เกษตรกรต้นแบบ
"จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์...วิทยากรฝึกอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เอง"
คุณจ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์  จ. ชัยนาท ปี 2551

จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธ์ อดีตเป็นนักดนตรีประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ปัจจุบัน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังมีประสบการณ์การทำงานการเกษตรและดนตรี คือ เป็นวิทยากรฝึกอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชนิดน้ำ ชนิดผง ชนิดอัดแท่ง และ ชนิดเม็ด ได้ออกแบบชุดเทคโนโลยีการปั้นเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นวิทยากรพิเศษ สอนดนตรีสากล และเป็นวิทยากรกระบวนการตามหน่วยงานราชการและชุมชนภาคกลาง

หลักคิดและการใช้ชีวิต

จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธ์ ประธานศูนย์เรียนรู้ร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง กล่าวว่า การใช้ชีวิตในปัจจุบันมีต้นทุนสูงมากโดยเฉพาะไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้ามีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอันเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หากเรามาคิดว่าจะนำอะไรมาใช้ทดแทนสิ่งเหล่านี้ได้ ก็มองว่าน่าจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้วิกฤตที่อากาศร้อนมีแสงแดดมากมาใช้ประโยชน์ทดแทน เราสามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มหลังจากลงทุนไปเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาก่อนว่าจะนำพลังงานแสดงอาทิตย์มาใช้ได้อย่างไร วิธีเบื้องต้นคือหาแผ่นโซล่าเซลล์มาใช้เปลี่ยนพลังงานแสดงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้บางส่วน เช่น โคมไฟ หรือที่ศาลพระภูมิหน้าบ้าน ให้เปิดปิดเองโดยระบบแสง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ต้นทุนประมาณ 3-5 พันบาท สำหรับพลังงานอื่น เรื่องของการหุงต้มในครัวเรือน บ้านใดมีแปลงเกษตรผสมผสาน หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว มีการตัดแต่งกิ่งสามารถนำมาเผาเป็นถ่านใช้ได้ แถมได้น้ำส้มควันไม้มาใช้ไล่แมลงในแปลงเกษตรอีกด้วย นอกจากนี้กระแสข่าวที่ว่าแก๊สหุงต้มจะขึ้นราคา อาจทำให้เราเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เราสามารถบริหารจัดการจากขยะอินทรีย์ได้ภายในครัวเรือนได้ เช่น ขยะจากเศษอาหาร นำมาหมักให้เกิดเป็นแก๊สหุงต้มใช้ในครัวเรือน ส่วนอินทรีย์วัตถุหลังจากหมักแล้วนำไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้ลดภาวะโลกร้อน และลดสตางค์ที่จะต้องจ่ายออกไปด้วย หากเราเตรียมพร้อมพึ่งตนเองโดยหันมาใช้พลังงานจากธรรมชาติให้มากขึ้นหากเกิดวิกฤตด้านพลังงานขึ้นจริง เราจะได้รับผลกระทบน้อยลงและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ความสามารถอันโดดเด่น

องค์ความรู้
- การผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด
- การปลูกข้าวแบบอินทรีย์
- การทำปุ๋ยชีวภาพ
- การใช้พลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล)
- การทำน้ำส้มควันไม้
- การทำถ่านอัดแท่ง
- โรงสีข้าวขนาดเล็ก
- การผลิตเครื่องมือในการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด
- ผลิตก๊าชจากขยะ และเศษอาหาร (ก๊าซชีวภาพ)
พร้อมทั้งยังมีภูมิปัญญาอีกมากมายที่เกิดจากกระบวนการคิด การสั่งสมประสบการณ์ การลองผิดลองถูก

การผลิตเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่น(สูตรระเบิดดิน)
วัสดุอุปกรณ์ /ส่วนผสม
1.ตะแกรงร่อน
2.ถุงในปุ๋ย
3.กระป๋องสำหรับผสม
4.รำอ่อน
5.น้ำมะพร้าว
6.น้ำตาอ้อย
7.ดินสมบูรณ์

วิธีทำ
1.นำดินสมบูรณ์ที่ได้มาร่อนก่อนเพื่อแยกเศษไม้ กรวด หิน ออกก่อนจากนั้นนำไปชั่งให้ได้ 1 กก.
2.เทน้ำมะพร้าวประมาณ 1-2 ลูก ลงในภาชนะที่เตรียมไว้
3.เทน้ำตาลอ้อยลงภาชนะที่มีน้ำมะพร้าวอยู่แล้วคนให้เข้ากันจนน้ำตาลอ้อยละลาย
4.เสร็จแล้วนำดินสมบูรณ์ที่ได้มาเทลงบนถุงในปุ๋ย ตามด้วยรำอ่อน แล้วทำการคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน
5.พอส่วนผสมเข้ากันดีแล้วให้นำน้ำมะพร้าวที่ผสมน้ำตาลอ้อยไว้แล้วมาพรมลงบนส่วนผสมในข้อที่ 4 แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันจนได้ความชื้นที่ต้องการ นำมาปั้นก้อนกลมขนาดประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 7 วันจะมีราขึ้นเป็นสีขาวจึงนำไปผสมกับน้ำหมักเป็นหัวเชื้อได้

วิธีหมักเป็นหัวเชื้อชนิดน้ำ
1.นำถังขนาดบรรจุ 120 ลิตร เติมน้ำประมาณ 100 ลิตร ผสมกากน้ำตาล 14-15 กก.
2.นำจุลินทรีย์ก้อน 3-5 ก้อน ทุบละลายน้ำและคนให้ทั่วปิดฝา 3 วัน คน 1 ครั้ง 10-15 วัน

ยาแก้เพลี้ยกระโดด
วัตถุดิบ
1.น้ำส้มสายชู 1 ขวด
2.เหล้าขาว 2 ขวด
3.พริกขี้หนูแห้งหรือสด ½ กก.

วิธีทำ
1.นำน้ำส้มสายชูผสมกับเหล้าขาวหมักไว้ 24 ชั่วโมง
2.นำพริกมาบดและเทน้ำลงไป 5 ลิตรใช้ไม้คนให้เข้ากัน หมักไว้ 1 ชั่วโมง แล้วกรองเม็ดพริกออก

วิธีใช้
นำน้ำหมัก 24 ชั่วโมง 100 ซีซี ผสมกับน้ำหมัก 1 ชั่วโมง 200 ซีซี ผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตร ฉีดพ่น(ถ้าไม่มีเพลี้ยไม่ต้องฉีดพ่น)

เกียรติประวัติและผลงาน

1. เกียรติบัตร หลักสูตรการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2549
2. รางวัลชนะเลิศ ด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนดีเด่น / เศรษฐกิจพอเพียง ปี 2548
3. ประกาศนียบัตรแห่งภูมิปัญญาเกษตรไทย "เป็นผู้อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเครื่องมือเครื่องใช้ดีเด่น" จากกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2547
4.รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 2551 จ.ชัยนาท

จ่าเอกสมบัติ วิสูตรพันธุ์
ข้อมูลการติดต่อ

121 ม.1 บ.หนองแซง ต.หนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท 17160

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด