เกษตรกรต้นแบบ
"แสน วงศ์กระโซ่...ผู้ทำการเกษตรแบบผสมผสานและตอนกิ่งผักหวานป่าขาย"
คุณแสน วงศ์กระโซ่  จ. มุกดาหาร ปี 2551

นายแสน วงศ์กระโซ่ เกษตรกรผู้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ผู้พลิกฟื้นสวนมะขามให้เป็นสวนป่า มีการปลูกพืชแบบผสมผสานกับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่โดยยึดหลักธรรมชาติ อาศัยระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลกัน มีการปลูกไม้ใช้สอย ไม้ผล และไม้ท้องถิ่น ปลูกพืชสมุนไพรและผักเพื่อเก็บไว้ขายและบางส่วนเก็บไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน และมีการตอนกิ่งผักหวานป่าเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันปลูกผักหวานป่าไว้มากกว่า 300 ต้น มีสวนป่าแบบผสมผสาน 3 แห่ง อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน และได้บำเพ็ญประโยชน์ในหลายๆด้านจนได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดมุกดาหาร

หลักคิดและการใช้ชีวิต

...

ความสามารถอันโดดเด่น

1. การขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- ดิน 2 ส่วน
- แกลบดิบ 1 ส่วน
- เมล็ดผักหวานป่า
- ถุงดำสำหรับเพาะเมล็ด
ขั้นตอนและวิธีการทำ :
- เก็บเมล็ดผักหวานป่ามาแล้วร่อนเอาเปลือกออก ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งลมในที่ร่มจนแห้งสนิท
- ผสมดินตามส่วน แล้วกรอกลงถุงดำที่เตรียมไว้ให้เต็มถุง
- นำเมล็ดพันธุ์ผักหวานที่เตรียมไว้ลงปลูกในถุง โดยวางเมล็ดพันธุ์ในแนวนอน กดจมดินเพียงครึ่งเมล็ดเท่านั้น แล้วรดน้ำตามให้ชุ่มทันที ซึ่งการวางเมล็ดปลูกในแนวนอนนี้ จะช่วยให้รากออกมาทั้งสองข้าง และสามารถเลื้อยลงไปในถุงได้ง่าย
- นำถุงเพาะไปวางไว้ในเรือนเพาะชำ(ถ้ามี) ถ้าไม่มีก็ให้วางไว้ในที่โล่ง โดยสร้างร่มเงาให้ด้วยเพื่อเป็นการพรางแสง และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ใช้เวลาเพาะประมาณ 15 วัน ก็สามารถย้ายปลูกลงหลุมได้
2. การขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยวิธีการตอนกิ่ง
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- ขุยมะพร้าวแช่น้ำ
- ถุงพลาสติกใส
- มีด
- เชือก
ขั้นตอนและวิธีการทำ :
- เลือกกิ่งตอนผักหวานที่ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป สังเกตจากสีของกิ่งตอนต้องไม่เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล ถือว่าเหมาะสม
- เมื่อเลือกกิ่งที่จะตอนได้แล้ว ใช้มีดกรีดถากเปลือกออกให้กว้างประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วขูดเนื้อเยื่อออกให้หมด
- บรรจุขุยมะพร้าวที่แช่น้ำไว้แล้วลงในถุงพลาสติก รัดปากให้แน่น
- ใช้มีดกรีดถุงที่ใส่ขุยมะพร้าวบริเวณกลางถุง แล้วตักดินที่อยู่ใต้ต้นผักหวานป่าที่เราจะตอนใส่ลงไปเล็กน้อย จะช่วยให้กิ่งตอนออกรากได้ดีขึ้น
- นำขุยมะพร้าวที่กรีดถุงแล้วไปหุ้มกับกิ่งตอนที่กรีดเปลือกออกแล้ว โดยให้บริเวณที่มีดินอยู่ด้านขอบบนของกิ่งตอน เพราะเป็นบริเวณที่รากผักหวานจะออก แล้วมัดให้แน่นด้วยเชือก
- รอจนกิ่งตอนเริ่มแทงรากออกมาอยู่ในถุง จึงจะสามารถตัดกิ่งตอนมาเพาะเลี้ยงในถังพลาสติกต่อไป
3. การอนุบาลกิ่งตอนผักหวานป่าให้มีอัตราการรอดตายสูง
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- ดินเหนียว 2 ส่วน
- แกลบดิบ+แกลบดำ 1 ส่วน
- ถังพลาสติก 2 ใบ
- กิ่งตอนผักหวานป่าที่ออกรากแล้วแล้ว
ขั้นตอน/วิธีการเพาะ :
1.ผสมดินให้เข้ากันเตรียมไว้เพื่อใช้ปลูกต้นผักหวานป่า
2.นำถังน้ำพลาสติกมาวางซ้อนกัน โดยตัดก้นถังด้านในให้ทะลุแล้วใช้มีดผ่าครึ่งถังทางยาว ร้อยเชือกผูกไว้ให้แน่น
3. เจาะรูด้านข้างถังใบที่อยู่ด้านนอกให้รอบประมาณ 4-5 รู เพื่อให้รากผักหวานโผล่ออกมา และป้องกันไม่ให้รากผักหวานลงดิน
4.นำดินที่ผสมไว้แล้วใส่รองพื้นก้นถังไว้บางส่วน แล้วนำกิ่งตอนผักหวานป่ามาวางลงกลางถัง เติมดินที่เหลือใส่ลงในถัง จนเสมอกับขอบถุงหุ้มกิ่งตอน กลบดินบริเวณรอบๆถังให้แน่นจนเต็มถัง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
5.นำถังที่ปลูกผักหวานป่าแล้วไปตั้งไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่เพื่อให้มีร่มเงา แล้วดูแลให้น้ำความเหมาะสม
6.ใส่ปุ๋ยคอกทีละนิด ตามระยะการเจริญเติบโตของต้น ใช้ระยะเวลาเลี้ยงกิ่งตอน ประมาณ 1 เดือน จึงย้ายปลูกลงดินได้
4. การปลูกผักหวานป่าจากกิ่งตอนให้มีอัตราการรอดตายสูง
- ภายหลังจากการอนุบาลกิ่งตอนผักหวานป่าครบ 1 เดือน สามารถย้ายปลูกลงดินได้ ควรปลูกต้นฤดูฝนเนื่องจากดินจะมีความชื้นที่เหมาะสม
- ขุดดินหลุมปลูกให้ได้ขนาดพอดีกับถังพลาสติกที่ใช้อนุบาลกิ่งตอน
- ยกเอาถังพลาสติกใบด้านในวางไว้ในหลุม แล้วใช้มีดหรือกรรไกร ตัดเชือกที่มัดถังออกให้หมด แล้วค่อยๆโยกถังออกจากดินปลูก ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้รากผักหวานป่าได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
- กลบดินให้มิดโคนต้นผักหวานป่า
- นำไม้ไผ่มาเสียบข้างลำต้นแล้วใช้เชือกมัดให้แน่น เพื่อป้องกันการโค่นล้มของต้นผักหวานในกรณีลมแรง
- จัดหากิ่งไม้อื่นๆมาปักข้างๆเพื่อให้ร่มเงาให้กับต้นผักหวาน รดน้ำต้นผักหวานป่าให้ชุ่ม และดูแลรักษาต่อไป
5. เทคนิคการบังคับต้นผักหวานให้ออกเป็นพุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บผลผลิต
ขั้นตอน/วิธีการทำ : ธรรมชาติของต้นผักหวานป่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีความสูงไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ทำให้ยากแก่การเก็บผลผลิต เกษตรกรสามารถบังคับต้นผักหวานให้เจริญเติบโตทางทรงพุ่ม ไม่ให้มีความสูงเกินไป เพื่อง่ายต่อการเก็บผลผลิต โดยใช้มีดบากกิ่งของต้นผักหวานป่าออกจากกันให้พอง้างออกได้ แต่อย่าให้ลำต้นขาดออกจากกัน จากนั้นก็หากิ่งไม้มาค้ำยันแล้วมัดเชือกไว้ให้แน่นเพื่อไม่ให้กิ่งหัก เพียงเท่านี้กิ่งผักหวานป่าก็จะไม่แทงยอดขึ้นด้านบน แต่จะเจริญเติบโตออกด้านข้างแทน ทำให้ง่ายในการเก็บผลผลิตมได้ง่ายขึ้น

เกียรติประวัติและผลงาน

-เป็นวิทยากรด้านเกษตรอินทรีย์
-จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาไร่นาสวนผสม ปี 2537
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นด้านเกษตรผสมผสาน ปี 2548
-รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551 จ.มุกดาหาร

แสน วงศ์กระโซ่
ข้อมูลการติดต่อ

142 ม.4 ต.ดงหลวง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร 49140

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด