เกษตรกรต้นแบบ
"พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา ทำสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เดินตามศาสตร์พระราชา ทำไร่สตอเบอรี่ที่สุพรรณบุรี"
คุณพิมพ์วรัตน์ เรืองประชา  จ. สุพรรณบุรี ปี 2561
ถ้าเราเลือกทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ เราก็จะได้สิ่งที่สร้างสรรค์ตอบแทน

พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 2561

"เพราะต้องการลบคำสบประมาทของทุกคน หนูเลยเลือกปลูกในสิ่งที่คนอื่นมองว่าปลูกไม่ได้ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี นั่นก็คือ สตอเบอรี่ ครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วย แม่ไม่ยอมคุยกับหนูเป็นปีปี ยิ่งหนูเห็นแบบนี้ หนูยิ่งอยากจะทำให้ทุกคนได้เห็น ว่าหนูทำได้ เพราะหนูเลือกทำในสิ่งที่มันสร้างสรรค์ หนูก็ต้องได้สิ่งที่สร้างสรรค์ตอบแทน" พิมพ์วรัตน์กล่าว

"สตอเบอรี่พันธุ์หวานจากโครงการหลวงดอยปุย สู่ด่านช้าง สุพรรณบุรี
มีให้ลิ้มชิมรสแล้ว ช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ ของทุกปี "


ไร่พิมพ์วรัตน์ สตอเบอรี่สุพรรณ เกิดจากความตั้งใจและความมุ่งมั่น ของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างพิมพ์วรัตน์ ที่คลุกคลีกับอาชีพเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก ๆ และชอบที่จะทำเกษตร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพิมพ์วรัตน์ถูกพ่อและแม่ปลูกฝังเสมอว่า ให้ตั้งใจเรียนสูง ๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน และหลังจากเรียนจบ ปวส. ตัดสินใจกลับบ้านเพื่อทำเกษตร ในตอนนั้นพ่อและแม่ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำ เลยเลือกที่จะเรียนไปด้วย ทำการเกษตรไปด้วยเพื่อให้พ่อและแม่สบายใจ จึงเรียนต่อปริญญาตรีสาขารัฐประสาสนศาสตร์ ภาคสมทบไปพร้อม ๆ กับการปลูกมะนาวและหน่อไม้ฝรั่ง และระหว่างนั้นได้มีโอกาสเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้ได้ความรู้กลับมาพัฒนาการเกษตรที่ทำอยู่ปัจจุบัน ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรของปราชญ์หลายท่าน และศึกษาถึงศาสตร์ของพระราชาอย่างลึกซึ้ง จนทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำตอนนี้ นี่แหละคือความยั่งยืนในชีวิต จึงตัดสินใจลาออกจากการเรียนสาขารัฐประสาสนศาสตร์เพราะมองว่า การศึกษาสาขานี้ไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่ทำและอยากจะทำ และมองหาความรู้เพิ่มเติมที่จะช่วยเสริมการทำการเกษตรได้ นั่นคือเรียนด้านพืชศาสตร์ แต่ความพยายามกลับไม่เป็นผล เมื่อสถานศึกษาไม่รับเข้าเรียนต่อ เนื่องจากพื้นฐานที่มีไม่ตรงกัน เลยทำให้ตัดสินไปสมัครเรียนที่สถาบันเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อเรียนสาขาการบัญชี นี่คือสิ่งที่ทำให้พิมพ์วรัตน์มองเห็นอนาคต และรู้สึกว่าจะต้องเป็นเกษตรกรที่เป็นเจ้าของกิจการให้ได้ ทำทุกอย่างแบบครบวงจรในฟาร์มของเราเอง มีผลผลิตเป็นของตัวเอง มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตของเราเอง ทำเองขายเองได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ระหว่างเรียนพิมพ์วรัตน์ใช้เวลาในช่วงเสาร์-อาทิตย์กลับบ้านมาเพื่อดูแลสวนมะนาว จนเรียนจบ แต่งงานมีครอบครัวเป็นของตนเอง และหวังว่าอยากจะให้ครอบครัวสมบูรณ์แบบที่สุด จึงตัดสินใจทำการเกษตรด้วยกันทั้งคู่เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จากเดิมนั้นสามีเป็นวิศวะกรไม่ค่อยจะมีเวลาได้อยู่ด้วยกันเท่าที่ควร หลังจากสามีลาออกจากงาน ครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วย ชาวบ้านข้างเคียงมองว่า จบถึงปริญญาตรีแต่ไม่มีอนาคตต้องมาเป็นเกษตรกร ตอนนั้นพิมพ์วรัตน์เสียใจมาก และรู้สึกว่าอยากจะลบคำสบประมาทของทุกคน และทำให้แม่และครอบครัวเห็น ว่าการเป็นเกษตรกร ก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ด้วยการเลือกปลูกพืชที่คิดว่าไม่มีใครปลูกในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อย่าง "สตอเบอรี่"

" ด้วยความฝันอยากเป็นเกษตรกรตั้งแต่เด็ก จบปวส.มามุมานะสอบเข้าสาขาพืชศาสตร์ แต่ต้องพลาดโอกาสเมื่อเขาไม่รับเข้าเรียน ก็เลยตัดสินใจลองหันไปเอาดีด้านบัญชี แต่ด้วยใจรักจึงทำเกษตรควบคู่กันไป ครั้นเมื่อจบการศึกษาตัดสินใจปฏิเสธงานออฟฟิศ หวนกลับบ้านมาเริ่มต้นทำการเกษตรด้วยการปลูกสตอเบอรี่ใน “ไร่พิมพ์วรัตน์” "


พิมพ์วรัตน์เดินหน้าศึกษาเกี่ยวกับสตอเบอรี่อย่างจริงจัง และตัดสินใจตัดต้นมะนาวทิ้งทั้งหมดเพื่อทำแปลงสตอเบอรี่ และนำแหวนแต่งงานไปจำนำ มาใช้เป็นเงินลงทุน และเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 32,000 บาท เริ่มแรกถูกหลอกขายต้นพันธุ์ แต่ผลผลิตที่ได้ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง ไม่ทำให้ขาดทุน และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่า ต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ และเริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มมากขึ้นจากอินเตอร์เน็ต พบว่าสถานีวิจัยดอยปุย เป็นแหล่งผลิตต้นพันธุ์สตอเบอรี่ที่มีคุณภาพ จึงตัดสินใจไปศึกษาเรียนรู้ที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่

กำลังใจในตอนนั้นที่มีคือคำว่า "เกษตรกรของพระราชา" ทำให้พิมพ์วรัตน์มุ่งมั่นและตั้งใจเป็นอย่างมาก จนสามารถสำรวจตัวเอง สำรวจพื้นที่ที่ทำอยู่ว่าโครงสร้างดินเป็นแบบไหน สภาพอากาศในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร จนทำให้รู้ว่าตัวเองมาไม่ผิดทาง เพราะสภาพอากาศในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณในบางฤดูกาลมีความคล้ายคลึงกับภาคเหนือ และที่สำคัญพื้นที่นั้นมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม

"สตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 88 สตอเบอรี่พันธุ์สุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามให้
อยากจะสานต่อและส่งมอบความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9
ให้สมกับคำว่า "เกษตรกรของพระราชา" "


และเมื่อปี 2559 ได้นำพันธุ์สตอเบอรี่พันธุ์ใหม่ที่ร่วมทำวิจัยกับสถานีวิจัยดอยปุย มาลองปลูก และทำทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น เก็กฮวย ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นต้น และเมื่อปี 2560 ได้รับความไว้วางใจจากสถานีวิจัยดอยปุยให้พื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่ทดลองปลูกสตอเบอรี่ ซึ่งถือเป็นสตอเบอรี่พันธุ์สุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามให้ นั่นคือพันธุ์ "พันธุ์พระราชทาน 88" ซึ่งผลออกมาเป็นที่ภาคภูมิใจและน่ายินดีอย่างยิ่ง พื้นที่บ้านเกิดของพิมพ์วรัตน์สามารถปลูกสตอเบอรี่ได้ผลผลิตดีกว่าที่คิด พิมพ์วรัตน์ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธุ์สตอเบอรี่ในไร่ จนปัจจุบันนี้กลายเป็นที่รู้จัก จึงทำให้อยากจะสานต่อและส่งมอบความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สมกับคำว่า "เกษตรกรของพระราชา" จึงได้ร่วมกับคนในชุมชนเปิดแปล่งท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในชุมชนไว้ นั่นก็คือวิถีของชาว "ลาวครั่ง" เพื่อให้ลูกหลานสืบต่อไป

"ไร่พิมพ์วรัตน์สตอเบอรี่ จุดชมวิวที่ดีที่สุดในหมู่บ้าน สามารถมองเห็นภูเขาสามยอดสวยงามที่สุด
สนุกกับการเก็บสตอเบอรี่ผลสดด้วยตัวเอง ในบริเวณพื้นที่ถึง 4 ไร่ "



"การบริหารจัดการพื้นที่ของไร่พิมพ์วรัตน์"
การจัดการแปลงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย
ส่วนที่1 ส่วนหน้า คือส่วนที่จัดเป็นจุดเด่นสำหรับดึงดูดลูกค้า ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของไร่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดเดียวในหมู่บ้านที่สามารถมองเห็นภูเขาสามยอดสวยงามที่สุด ภูเขาสามยอดถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ในไร่มีต้นไม้ใหญ่อายุประมาณหนึ่งร้อยปี เนื้อที่ส่วนหน้ามีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ปลูกสตอเบอรี่ เก็กฮวย เสาวรส

ส่วนที่2 ส่วนกลาง คือส่วนที่จัดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกของลูกค้า ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ของฝาก ห้องน้ำ และลานกางเต็นท์

ส่วนที่3 ส่วนท้าย เป็นส่วนปฏิบัติงาน ประกอบไปด้วยโรงเรือนสำหรับผลิตต้นพันธุ์ สตอเบอรี่ แปลงปลูกสตอเบอรี่ สระกักเก็บน้ำสำหรับใช้หน้าแล้ง ส่วนนี้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่จะมาศึกษาดูงานด้านการปลูกสตอเบอรี่ได้ กิจกรรมการผลิตคำนึงถึงคุณภาพและความสุขเป็นสำคัญ กระบวนการดูแลปฏิบัติตามคู่มือของการผลิตพืชมูลนิธิโครงการหลวง รวมถึงการใช้สารชีวภัณฑ์ต่างๆก็มาจากโครงการหลวงโดยมีอาจารย์จากศูนย์อารักษ์ขาพืชมูลนิธิโครงการหลวงเป็นที่ปรึกษา ที่สำคัญก็คือแนวคิดการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตโดยที่ไม่เพิ่มต้นทุน การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเก็บผลผลิตสดๆจากต้น ใช้สื่อออนไลน์ในการนำเสนอข้อมูล ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสั่งจองผลผลิตออนไลน์

"ผลผลิตที่ได้ นำออกจำหน่ายที่ไร่ ไม่ได้ส่งพ่อค้าคนกลาง ให้นักท่องเที่ยวเก็บเองได้ตามใจ
หากเหลือ แปรรูปขาย สด ใหม่ ไม่พอขาย "



"ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากไร่พิมพ์วรัตน์ สตอเบอรี่สุพรรณบุรี"
ผลผลิตทางการเกษตรของไร่ประกอบด้วย
-ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่
-ต้นพันธุ์เก็กฮวย
-ต้นพันธุ์ส้มสายน้ำผึ้ง
-ผลสตอเบอรี่
-ส้มสายน้ำผึ้ง
-มัลเบอร์รี่
-สับปะรด
-มะพร้าวน้ำหอม
-กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่
-สมุนไพรต่างประเทศและหญ้าหวาน

" ข้อดีของการแปรรูปคือ สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า เก็บได้นานกว่า และนำพาไปเป็นของฝากได้ทุกที่ "


ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรของไร่มีทั้งหมด 8 ชนิด
1.สตอเบอรี่โยเกิร์ต
2.น้ำสตอเบอรี่
3.แยมสตอเบอรี่
4.ชาดอกเก็กฮวย
5.น้ำเก็กฮวย
6.ชาสมุนไพรสด
7.แยมสับปะรด
8.กล้วยสอดไส้สตอเบอรี่

การแปรรูปผลผลิตเน้นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพราะการผลิตเราเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว การอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชนลาวครั่ง ไม่ได้นำผลผลิตออกไปขายนอกชุมชน สร้างจุดเด่นให้ลูกค้าเลือกที่จะเขามาซื้อสินค้าภายในไร่ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

จากคำสบประมาทในวันนั้น จึงทำให้มีวันนี้ "ในโลกนี้ไม่มีอะไรยาก ถ้ามีคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ
เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน" พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา กล่าว



จุดเริ่มต้นของบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงในชุมชนมาจากความรักที่มีต่อบ้านเกิดของตัวเอง ชุมชนมีวัฒนธรรม มีภูมิปัญญา และมีธรรมชาติที่สวยงาม จึงได้เกิดความคิดที่จะพัฒนาที่ดินของพ่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เริ่มต้นด้วยการปลูกสตอเบอรี่และเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้ฟรี หลังจากนั้นได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆและญาติพี่น้องจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อว่า กลุ่มสตอเบอรี่วังจระเข้ อ.ด่านช้าง การสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน ส่วนใหญ่จะจ้างคนในชุมชนมาเป็นแรงงาน เช่น จ้างผู้สูงอายุกรอกดินชำไหลสตอเบอรี่ จ้างแรงงานมาดูแลแปลงสตอเบอรี่ ซื้อตระกร้าของคนในชุมชนมาใช้เก็บสตอเบอรี่ แบ่งพื้นที่ให้คนในชุมชนนำสินค้ามาวางขายในไร่ ผู้นำชุมชนด้านการเกษตร จัดตั้งกลุ่มวังจระเข้รวมใจเพื่อปลูกหญ้าหวานไว้บริโภคแทนน้ำตาล และใช้เป็นสถานที่ดูงานของชุมชน ในส่วนของการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน เป็นผู้ดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวตามโครงการ OTOP นวัตวิถี ครัวเรือนเกิดการสร้างงานในด้านต่างๆดังนี้ ด้านการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนเพิ่มขึ้น เกษตรกรไม่ต้องนำสินค้าออกไปขายนอกชุมชน มีอาชีพใหม่เพิ่มขึ้น เช่น รถนำเที่ยว ไกด์ ผู้ผลิตสินค้าที่ระลึก อาชีพนักแสดงมีรายได้เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักโฮมสเตย์ ด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดการศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษาพูด และถ่ายทอดภูมิปัญญา ด้านสังคม ทำให้เกิดความสามัคคีของคนในชุมชน มีการรวมตัวกันเป็นจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้านทุกๆวันพระใหญ่

วิธีการดำเนินงานการทำงานร่วมกับชุมชนเริ่มต้นด้วยการเปิดใจคุยกับคนในชุมชนในเรื่องของอนาคต สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น วิเคราะห์ปัญหา สอบถามความต้องการของชุมชน พาสมาชิกที่สนใจไปศึกษาดูงานและนำมาปรับใช้กับหมู่บ้านของตนเอง

ข้อมูลการติดต่อ

ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา
206 หมู่ 6 ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 72180

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด