใส่ไปที่โคนต้นผักหวานเลยล่ะเหมือนว่าผักหวานเป็นยักษ์ไม่กลัวน้ำร้อน ทั้งไว้ลืม ๆ ไม่นาน คุณจะมีผักหวานเต็มสวน แต่คงใช้เวลาอันยาวนานกว่าการตอน หรือการทุบราก แต่เชื่อว่า หากปลูกด้วยวิธีนี้ เมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไป ทำยังไงก็ไม่ตาย ต่อให้ไฟเผาทั้งป่าก็งอกใหม่ได้
- เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสมในปี 2548 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร
- คนดีศรีเมืองสกลประจำปี 2547 จากจังหวัดสกลนคร
- คนดีเมืองสกล เชิงประจักษ์ ประจำปี 2548 จากชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล

85 ม.9 ต.โพธิ์ไพศาล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร 47000