เกษตรกรต้นแบบ
"ละเมียด ครุฑเงิน: ผู้คิดค้นการทำนาข้าวแบบล้มตอซัง"
คุณละเมียด ครุฑเงิน  จ. ปทุมธานี ปี 2551

นายละเมียด ครุฑเงิน อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46/1 หมู่ 9 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เจ้าของผู้คิดค้นการทำนาข้าวแบบล้มตอซัง
คุณละเมียด ครุฑเงิน เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551 จังหวัดปทุมธานี ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง การปลูกข้าวล้มตอซัง เป็นการปลูกข้าวด้วยการอาศัยตอซังเดิมของข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ปล่อยให้เกิดการแตกหน่อ เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นข้าว วิธีนี้จะช่วยลดขั้นตอนการเตรียมเมล็ดข้าว ลดระยะเวลา ลดการใช้สารเคมี โดยมีหลักการสำคัญคือ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วนั้น ต้องทำให้หน่อข้าวเจริญเติบโตขึ้นมาจากตอซังข้าวที่เหลืออยู่ในแปลงนา ประโยชน์สูงสุดของการปลูกข้าวล้มตอซัง คือ ลงทุนหว่านเมล็ดครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 3 ครั้งต่อปี จากความสำเร็จในเรื่องนี้ ทำให้ชาวนาวุฒิ ป.4 ผู้นี้ ได้รับพระราชทานวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากความสำเร็จนี้ ได้กลายเป็นคุณประโยชน์อย่างมากมายต่อเกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวด้วยวิธีนี้

หลักคิดและการใช้ชีวิต

การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง เป็นเทคโนโลยีชาวบ้านซึ่งเกิดจาก " ภูมิปัญญาท้องถิ่น " เกษตรกรเป็นผู้ค้นพบโดยบังเอิญ มีเทคนิคและวิธีการปฏิบัติโดยไม่ต้องเตรียมดิน และไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก อาศัยหลักการปฏิบัติ โดยเกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วแปลง และย่ำตอซังให้ราบติดกับพื้นนา ในขณะที่ดินต้องมีความชื้นหมาด ๆ การปลูกข้าวด้วยวิธีนี้เกษตรกรบางพื้นที่เรียกว่า " การปลูกข้าวด้วยตอซัง "

ความสามารถอันโดดเด่น

การปลูกข้าวล้มตอซัง
ขั้นตอนการปลูกข้าวตอซัง 1.หลังเก็บเกี่ยว ใช้เครื่องกระจายฟางคลุมตอซังทั่วแปลงนา (ปัจจุบันเกี่ยวเสร็จก็กระจายไปเลย พร้อมๆ กัน) ใช้ลูกยางย่ำตอซัง ย่ำประมาณ 4 เที่ยว ย่ำให้ติดราบกับพื้นดิน ความชื้นดินประมาณ 50% (ดินสามารถนำมาปั้นได้) และฟางที่คลุมให้ราบเรียบ อย่าให้ตอซังกระดกขึ้น (เพื่อป้องกันตอซังกระดกขึ้นมา) ระยะเวลา 3 – 4 วัน ข้าวเริ่มแทงหน่อเล็กจากข้อที่ 2-3 หรือปลายตอซัง 2.หลังย่ำตอซังเกษตรกรต้องตรวจสอบว่าฟางที่คลุมจุดใดหนาให้เอาออก คลุมบาง ๆ ปล่อยทิ้งไว้รอจนกว่าหน่อข้าว (ที่เกิดจากกกข้าว) งอกเจริญ มี 2-3ใบ (อายุประมาณ 10วัน นับจากวันย่ำฟาง สังเกตว่าการเจริญเติบโตจะแตกต่างกันกับข้าวหว่าน้ำตม โดยต้นจะใหญ่กว่า รากจะหนาแน่นกว่า หาอาหารได้ดีกว่า ข้าวล้มตอซังที่สมบูรณ์ จะแตกหน่อ 3 – 4 หน่อ ต่อ 1 ต้นซัง) จากนั้นก็สูบน้ำเข้าแปลงนาและใส่น้ำหมักชีวภาพ ในอัตรา 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 15 ไร่ พอแฉะ (อย่าให้น้ำมากจะทำให้ฟางที่คลุมลอย) 3.หลังระบายน้ำเข้า 1วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ปุ๋ยยูเรีย) อัตรา 15-20กก./ไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และเร่งขบวนการย่อยสลายของตอซังและฟาง รักษาน้ำในนาไม่ให้รั่ว เพื่อไม่ให้ปุ๋ยที่ใส่สูญหาย
4.หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 10-12วัน ระบายน้ำออก (เพื่อลดปัญหาการเกิดก๊าซซึ่งจะทำให้ใบเป็นสีส้ม ในระยะที่ฟางย่อยสลาย) ปล่อยให้ดินแห้ง 3-4 วัน ต้นข้าวจะมีรากงอกออกมา จึงสูบน้ำเข้าแปลงนาในระดับปูคลาน (5 ซม.) ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 18-12-6 หรือ 16-12-8 อัตรา 35กก./ไร่ ในกรณีปลูกข้าวติดต่อกันไม่มีเวลาหยุดพักเป็นเวลานานเพื่อชดเชยธาตุ P ที่ต้นข้าวใช้ไป 5.ใส่ปุ๋ยแต่งหน้า สูตร 46-0-0อัตรา 7-10กก./ไร่ หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10-12วัน(ตามข้อ 4) 6.หลังใส่ปุ๋ยแต่งหน้า (ตามข้อ 5) เพิ่มระดับน้ำในนาสูง 10-12ซม. ควบคุมระดับน้ำไว้จนกว่ารวงข้าวเริ่มก้ม เมล็ดปลายรวงเริ่มเหลือง จึงระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อเตรียมการเก็บเกี่ยว

เกียรติประวัติและผลงาน

-เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2551 จังหวัดปทุมธานี
-พระราชทานวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (การทำนาล้มตอซัง)
-เกษตรกรดีเด่นประจำ จ.ปทุมธานี (ด้านทำนาข้าว)

ละเมียด ครุฑเงิน
ข้อมูลการติดต่อ

46/1 ม.9 ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี 12140

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด