
คุณไพทูรย์ ฝางคำ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรอินทรีย์ เจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ทำการเกษตรผสมผสานโดยได้น้อมนำเอาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในไร่นาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการพึ่งตนเอง บริหารจัดการที่ดินที่มีอยู่ อาศัยทรัพยากรในไร่นาที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยแรงงานในครอบครัวเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนในการผลิตตลอดจนผสมผสาน จากปัญหาและอุปสรรค สามารถผ่านพ้นไปด้วยดี ด้วยประการณ์ที่มากกว่า 11 ปี เต็มที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยยึดคติที่ว่า ปัญหาของเรา ถ้าเราไม่แก้ แล้วจะรอให้ใครมาแก้ เน้นทำการเกษตรไม่เผาตอซัง ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยพืชสด ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยน้ำ(น้ำหมักชีวภาพ)-น้ำแม่ จากพืชสดสีเขียว - น้ำพ่อ จากผลไม้สุก - สารขับไล่แมลง จากพืช สมุนไพร และปุ๋ยแห้ง
...
1. เทคนิคการทำนาปลอดสาร เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพดี มีผลผลิตสูง
การทำนาปลอดสารพิษเพื่อลดต้นทุน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นจากการปรับปรุงบำรุงดินตามแนวทางเกษตรอินทรีย์
ช่วงเวลาในการปฏิบัติ
-เดือน ธ.ค.- ม.ค. หลังเก็บเกี่ยวข้าวทำการไถกลบตอซัง แและหว่านถั่ว (โดยส่วนหนึ่งให้ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ทำเมล็ดพันธ์)
หรือบางส่วนแบ่งปลูกพืชฤดูแล้ง (ข้าวโพด,พริก,ฟักทอง,แพง ฯลฯ)
-เดือน ก.พ.- เม.ย. ทำปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเตรียมไว้ให้ได้มากที่สุด
-เดือน เม.ย.- พ.ค. หลังจากฝนตกครั้งแรกหว่านปุ๋ยหมัก ประมาณ 150-200 กก./ไร่ พร้อมทั้งผสมน้ำหมักชีวภาพ ประมาณ 20 ลิตร/ไร่สาดให้ทั่ว แล้วไถกลบทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ทำงาน ในกรณีแปลงที่ทำนาหว่านดินแห้ง ให้ทำการไถพรวนหว่านข้าว ประมาณ 20-25 กก./ไร่
-เดือน มิ.ย.- ก.ค. ในกรณีแปลงที่ทำนาดำ เมื่อฝนตกปล่อยให้หญ้าขึ้นแล้วจึงไถกลบ และเตรียมกล้าประมาณ 15-20 กก./ไร่
เดือน ก.ค.- ส.ค. ไถ หว่านปุ๋ยหมักเสริมประมาณ 20-30 กก./ไร่และผสมน้ำหมักจุลินทรีย์สาดให้ทั่ว จากนั้นทำการคราดแล้วทำการปักดำ
-เดือน ก.ย.- ต.ค. พอมีน้ำขยายจุลินทรีย์สาดหรือฉีดพ่น10-15 วัน/ครั้ง ดูแลถอนหญ้าตามแปลงตามปกติ นำปุ๋ยปั้นเม็ดหว่านเสริมประมาณ 10-30 กก./ไร่(เฉพาะแปลงที่ข้าวไม่สวย)
-เดือน พ.ย.- ธ.ค. เก็บเกี่ยวผลผลิต
หมายเหตุ
1.ในปีแรกการใช้ปุ๋ยหมัก อาจต้องใช้ปริมาณที่มาก เมื่อดินดีแล้วปีต่อไปจะค่อยๆลดปริมาณการใช้ลง
2. การทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง ด้วยสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.1
การทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง ด้วยสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.1 เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่เกิดจากการนำซากหรือเศษเหลือจากพืชมาหมักรวมกัน และผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยกิจกรรมจุลินทรีย์ จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมเป็นวัสดุที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง และมีสีน้ำตาลปนดำ
วัตถุดิบ :
1. เศษพืชแห้ง/แกลบ 1,000 กิโลกรัม
2. มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
3. ปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย) 2 กิโลกรัม
4. สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำ :
1. คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถ้าวัสดุที่ทำชิ้นส่วนยาว เช่นผักตบชวา ฟางข้าว ให้กองเป็นชั้น ๆ ประมาณ 3-4 ชั้น โดยแบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วน ตามจำนวนชั้นที่จะกอง
2. ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลาย
3. การกองชั้นแรกให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม
4. นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช ตามด้วยปุ๋ยไนโตรเจน แล้วราดสารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ให้ทั่ว โดยแบ่งใส่เป็นชั้น ๆ
5. หลังจากนั้นนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ทำเหมือนกันอีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยควรปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น
ุ6. รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย ให้มีความชื้นประมาณ 50-60%
7.กลับกองปุ๋ยหมัก 10 วัน/ครั้ง เพื่อเพิ่มออกซิเจน ลดความร้อนในกองปุ๋ย และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้ากัน หรือใช้ไม้ไผ่เจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งลำและเจาะรูด้านข้างปักรอบ ๆ กองปุ๋ยหมัก ห่างกันลำละ 50-70 เซนติเมตร
การเก็บรักษากองปุ๋ยหมัก :
ให้เก็บไว้ในโรงเรือน อย่าตากแดดและฝนจะทำให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักสูญเสียไปได้ หรือใช้ถ้าทำกลางแจ้งต้องหากระสอบป่าน หรือพลาสติกคลุมไว้
การนำไปใช้ :
1. ข้าว : ใช้ 2 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกพืช
2. พืชไร่ : ใช้ 2 ตันต่อไร่ โรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน
3. พืชผัก : ใช้ 4 ตันต่อไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน
4. ไม้ผล ไม้ยืนต้น :
-แ: ใช้ 20 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดินใส่รองก้นหลุม
-ต้นพืชที่เจริญเติบโตแล้ว : ใช้ 20-50 กิโลกรัมต่อต้น ขึ้นกับอายุของพืช โดยขุดร่องตามแนวทรงพุ่มใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม
5. ไม้ตัดดอก ใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ ไม้ดอกยืนต้นใช้ 5-10 กิโลกรัมต่อหลุม หรือใส่ปุ๋ยหมักช่วงเตรียมดิน และไถกลบขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ จะทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์ต่อพืชสูงสุด
3.วิธีทำนำหมักสมุนไพรป้องกันแมลงศัตรูพืช
วัตถุดิบ :
1. พืชสมุนไพร 30 กิโลกรัม
2. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
3. น้ำ 50 ลิตร
4. สารเร่ง พด.7 1 ซอง (25 กรัม)
ชนิดพืชสมุนไพรที่นำมาหมัก :
-สมุนไพรที่ใช้ป้องกันพวกเพลี้ย ได้แก่ ตะไคร้หอม หางไหล สาบเสือ หนอนตายหยาก บอระเพ็ด กระทกรก และข่า เป็นต้น
-สมุนไพรป้องกันหนอนกระทู้ หนอนชอนใบ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หางไหล ตะไคร้หอม เปลือกแค สาบเสือ หนอนตายหยาก สะเดา ว่านเศรษฐี และว่านน้ำ เป็นต้น
วิธีทำ :
1. สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็ก ทุบหรือตำให้แตก
2. นำพืชสมุนไพรและน้ำตาลใส่ลงในถังหมักผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
3. ละลายสารเร่ง พด.7 ในน้ำ 50 ลิตร ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาที
4. เทสารละลายสารเร่ง พด.7 ใส่ลงในถังหมักคลุกเคล้าหรือคนให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้ง
5. ปิดฝาไม่ต้องสนิท และตั้งไว้ในที่ร่มใช้ระยะเวลาในการหมัก 20 วัน
อัตราการใช้ :
-สารป้องกันแมลงศัตรูพืช : น้ำ เท่ากับ 1 : 200 สำหรับพืชไร่ และไม้ผล
-สารป้องกันแมลงศัตรูพืช : น้ำ เท่ากับ 1 : 500 สำหรับพืชผัก และไม้ดอก
วิธีการใช้ :
นำสารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้ว 50 ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก และ 100 ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในไม้ผล โดยฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น และรดลงดิน ทุก 20 วัน หรือในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาดให้ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง
4. เทคนิคการทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ไม่เป็นโรคใบไหม้ โดยใช้ไตรโคเดอร์มา
วิธีการทำ :
1. ใช้คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนหว่าน : ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดผงแห้ง หรือเชื้อสด 10-20 กรัม ต่อเมล็ดข้าว 1 กิโลกรัม อาจจะเติมน้ำสะอาดเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผงเชื้อราจับติดเมล็ดข้าวได้ดีขึ้น
2. การผสมน้ำฉีดพ่น : ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสด 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 200 ลิตร แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นให้ทั่วช่วงเช้า หรือเย็น หลังจากข้าวงอกได้ 3 วัน
ประโยชน์ :
ทำให้ต้นกล้าแข็งแรง ต้านทานต่อเชื้อราสาเหตุของการเกิดโรคในข้าว เช่น โรคใบไหม้ โรคขอบใบแห้ง ถึงแม้สภาพอากาศจะแห้งแล้ง ต้นข้าวก็จะสามารถทนทานต่อเชื้อราและเมลงศัตรูได้เป็นอย่างดี
5. เทคนิคการกำจัดหญ้าวัชพืชในนาหว่าน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตข้าว
การกำจัดหญ้าวัชพืชในข้าวนาหว่านช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตข้าว ตามแนวทางการผลิตพืชปลอดภัย สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก
ขั้นตอนการทำ
ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีน้ำขังในแปลงนา วัชพืชที่ขึ้นมาแซมกับต้นข้าวเริ่มแก่ และมีดอก ให้ใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายหลังตัดทั้งต้นข้าวและต้นหญ้า โดยให้ตัดเหนือน้ำประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วหว่านปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 10-30 กก./ไร่ จากนั้นอีกประมาณ 15-30 วัน ให้นำน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากพืชหรือสัตว์มาฉีดพ่น หรือ สาดให้ทั่วแปลงนา ในอัตรา 20 ลิตร/ไร่ โดยให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพอย่างต่อเนื่องจนข้าวตั้งท้องจึงหยุดใช้
ประโยชน์
การตัดต้นข้าวพร้อมกับหญ้าที่ออกดอกแล้วก่อนที่เมล็ดหญ้าจะสุก เป็นการตัดวงจรไม่ให้หญ้าแพร่พันธุ์ต่อไป เป็นวิธีการแก้ปัญหาวัชพืชในข้าวนาหว่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้นข้าวที่ถูกตัดจะแตกกอได้มากขึ้น และการตัดต้นข้าวจะทำให้ต้นข้าวไม่สูงมาก ถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะไม่ล้มเสียหาย และการขังน้ำไว้ในแปลงนา ร่วมกับการบำรุงต้นข้าวด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ จะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูงอีกด้วย
-เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551
-ผู้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ ปี พ.ศ. 2541
-ดำรงตำแหน่ง ประธาน กทบ. ปี พ.ศ.2544
-ประธานศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ปี พ.ศ.2548
-เป็นที่ปรึกษายุวเกษตรกรดีเด่น ปี พ.ศ.2542
-หมอดินอาสาอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
-แหล่งผลิตพืช GAP ชนิดพืช ข้าวหอมมะลิ ปี 2550-ปัจจุบัน
-ผู้ก่อตั้ง จุดสาธิตการทำนาอินทรีย์
-ประธานศูนย์เรียนรู้พัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

20 ม.7 บ.นาทุ่ง ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ 33210