ความสุขของคนมีหัวคิด คือ การได้ใช้ชีวิตในแบบที่คิดฝัน โดยไม่ต้องวิ่งตามเงิน

ตลอดชีวิตของคนเราต่างวิ่งไขว่คว้าหาความสุข ที่มีทั้งแบบสุขชั่วคราว สุขไม่ยืนยาว สุขแบบต้องใช้เงินทองซื้อหามา สุขแบบต้องพึ่งพาผู้อื่น ล้วนแล้วแต่เป็นความสุขที่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการได้ทานอาหารดีๆ สักหนึ่งมื้อ,การมีแฟนดีๆ สักหนึ่งคน หรือ การมีเพื่อนฝูงและสังคมที่เข้ากันได้ดี ซึ่งความสุขเหล่านี้หาใช่สุขอันยั่งยืนเท่าสุขที่จิตใจเราสร้างขึ้นเองโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก อันเป็นรูปแบบของความสุขสงบที่พร้อมจะเอ่อล้นออกมาเผื่อแผ่ถึงคนรอบข้างได้อย่างไม่มีวันหมดถัง เพราะนอกจากจะเป็นความสุขที่ยั่งยืนแล้ว ยังก่อกำเนิดแรงขับเคลื่อนและผลักดันให้ร่างกายได้ทำอะไรที่สร้างสรรค์ เพื่อเกิดประโยชน์สุขต่อตัวเองและผู้อื่นในด้านดีๆ จนเกิดการเติมเต็มคุณค่าทางจิตใจ สามารถตอบตัวเองได้ว่า "เราเกิดมาทำไม ทำไมต้องเกิดมา"และจะแสวงหาอะไรกันไปมากมายเกินกว่า ที่พักที่พอดีนอน ที่ยืนที่พอดีเท้า มื้ออาหารที่พอดีอิ่ม เสื้อผ้าที่ใส่แล้วอุ่น และ ชีวิตที่พอดีตัว ตามต้นทุนชีวิตที่สามารถจัดสรรได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนใครหรือก่อเกิดหนี้สินนอกกายมากมาย

กับ ความสุขที่พร้อมแบ่งปัน
ซึ่ง พอต อภิวรรษ สุขพ่วง เกษตรกรหนุ่มวัย 29 ปี แห่งเมืองราชบุรี เจ้าของความสุขตัวโต-โต บนพื้นที่ฟาร์มเกษตรแบบ ECO-ECO ที่มีชื่อว่า "ไร่สุขพ่วง"(ศูนย์การเรียนรู้ Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย) ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ที่พร้อมถ่ายทอดทุกความรู้และส่งผ่านความสุขทุกอณูให้ถึงผู้มาศึกษาดูงาน หรือ เยี่ยมชม ผ่านองค์ความรู้ รูปแบบการจัดการ หรือ แม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาจำหน่าย ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดมั่น ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นก้าวหน้า ตามหลักสูตร "คนดี มีวินัย ทำอะไรให้เป็น หาจุดเด่นให้เจอ" มีการเพาะปลูกพืชแบบปฏิเสธเคมีทุกชนิด จดบันทึกข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมกับใช้หลักทฤษฎี 9 ขั้น สู่ความพอเพียง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น พอได้ทำบุญ พอได้ทำทาน พอได้เก็บรักษา พอได้ทำธุรกิจ และ พอเพียงด้วยการสร้างเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์วิถีไทย ใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ไม่กักขัง ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ-ฮอร์โมนเร่งในสัตว์ และ ให้สัตว์กินอาหารจากธรรมชาติ สัตว์ที่เลี้ยงไว้จึงมีอารมณ์ดี ให้ผลผลิตคุณภาพเยี่ยม เปี่ยมเอกลักษณ์ ภายใต้การดำเนินการเกษตร "อินทรีย์วิถีไทย" ที่เน้นใช้พืชพันธุ์ท้องถิ่นและปุ๋ยจากสิ่งที่ผลิตได้รอบตัว โดยมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ร.9) ซึ่งเป็นบุคคลที่ปราชญ์เปรื่องที่สุดในโลกเรื่องการจัดการดิน-น้ำและการจัดการเกษตร เป็นต้นแบบด้านการทำเกษตรและมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต
เพียงแค่รดน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาดุก ตามคำแนะนำในการทำเกษตรของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ร.9)
กว่าจะมาเป็น "ไร่สุขพ่วง"(ศูนย์การเรียนรู้ Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย): "ชีวิตผมเริ่มต้นจากการตามหาความสุขในชีวิต ผมเกิดมาในครอบครัวชาวไร่ที่ทำไร่กันมานานหลายชั่วอายุคน ก่อนจะมาหยุดการทำไร่ในรุ่นพ่อ-แม่ เพราะพ่อแม่ทำงานรับราชการด้วยกันทั้งคู่ ส่วนผมลูกชายคนเดียวก็มุ่งเรียนรู้ในระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์(วังไกลกังวล) จนจบออกมาในปี พ.ศ.2553 ได้มีโอกาสรับใช้ชาติ ในสังกัดกองทัพอากาศ ประจำการอยู่ที่ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองเรามีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เผาบ้าน เผาเมือง เหมือนสงครามกลางเมืองขนาดย่อมพอดี ผมจึงถูกเกณฑ์ไปเป็นรักษาความสงบในพื้นที่ชุมนุม ใส่โล่ ถือกระบอง อยู่ตรงถนนวิภาวดีขาเข้า จึงได้เห็นความวุ่นวายของสังคมเมืองในเมืองที่เราคิดว่าเราจะฝากชีวิตไว้ จะเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นี่ แต่พอมาเจอสงครามกลางเมืองนี้ทำให้ต้องคิดใหม่ จากนั้นได้มาเจอโรคระบาดไข้หวัด 2009 ซึ่งเกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ และคนทั่วไปอีก ซึ่งทำให้ผมเองป่วยด้วยโรคนี้ไปด้วยและในปี 2554 ได้เจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ อีกครั้ง เพราะยังไม่ปลดประจำการและถึงแม้จะอยู่ในที่สูงที่สุดคือเขตดอนเมือง ก็ยังหนีไม่พ้นน้ำท่วม จึงมีโอกาสได้ออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้ออกมาแจกข้าว แจกน้ำ แจกถุงยังชีพ จังหวะนี้จึงได้เห็นคนมีเงิน ใส่แหวนเพชร ใส่ทองเต็มตัว อยู่คอนโดหรู ตึกสูงๆ ยื่นมือมาขอน้ำจากทหารจนๆ คนหนึ่งกิน บอกว่า "ขอน้ำให้ป้ากินหน่อย ป้ากำลังจะตายอยู่แล้ว" ผมจึงมองเห็นถึงปัญหาความอดยากเพิ่มเติม นี่จึงเป็น Rare Crisis 4 เรื่องที่เจอ จึงคิดว่าถ้าเจอวิกฤติแบบนี้ต่อไปคนเราจะอยู่ได้อย่างไร และเหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้นครั้งเดียวแน่ๆ จากที่คิดอยากฝากชีวิตทำงานในเมืองนี้หลังปลดประจำการ ก็มุ่งตรงกลับสู่บ้านไปแบบคนว่างงานคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้พ่อ-แม่ภูมิใจ กลายเป็นภาระให้พ่อแม่ทั้งกินเก่งและใช้เงินเก่งตามประสาเด็กวัยรุ่น จึงรู้สึกไม่ดีกับตัวเองตรงที่พ่อแม่ทำงานเสียเงินส่งเราเรียนจนจบสูงขนาดนี้แล้วยังต้องมานั่งดูแลเราหลังเรียนจบอีก เลยมองหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองมีงานมีคุณค่า พอเริ่มคิดก็เกิดความเครียด เพราะจะไปทำงานในเมืองก็เจอกับปัญหาภัยพิบัติ ไปเป็นลูกน้องเขาก็คงทนไม่ได้นานด้วยมีความอดทนต่ำ ในช่วงที่กำลังไตร่ตรองเกี่ยวกับชีวิตตัวเองอยู่นี้ ได้เห็นพฤติกรรมการจ่ายตลาดของแม่ ที่จะต้องซื้อวัตถุดิบทุกอย่างมาทำอาหารทาน ไม่ว่าจะเป็น พริก กระเพา ผัก ข้าว น้ำมัน น้ำมา หมู ไข่ ฯลฯ ซึ่งแม่จะเป็นคนบ้าจ่ายตลาดอยู่แล้ว เวลาออกตลาดทีจะหิ้วของมาเต็มสองมือพะรุงพะรัง ก็มาคิดว่าเราจะกินทั้งทีต้องซื้อหาทุกอย่างทั้งๆ ที่ที่ดินมรดกของปู่ย่าตายายเราก็มีตั้ง 25 ไร่ จะปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าอยู่ทำไม สู้ลุกมาปลูกข้าว ปลูกผัก ไว้ให้คนในครอบครัวได้กินอิ่มจะดีกว่า จึงเดินไปปรึกษาตาที่เป็นเสมือนคลังความรู้และภูมิปัญญาเคลื่อนที่ขนาดใหญ่ว่า จะปลูกข้าวไว้ให้คนในบ้านกินนี่ต้องทำอย่างไร ตาก็ให้คำแนะนำมาตามภูมิปัญญาโบราณว่า จะต้องปลูกข้าวช่วงไหนฝนจะมาหรือจะได้ผลผลิตดี เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานการเกษตรจำต้องอาศัยน้ำฝน ผมก็ทำตามคุณตาบอก จึงพบว่า การเกษตรช่วงแรกๆ นั้นมันง่ายมาก แค่หว่านข้าวลงไปในดินแห้งๆ ตามที่ตาบอก 1-2 วันฝนก็ตกให้ข้าวได้งอกงาม นอนรอไปอีก 3-4 เดือนก็ได้เก็บเกี่ยวแล้ว นี่จึงเป็นเส้นทางแห่งความสุขที่ผมค้นพบและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ "ไร่พ่วงสุข" ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน"

การบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร : มีการดำเนินการแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน คือ การออกแบบพื้นที่ชีวิตโดยใช้หลักการออกแบบภูมิสังคม ภูมิสถาปัตย์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมในการทำการเกษตรแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในชุมชน และปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมยามหน้าฝน มีการขุดสระน้ำและคลองไส้ไก่เพื่อรับน้ำฝนที่ตกมาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นำดินที่เกิดจากการขุดสระน้ำมาถมเป็นพื้นที่สูงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างตามศาสตร์พระราชาและการปลูกไม้ 5 ระดับ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในเขตพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยมีทฤษฎีการจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา แบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ คือ
ส่วนที่ 1 พื้นที่รับน้ำได้แก่ คลองไส้ไก่และบ่อน้ำขนาดใหญ่ 4 บ่อเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี
ส่วนที่ 2 พื้นที่ป่าพื้นที่ป่าถูกจัดให้อยู่ในบริเวณพื้นที่สูงรอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม ป่าแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ระดับแรกเรียกว่าป่าไม้ขนาดใหญ่อยู่ล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันลมพายุสารพิษและมลภาวะต่างๆ
ส่วนที่ 3 ต่อมาเป็นพื้นที่นาข้าว ทำหัวคันนาขนาดใหญ่สำหรับปลูกพืชผลป่าไม้ไม่เพียงแต่ทำหน้าอย่างเดียวบนหัวคันนายังมีกับข้าวไว้กินได้ตลอดปี
ส่วนที่ 4 ที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์

ให้นึกถึงเรา "ไร่สุขพ่วง" เราพร้อมส่งต่อความสุขผ่านผลิตภัณฑ์อารมณ์ดี ที่จะทำให้ทุกชีวีเบิกบาน
การแปรรูป : เนื่องจากมีกำลังการผลิตด้านวัตถุดิบที่น้อย ทางไร่จึงมุ่งเน้นมาที่ขบวนการแปรรูปและนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไร่สุขพ่วงมีแนวคิด คือ การกลับไปค้นหาทุนหรือสิ่งที่มีมากอยู่แล้วในชุมชนเป็นตัวตั้งต้น เป็นฐานทรัพยากรเดิม ที่จะนำมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านและนวัตกรรมสมัยใหม่ทำให้สิ่งที่ดูธรรมดาเกิดมีคุณค่าและมีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ในไร่จะมีกล้วยอยู่เยอะมาก เพราะต้องปลูกไว้เป็นอาหารให้แก่ปลา ไก่ และ หมูที่เลี้ยงอยู่ ดังนั้น จึงนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนำกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์มะลิอ่องที่มีความหวานสูงไปตากในโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนตปราศจากฝุ่นละอองและเชื้อโรค ทำให้ได้กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีสีสวยงาม รสชาติหวานฉ่ำตามธรรมชาติ และเนื่องจากในพื้นที่ชุมชนนั้นมีการปลูกอ้อยน้ำตาลกันมานานและปลูกกันมาก แต่คุณภาพชีวิตยังไม่ดีขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบที่มีอยู่มากในชุมชน ด้วยการนำมาแปรรูปเป็น น้ำตาลอ้อย ซึ่งได้จากการนำอ้อยที่ปลูกแบบอินทรีย์มาคั้นน้ำ เคี่ยวในกระทะแบบพื้นบ้านโดยเตาแบบประหยัดพลังงาน แล้วจะได้น้ำตาลออกมา 3 ประเภท คือ
1. น้ำตาลอ้อยไซรัป ใช้สำหรับเครื่องดื่มชากาแฟและเบเกอรี่
2. น้ำตาลอ้อยแบบปี๊บ ใช้สำหรับทำกับข้าวอาหารไทยและขน มไทย
3. น้ำตาลอ้อยแบบผงใช้สำหรับเครื่องดื่มที่ไม่ต้องการกลิ่นอ้อยรบกวน
- ทองม้วนกล้วย รสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตามแบบฉบับของไร่สุขพ่วงที่ได้จากส่วนผสมของไข่ไก่อารมณ์ดี มีรสชาติหวานมัน,น้ำตาลอ้อยอินทรีย์วิถีไทย,กล้วยหอมอินทรีย์จากปลายไร่และฟักข้าว เมื่อนำผลผลิตมารวมกันก็จะกลายเป็นทองม้วนที่มีกลิ่นหอมของกล้วย ความหวานจากน้ำตาลอ้อยธรรมชาติและสรรพคุณสมุนไพรจากฟักข้าว
- ชาย่านาง เกิดจากป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง 1 ป่าไม้กินได้ 2 ป่าไม้ใช้สอย 3 ป่าไม้ขนาดใหญ่ เมื่อมีป่า 3 อย่างเกิดความสมบูรณ์ขึ้น เกิดสมุนไพร คือ ต้นย่านางที่มีมากในท้องถิ่นและเป็นสมุนไพรของคนไทยที่ใช้กันมาช้านานช่วยในการล้างพิษในร่างกายปรับสมดุลลดอุณหภูมิในร่างกายช่วยลดไข้จะได้นำย่านางมาแปรรูปให้สามารถบริโภคได้ง่ายสะดวกโดยแปรรูปเป็นชาผสมใบเตยให้มีความหอมยิ่งขึ้น

กับชุดควบคุมการปล่อยน้ำหมุนเวียนให้แปลงผักในตะกร้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
มาตรฐานการแปรรูปภายใต้อินทรีย์วิถีไทย หรือ EarthSafe Standard : คือ แนวทางและกระบวนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำหรับผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จนถึงการรักษาคุณภาพที่ดีที่สุดจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค กลไกดังกล่าวถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานและภาคีเครือข่ายภายใต้มูลนิธิ รักษ์ดิน รักษ์น้ำ (EarthSafe Foundation)
มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย มุ่งเน้นในการเป็นตัวชี้วัดที่ครอบคลุมกระบวนการผลิต พืช ผัก และผลไม้ที่ไม่มีการใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยที่ผู้บริโภคตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน และการมีวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ดังนั้น ข้อกำหนดมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย จึงประกอบด้วยการมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1.การผลิตพืชผัก ผลไม้ในรูปแบบที่ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ มาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการผลผลิตบนพื้นฐานของวิถีธรรมชาติ(หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเกษตรอินทรีย์) โดยมีปัจจัยชี้วัดสำคัญ คือ
- ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูหรือป้องกันศรัตรูพืช และสารเคมีกำจัดวัชพืช
- ไม่ใช้พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม(GMOs)
- สามารถเปิดเผยและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับกระบวนการผลผลิตได้อย่างมีรูปธรรม
- คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่ มีการกำหนดหน่วยมลภาวะและมีการทดแทนคุณค่ากลับสู่ดิน น้ำ และป่าอย่างเป็นระบบ
2.การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ ต้องไม่ปลูกเพื่อขายผลผลิตทั้งหมดเพียงอย่างเดียว เกษตรกรต้องปลูกพืชไว้บริโภคในครอบครัว เมื่อเหลือจึงแบ่งปัน เมื่อเหลือจากการแบ่งปันจึงรวมกันขาย สร้างภูมิคุ้มกันในคุณภาพชีวิต และลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในตลาดที่ขาดความโปร่งใสและไร้คุณธรรม

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นนำมาใช้ : ได้แก่
1. โรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง มีระบบพัดลมระบายอากาศและดูดอากาศสามารถตากผลผลิตในวันที่แดดอ่อนผลผลิตมีคุณภาพสะอาดปราศจากฝุ่นละอองและเชื้อโรค
2. เตาประหยัดพลังงานที่ใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย คือพลังงานจากป่าไม้ใช้สอยเช่นไม้ไผ่โดยใส่ไฟแค่ที่เดียวสามารถทำให้กระทะสามใบร้อนพร้อมกันได้โดยหลักการดูดอากาศอากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นไปที่ปล่องควันอากาศเย็นแทนที่เข้าที่หน้าเตาทำให้เกิดลมพัดเปลวไฟผ่านกระทะทั้งสามใบให้ร้อนพร้อมกัน
3. ปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ เทคโนโลยีการใช้แผงโซล่าเซลล์ปั๊มน้ำเข้าไปในแปลงผักโดยสามารถตั้งเวลาการปั๊มน้ำได้
4.แปลงผักอัจฉริยะจากไร่สุขพ่วงแบบ 4.0 กับชุดควบคุมการปล่อยน้ำหมุนเวียนให้แปลงผักในตะกร้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ปราศจากสารปรุงแต่งที่เป็นโทษต่อร่างกาย
การตลาด : การกำหนดราคาสินค้าใช้การกำหนดราคาแบบเป็นธรรมโดยคำนวณจากต้นทุนผลผลิตและเทียบราคาจากท้องตลาด มีการจัดทำบรรจุภัณฑ์และการสร้างคุณค่าของตราสินค้า(แบรนด์)
ตาม Concept แบรนด์ "ไร่สุขพ่วง" นั่นคือ การแบ่งปันความสุขวิถีชีวิตที่เกิดจากความพอเพียงส่งต่อผ่านผลิตภัณฑ์สะท้อนความรู้สึกสู่ผู้บริโภค แบรนด์จึงเป็นมากกว่าตราสินค้าแต่เป็นตัวตนของผู้เดินตามรอยพระบาทตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ออกมาเป็นรูปธรรม ด้าน Package ออกแบบโดยเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(ECO Packaging) ผ่านการออกแบบโดยมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe Foundation และ ปริ้นด้วยตัวเอง ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบรรจุภัณฑ์กรรมวิธีการผลิตและข้อมูลอย่างละเอียดให้ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะส่งต่อความสุขให้กับทุกคน
การจัดการโลจิสติกส์ : การจัดส่งสินค้าการจัดจำหน่ายผ่านทางบริษัทขนส่งของรัฐและเอกชนด้วยช่องทางการขนส่งที่รวดเร็วส่งสินค้าถึงมือลูกค้าภายใน 3 ถึง 7 วัน และ จัดจำหน่ายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- จัดจำหน่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ https://www.facebook.com/PotRaiSukPhoang/
- จัดจำหน่ายที่ Farmer Market และตลาดนัดชุมชน
การแข่งขันทางการตลาด : ด้วยเป็นธุรกิจที่เริ่มจากการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เพื่อการแข่งขันแต่เป็นการแบ่งปันโอกาสทางธุรกิจที่พยายามสร้างพันธมิตร เช่น เครือข่ายเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกคล้ายกันและผลิตเหมือนกันเกิดการรวมกลุ่มเพื่อให้ได้มาตรฐานราคาและอำนาจการต่อรองตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกรวมตัวกันผลิตรวมตัวกันแปรรูปและรวมตัวกันทำตลาด

ได้จากการเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ ปราศจากยาปฏิชีวนะ
การประใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเกษตร :
มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเก็บข้อมูล การเพาะปลูกพืชตั้งแต่เริ่มปลูก สถานที่ที่ปลูก โดยใช้พิกัดดาวเทียม ในการบ่งบอกสถานที่ เมื่อเริ่มการเพาะปลูกมีการจดบันทึก พฤติกรรมการเพาะปลูก ลงบนสื่อออนไลน์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบ วิธีการผลิต ในเวลาจริง เป็นการเปิดเผย กระบวนการให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ เพื่อความน่าเชื่อถือ และส่งเสริมการตลาดเกิดการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว จะรู้ถึงปริมาณของผลผลิต ช่วงเวลาที่จะเก็บเกี่ยว สามารถคำนวณปริมาณผลผลิตช่วงเวลาได้อย่างแน่นอนและแม่นยำ
เมื่อได้ผลผลิตนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปผลผลิตเพื่อให้มีมูลค่าสูงขึ้นเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้นคุณประโยชน์เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการแปรรูปน้ำตาลอ้อยโดยใช้เครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของน้ำตาลความหวานความชื้น ด้วยเครื่องมือวัดที่ทันสมัยทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพที่แน่นอน ช่วยลดขั้นตอนเวลาและแรงงานซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นอกจานี้ยังมีเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์เพื่อให้อายุของผลผลิตยืนยาว ไม่เกิดความเสียหายมีการบรรจุในการฆ่าเชื้อเทสเครื่องจักรที่ทันสมัย
เพื่อเตรียมตัวพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ"
แผนการพัฒนาการเกษตรในอนาคต :
แผนการพัฒนาในอนาคตของไร่สุขพ่วงศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ครบวงจรให้กับเกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป สร้างหลักสูตรต่อเนื่อง ให้มีที่พัก ตลอดจนการอบรม โดยจะ ขอความร่วมมือจากศูนย์การเรียนรู้ ที่มีวิทยากรชำนาญการเฉพาะด้านเข้ามาเป็นภาคีในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เปิดเป็นฐานการเรียนรู้ให้ครบ ทุกมิติ ทั้งอาหาร พลังงาน เครื่องใช้สอย ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค การดูแลสุขภาพ
เมื่อธุรกิจกำลังเดินหน้าสู่อนาคตไร่สุขพ่วงศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทยจะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับตัวเองแต่จะเป็นธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้กับผู้อื่นวันนี้เราค้นพบว่าการแบ่งปันเป็นเงื่อนไขสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในอนาคตเราจะกระจายศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาขยายเครือข่ายพันธมิตร เครือข่ายเกษตรกรที่ยังมีความศรัทธาช่วยกันสร้างตัวอย่างความสำเร็จอย่างที่ไร่สุขพ่วงได้ทำเป็นเวลากว่า 7 ปีให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย.
นายอภิวรรษ สุขพ่วง
"วิสาหกิจชุมชน ไร่สุขพ่วง"
บ้านเลขที่ 107 หมู่ 10 ตำบลจอมบึง
อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี 70150
โทรศัพท์ 08-9379-8950
FB : Aphiwat Sukphoang
FBP : ไร่สุขพ่วง : Rai Sukphoang