
นายสุนทร สมาธิมงคล จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ทำให้คุณสุนทรเปลี่ยนจากอาชีพทำนา มาทำสวนมะม่วงตั้งแต่ปี 2538 และประสบความสำเร็จสามารถขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ต่อมาปี 2545 ได้รวบรวม เกษตรกรในตำบลมงคลธรรมนิมิต จัดตั้งเป็นกลุ่มปรับปรุงมะม่วงเพื่อการส่งออก ในปี 2546 ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงมะม่วงคุณภาพดีเพื่อการส่งออก ปัจจุบัน มีสมาชิก 103 รายประกอบด้วยสมาชิกจากจังหวัดอ่างทอง และเครือข่ายต่างจังหวัด เช่น สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท และลพบุรี
นอกจากนี้ผลงานและความภาคภูมิใจของนายสุนทร มีอีกมากมาย เช่น เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านมะม่วงของเกษตรกรในตัวจังหวัดและต่างจังหวัด รวมถึงให้ความรู้ครอบคลุมไปถึงนักเรียนและนักศึกษา มีความสำเร็จในด้านการพัฒนามะม่วงให้ออกนอกฤดูกาล การฝากท้องมะม่วง วิธีการห่อมะม่วงให้ปลอดจากแมลงรบกวน เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานส่งออก รวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อการติดต่อกับบริษัทต่าง ๆ ให้รับซื้อมะม่วง ล่าสุดปี 2549 ติดต่อตลาดภายในประเทศ เช่น ตลาดไท ตลาดปากคลอง ร้าน Q-Shop อตก. มีมูลค่าการรับซื้อรวม 33 ล้านบาท และติดต่อส่งออกตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน กลุ่มอียู และดูไบ รวมมูลค่า 7 ล้านกว่าบาท
น้ำหมักกระเทียมป้องกันเชื้อราในนาข้าว
ปัญหาเชื้อราในนาข้าวนั้นพบได้ทั่วประเทศไทยข้าวแปลงใดที่เชื้อรานี้เข้าทำลายจะเกิดความเสียหายตั้งแต่ 10%ขึ้นไป การแก้ปัญหาโดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อราแม้จะพอแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งแต่ก็สิ้นเปลืองมาก และสารเคมีดังกล่าวอาจมีผลเสียต่อตัวเกษตรกรด้วย คุณสุนทร สมาธิมงคล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551 ประจำจังหวัดอ่างทอง ถึงแม้จะมีความเชี่ยวชาญเรื่องการปลูกไม้ผล แต่คุณสุนทรก็ยังทำนาอยู่ด้วยเช่นกัน และยังมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าปัญหาเชื้อราในนาข้าวเป็นปัญหาหลักของชาวนาเหมือนกัน จึงแนะนำน้ำหมักจากกระเทียม เพื่อป้องกันเชื้อราดังนี้
การทำน้ำหมักกระเทียม
วัสดุอุปกรณ์
1.กระเทียม 3 กิโลกรัม
2.แอลกอร์ฮอลหรือเหล้าขาว 0.5 ลิตร
3.ถังสำหรับหมัก 1 ใบ
วิธีทำ
1.นำกระเทียม จำนวน 3 กิโลกรัม ไปปั่นให้ละเอียด
2. เมื่อปั่นกระเทียมจนละเอียดแล้วให้นำไปใส่ในถังหมักที่เตรียมไว้
3.จากนั้นให้นำแอลกอร์ฮอลหรือเหล้าขาว จำนวน 0.5 ลิตร มาผสมให้เข้ากัน
4.นำไปไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกโดยไม่ต้องปิดฝา หลังจากการหมัก 3 วัน จึงนำมาใช้ได้
อัตราการใช้
น้ำหมักกระเทียม จำนวน 2 ช้อนแกง ผสมน้ำเปล่าจำนวน 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วันในตอนเย็น ตลอดช่วงฤดูการปลูก ช่วยป้องกันเชื้อราเป็นอย่างดีและทำให้ต้นข้าวแข็งแรง
สูตรย่อยข้าวดีด
ก่อนที่คุณสุนทร สมาธิมงคล จะทำไม้ผลอย่างมะม่วงพันธุ์ต่างๆนั้น ในอดีต คุณสุนทรก็เป็นเกษตรกรที่ทำนามาก่อน ณ ปัจจุบันนี้ นอกจากไม้ผลจำนวน 40 ไร่แล้ว ยังมีนาข้าวอีกจำนวน 9 ไร่ โดยเป็นข้าวที่ปลูกไว้ทานเองส่วนหนึ่งและยังใช้เป็นสถานที่ดูงาน ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้อีกด้วย ซึ่งการทำนาของคุณสุนทร จะไม่ใช้การเผาตอซัง แต่จะเป็นการไถกลบ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมรวมถึงปุ๋ยไว้ด้วย จึงมีสูตรย่อยสลายข้าวดีดที่ผลิตเองและใช้ได้ผลมีประสิทธิภาพในการกำจัดข้าวดีดได้เป็นอย่างดี
วัสดุอุปกรณ์
1.ต้นกล้วย ต้นอ่อน จำนวน 30 กิโลกรัม
2.ปูนแดงกินหมาก จำนวน 1 กิโลกรัม
3.น้ำมะพร้าว จำนวน 50 ลิตร
4.กากน้ำตาล จำนวน 20 กิโลกรัม
5.หัวเชื้อจุลินทรีย์ จำนวน 1 ลิตร
วิธีทำ
1.นำต้นกล้วย(ต้นกล้วยใบหูกวาง) มาสับให้มีขนาดเล็ก นำไปใส่ในถังหมัก
2.นำปูนแดงกินหมาก น้ำมะพร้าว กากน้ำตาล และหัวเชื้อจุลินทรีย์ นำมารวมและคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
3.นำส่วนผสมทั้งหมดไปใส่ในถังหมักที่มีต้นกล้วยสับอยู่
4.ปิดฝาไม่ต้องสนิท นำไปไว้ในที่ร่ม หมักทิ้งไว้ 15 วัน
การนำไปใช้
นำน้ำหมักย่อยข้าวดีดที่ได้ ไปราดในนาเพื่อหมักซังข้าว โดยทำการหมักทิ้งไว้ 15 - 20 วัน จะช่วยกำจัดวัชพืชหรือข้าวดีดได้เป็นอย่างดี
1.เป็นประธานและบริหารกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปรับปรุงมะม่วงคุณภาพดี เพื่อการส่งออกอย่างเป็นระบบและสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรองราคา ปัจจุบันมีสมาชิก 103 ราย ในจังหวัดอ่างทองและเครือข่ายต่างจังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สระบุรี ชัยนาท มีพื้นที่ปลูกมะม่วง รวมทั้งสิ้น 3,000 ไร่
2.วางแผนการผลิตของตนเองและสมาชิกกลุ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงนอกฤดูในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เพื่อให้ผลผลิตมีราคาดี
3.สนับสนุนสมาชิกและปฏิบัติตามเกณฑ์ข้อกำหนดของกระบวนการผลิตมะม่วงตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP และได้รับใบรับรองแหล่งพืช (GAP) โครงการความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ด้ายพืช จากกรมวิชาการเกษตร ปี 2550
4.รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 2551 จ.อ่างทอง
5.ได้คัดเลือกเป็นปราชญ์ชาวบ้านมะม่วงส่งออกตำบลมงคลธรรมนิมิต จากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง ในปี 2552
6.ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ของกรมส่งเสริมการเกษตร (ระดับจังหวัด) ปี 2548 และของจังหวัดอ่างทอง ปี 2551 รวมทั้งได้รับรางวัลที่ 1 การประกวดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ประเภท ไม้ผลปลอดภัยจากสารพิษหรืออินทรีย์ในงานกาชาด 111 ของดีเมืองอ่างทอง ปี 2550

5 ม.1 ต.ธรรมนิมิต อ.สามโก้ จ.อ่างทอง 14160