เกษตรกรต้นแบบ
"สิริพร เที่ยงสันเที๊ยะ สาวน้อยเลือดชาวนา
พลิกวิถีการซื้อ-ขายข้าวโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง"
คุณสิริพร เที่ยงสันเที๊ยะ  จ. สุพรรณบุรี ปี 2560
ความเพียรพยายาม เปรียบเสมือนจุดประเล็กๆ
ที่ต้องอาศัยความอดทนเป็นเส้นเชื่อมต่อ
เพื่อให้เกิดภาพร่างความสำเร็จอันสวยงาม

สิริพร เที่ยงสันเที๊ยะ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2560

ในยุคที่ข้าวเปลือกมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในประวัติศาสตร์อันบาดใจคนทำนาจนต้องบันทึกลงในจิตให้ใจจำไปจนตายว่าในปี พ.ศ.2560 นี้ ข้าวที่ชาวนาไทยเฝ้าปลูกดูแลมานานหลายเดือนมีราคาตกต่ำกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ จนหลายคนต้องท้อถอยและถอดใจ หลายพื้นที่ปล่อยให้ผืนดินท้องทุ่งนาอันเคยอุดมด้วยต้นข้าวออกช่อชูรวงตลอดปี กลายเป็นทุ่งหญ้าร้างแทนที่ต้นข้าวเขียวขจีเพราะขืนทำนาต่อไปก็มีแต่จะขาดทุนเพิ่มหนทางตันให้ชีวิตหนักกว่าเดิม "ทุกข์ของชาวนา" ในวันนี้ จึงไม่มีอะไรหนักหนาไปกว่าราคาผลผลิตตก จนไม่อาจทนก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไปได้อีกไหว สถานการณ์ด้านราคาผลผลิตข้าวของชาวนาเป็นแบบนี้ทุกปี จนมีนักวิชาการเสนอทางออกให้ชาวนาหันมาจับกลุ่มขายข้าวกันเองเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติเรื่องราคาที่ส่งผลกระทบต่อปากท้องคนทำนา แต่การตีแบรนด์ข้าวจำหน่ายเองใช่ว่าจะประสบความสำเร็จกันได้ทุกรายไป เพราะนอกจากจะต้องมาแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่แล้ว ยังต้องมีการจัดการด้านอื่นๆ อีกหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจดทะเบียนเป็นผู้ค้าข้าว การยื่นขอ อย.ที่ต้องเสียเงินต่ออายุกันทุกปี ค่าทำการตลาด ค่าโฆษณา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และอีกฯลฯ ในยุคที่ผู้บริโภคฉลาดมากขึ้นแบบนี้ กว่าจะลุกขึ้นตั้งหลักกันได้ ข้าวเปลือกข้าวสารที่ตุนไว้ก็อาจเต็มไปด้วยมอดก่อนเป็นแน่แท้

ความสุขแบบบ้านทุ่งคือการได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางทุ่งนา
เฝ้าดูกล้าข้าวเติบโตเป็นผลผลิตคุณภาพ เพื่อสุขภาพอันดีของผู้บริโภค



พร สิริพร เที่ยงสันเที๊ยะ สาวสวยสายเลือดชาวนา วัย 31 ปี กลับไม่หวั่นใจกับราคาข้าวที่ผันผวนไปตามนโยบายทางการเมือง ยอมทิ้งชีวิตตอกบัตรมาก้มหน้าปักกล้าลงบนผืนนา เปลี่ยนนาเคมี เป็นนาอินทรีย์ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีที่ไม่ได้มีดีแค่สีสวย แต่สามารถทำให้สวยงามและสุขภาพดีกันมาตั้งแต่อวัยวะภายใน ตลอดจนแปรรูปผลผลิตบรรจุจำหน่ายตีตราเป็นแบรนด์ชวนจำว่า "ไร่พวงทรัพย์"มีพิกัดที่ตั้งอยู่ที่ 306/2 หมู่ 3 ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี 72130 จนผงาดยืนอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติปัญหาด้านราคาข้าวที่กำลังจะจมดิ่งลงสู่ผืนธรณี

แปลงนาข้าวไรซ์เบอร์รีอินทรีย์ ชูช่อรอวันเก็บเกี่ยว


กว่าจะมาเป็นไร่พวงทรัพย์ : "ตั้งแต่จำความได้ก็ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางไอดินกลิ่นท้องนา ติดตามพ่อแม่ออกท้องทุ่งไปช่วยพ่อแม่ทำนาหว่านกล้า ปักดำ เก็บเกี่ยวและตากข้าวมาตลอด กลิ่นนาข้าวจึงเป็นกลิ่นที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ เพราะในยุคสมัยนั้นยังไม่มีเคมีเข้ามามาก กลิ่นข้าวในนาจึงเป็นกลิ่นหอมของดินนาที่มีต้นข้าวเติบโตงอกงามให้ชวนจำ พอเรียนจบ ปวช.ด้านการตลาด ก็มุ่งเข้ากรุงทำงานเหมือนหนุ่มสาวคนอื่น จากชีวิตที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติก็ต้องไปคลุกคลีอยู่กับฝุ่นและควันพิษใน กทม. นานหลายปี จนร่างกายออกอาการภูมิแพ้ รับไม่ไหวกับสภาพอากาศของเมืองกรุง จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาสานต่อการทำนาที่บ้านเกิด โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ด้วยการเริ่มต้นปลูกข้าวหอมปทุมธานี 1 แต่ทำนาเองครั้งแรกก็ต้องเจอกับวิกฤติปัญหาเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่กำลังระบาดหนัก จำต้องใช้สารเคมีในการกำจัดมากขนาดที่ว่าต้องฉีดพ่นกันทุกๆ 3 วัน มีทั้งหยดยาลงน้ำ การใช้ยาเขย่า เช่น ยาฝุ่น เขย่าลงบนกอข้าว เพื่อไล่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พอต้องใช้เคมีหนักๆ เข้า จึงรู้สึกว่าข้าวพวกนี้เหมือนข้าวอาบยา แล้วเราจะทานเข้าไปอย่างไร ทำไมต้นทุนในการผลิตถึงมีมากขึ้น จึงเริ่มปรับมาเป็นเกษตรอินทรีย์นับจากวันนั้นมา ก็มุ่งสู่การทำนาอินทรีย์ และพัฒนาการผลิตจนสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดได้ ทั้งยังช่วยทำให้คนในชุมชนมีงานทำ
ไม่คิดจะหวนคืนสู่เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยการจราจรติดขัด รถราหนาแน่นและผู้คนแออัดอีกเลย "

จากคนปลูกข้าวขายส่งพ่อค้าคนกลาง ก็ปรับเปลี่ยนมาสู่การสี แพ็คบรรจุ
และทำตลาดเองภายใต้แบรนด์"ไร่พวงทรัพย์"


ภาพรวมการผลิต : จากประสบการณ์ในการทำนาข้าวหอมปทุม ข้าว กข.อายุสั้น มักจะเจอแต่ปัญหาทั้งโรค แมลง ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้งและราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้มีต้นทุนสูง และไม่ได้ป็นการทำนาข้าวอินทรีย์ จึงมีการใช้สารเคมีปริมาณมากต้นทุนในการผลิตจึงมีสูง เมื่อราคาผลผลิตตก ผลตอบแทนที่ได้รับจึงไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยที่ลงแรงไป ในปี พ.ศ.2556 จึงมีการแบ่งแปลงนามา 10 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 100 ไร่ แล้วแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อทำนาข้าวไรซ์เบอรี่และข้าวหอมมะลิ ปลูกชะอมกับกล้วยน้ำว้า เพื่อทำเป็นรายได้เสริมของครอบครัว เพื่อทดลองทำอะไรที่ต่างไปจากวิถีเดิมๆ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำข้าวไรซ์เบอร์รีที่กลายมาเป็นการเปลี่ยนวิถีการทำนาไปด้วยในตัว จากที่เคนทำนาเคมีก็ปรับมาสู่นาอินทรีย์เพื่อใช้ทานในครอบครัวก่อน ในฤดูกาลถัดไปก็ลองทำซ้ำเดิมอีก จนค้นพบแนวทางทรี่ใช่และมั่นใจในหนทางที่จะเดินตต่อไปข้างหน้า จากที่ปลูกเพื่อทานเองในครัวเรือนก็เริ่มขยับมาสู่การลองทำตลาดข้าวสุขภาพ จากชาวนาถึงชาวบ้านโดยตรงปรากฏว่าได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี จึงขยายแปลงนาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่เพิ่มเติมในเขตอำเภอสามชุกและอำเภอหนองหญ้าไซ เป็นการผลิตข้าวภายใต้มาตรฐาน GAP และนำข้าวจากทุ่งนาตัวเองมาแปรรูปและสีขายภายใต้ชื่อแบรนด์ "ไร่พวงทรัพย์" ต่อมาได้มีการนำไปคัดสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP จนได้รับการการันตีว่าเป็น OTOP 5 ดาว ในปี พ.ศ. 2559 จากการเพาะปลูกที่มาจากความใส่ใจ และตั้งใจที่จะผลิตข้าวปลอดภัยส่งให้ถึงมือคนไทย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพดี

ควบคุมคุณภาพผลผลิตทุกขั้นตอน ใส่ความตั้งใจดีลงไปในทุกเมล็ด


นับจากนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนแปลงนาข้าวเคมีมาเป็นนาข้าวมาตรฐาน GAP และ Organic โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมมะลิ105 พืชผักอายุสั้น และ ทำข้าวอายุสั้นพันธุ์ กข.41 เพื่อส่งตรงให้คนเลี้ยงปลาโดยไม่มีการผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะขายในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ปัจจุบันได้ทำการยื่นขอจด Organic Thailand เพื่อทำพื้นที่นาทั้งหมดให้เป็นนาอินทรีย์ ลด ละ เลิก ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด


การวางแผนการผลิต : มีการผลิตข้าวภายใต้มาตรญาน GAP และ Organic Thailand ในพื้นที่ของตนเองก่อน เพื่อนำมาแปรรูปและสีโดยโรงสีข้าวนอกพื้นที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ "ไร่พวงทรัพย์" โดยเน้นใช้แรงงานคนในชุมชน แล้วนำไปจำหน่ายตามช่องทางต่างๆ ส่วนปลายและจมูกของข้าวจะไปตากแล้วอบแห้งทำเป็นจมูกข้าวพร้อมดื่ม ซึ่งมีต้นทุนในการจัดการประมาณไร่ละไม่เกิน 3,000 บาท

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ "ไร่พวงทรัพย์" ทานอร่อยทุกคำ ดำทุกเมล็ด



การบริหารจัดการ :เน้นควบคุมคุณภาพการผลิตตั้งแต่อยู่ในสภาพไร่ โดยแบ่งการบริหารจัดการเป็นดังนี้

1.เลือกเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ไม่ปนกับสายพันธุ์อื่น จะช่วยค่าใช้จ่ายในการข้างตัดพันธุ์ปนลงได้

2.เลือกรอบการผลิตให้ตรงรอบการผลิต เช่น รอบนาปี รอบนาปรัง เนื่องจากข้าวไรซ์เบอรี่เป็นข้าวเมล็ดสีดำ ช่วงการผลิตจึงมีผลต่อคุณภาพการเกิดเม็ดสี หากเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ช่วงรอบนาปี จะทำให้ได้ข้าวที่มีเมล็ดดำมันวาว เพราะป็นช่วงที่มีอากาศชื้นและเย็น ที่เหมาะสมต่อการสร้างเม็ดสี ผลผลิตที่ได้จะสูงถึง 80 -90 ถังต่อไร่ หากไปเพาะปลูกในช่วงนาปรัง จะมีผลต่อการเกิดเม็ดสีค่อนข้างมาก เพราะข้าวจะออกสีแดงมากกว่าดำ ผลผลิตที่ได้น้อยลงครึ่งหนึ่งหรือได้ประมาณ 40 – 50 ถังต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีโรคและแมลงรบกวนมาก จึงควรเลือกช่วงเพาะปลูกที่เหมาะสม

3.อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ องเลือกใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนและไม่ให้ต้นข้าวหนาแน่นจนเกินไป เพราะถ้าปลูกหนาแน่นไปจะยากต่อการควบคุมโรคและแมลง ซึ่งทาง “ไร่พวงทรัพย์” จะเลือกใช้ในอัตรา 10 – 15 กิโลกรัมต่อไร่

4.มีการควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสมเพื่อควบคุมหญ้าในนาข้าวและกำจัดหญ้าวัชพืชตามคันนา เพื่อให้สะดวกต่อการทำงาน และไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง

5.ควบคุมประมาณปุ๋ยคอก(ขี้หมู)ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเป็นปุ๋ยที่ปริมาณมีไนโตรเจนสูง หากใช้มากเกินไปจะทำให้ในข้าวงามใบ แต่ไม่ต้านทานโรคแมลง

6.ป้องกันการปลอมปนของข้าวด้วยการทำความสะอาดรถเกี่ยวข้าว รถขนข้าว ให้หมดจดก่อนจะนำมาใช้ในแปลงนาข้างไรซ์เบอร์รี

7.ควบคุมการกระบวนการตาก เช่น ลานจากข้าว ต้องกวาด ทำความสะอาดเอาหิน ทราย เศษใบไม้ออก เพื่อจะได้ไม่มีหิน กรวด ปนในข้าวเปลือกที่จะนำไปตาก สี และ บรรจุจำหน่าย

8.ควบคุมเปอร์เซ็นต์ความชื้นให้ข้าวไรซ์เบอรี่ ณ ลานตาก โดยความชื้นที่ตากไม่ควรเกินหรือต่ำกว่า 14 % เพื่อลดการเกิดข้าวท่อนในขั้นตอนการสีและจะได้ข้าวต้นในปริมาณสูง ไม่ควรตากหลายแดดหรือนานเกินไปเพราะเมื่อนำไปสี เยื่อหุ้มเมล็ดสีดำจะหลุดออก

ความสุขอยู่ไม่ไกล แค่พาตัวพาใจกลับมาอยู่บนผืนแผ่นดินเกิด



การแปรูป : ทาง "ไร่พวงทรัพย์" มีการแปรรูปสินค้าเป็น 2 ชนิด คือ

1. ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่อัดสุญญากาศ ไร่พวงทรัพย์

2. จมูกข้าวไรซ์เบอรี่พร้อมชง ไร่พวงทรัพย์

ซึ่งมีต้นทุนในขั้นตอนการแปรรูป ประมาณการณ์ได้ดังนี้

- ข้าวเปลือกไรซ์เบอรี่ 1 กก. 15 – 20 บาท
- ค่าจ้างสีข้าว 1 กก. 2 บาท
- ค่าถุงแพ็คข้าว 1 ใบ 3 บาท
- ค่าแรงงานจ้างแพ็ค 1 กก. 2 บาท
- ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ค่าเสื่อมสภาพ ค่าสึกหรอ 5 บาท
- ต้นทุนการผลิตข้าวไรซ์เบอรี่ จำนวน 1 กก ประมาณ 27 – 32 บาท

ด้านราคาขายข้าวไรซ์เบอรี่ที่ขายได้จะอยู่ที่ 50 – 60 บาทต่อกิโลกรัม

การควบคุมภาพการผลิตและการแปรรูปจะเน้นที่

1.สูบลักษณะสี เช่น กระสอบบรรจุข้าวสารที่ดี ต้องเป็นกระสอบขาวและใหม่ กระสอบปุ๋ย

2.การสีข้าว

3.สถานที่บรรจุ สถานที่แพ็ค ต้องมีอากาศถ่ายเท

4.การแต่งกาย ต้องเก็บผม ใส่ถุงมืออนามัย

5.การแพ็คควรทำความสะอาดถุง ที่ตวง ตาชั่ง ก่อนทำการบรรจุ

ภายในขั้นตอนนี้มีเทคนิควิธี เพื่อคงคุณภาพผลผลิต คือ

1.การสีข้าว ควรเป้นข้าวเปลือกอยู่ที่ความชื้นประมาณ 14 % เพราะสีจะไม่ถลอก และได้ข้าวคัด ลดปัญหาข้าวหัก ข้าวปลาย ข้าวท่อน

2.ควรสีข้าวเปลือกใหม่ ต่อรอบการสั่ง ควรเก็บสต็อกเป็นข้าวเปลือกเพื่อคงความใหม่ ความหอม ในการแพ็ค

3.หลังจากที่สีข้าวสารมาแล้ว จะมีปัญหาคือมดขึ้น การป้องกันโดยไม่ใช้เคมี คือ นำข้าวสารที่สีไว้ใส่กระสอบสะอาดวางซ้อนกันให้เป็นวงกลม

ผลผลิตสดใหม่ตัดสต๊อกขายหมดทุกปี



การกำหนดราคา :

- ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ มาตรฐานข้าวเปลือก GAP อัดสูญญากาศ จำนวน 1 กก. ราคา 50 บาท/แพ็ค

- ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ มาตรฐานข้าวเปลือก GAP (ตักขายข้าวสาร) จำนวน 1 กก. ราคา 38 บาท/แพ็ค

- ข้าวหอมมะลิ มาตรฐานข้าวเปลือก GAP สุญญากาศ จำนวน 1 กก. ราคา 25 บาท/แพ็ค


การจัดการโลจิสติกส์ :

- การจัดส่งของไร่พวงทรัพย์ ยังใช้วิธีการไปส่งถึงมือลูกค้าโดยตรง และกระจายสินค้า ด้วยวิธีการตั้งร้านค้าเล็กๆ ไว้ที่บ้านขายส่งและปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook เพจ Line เว็บ และ การออกบูทต่างๆ

การแข่งขันทางการตลาดและคู่แข่งทางธุรกิจ : ขณะนี้เริ่มมีนายทุนเข้ามาในพื้นที่ มีการมาลงทุนให้ชาวบ้านทำนาข้าวไรซ์เบอรี่และรับซื้อคืนแต่ต้องใช้ปุ๋ย ยา เคมี ของนายทุน และนายทุนพวกนี้ยังทำการซื้อขายตัดราคาข้าว ORGANIC อีกด้วย นี่จึงกลายเป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่สกคัญ

บริโภคข้าวอินทรีย์จากมือชาวนา เกิดคุณค่าทั้งคนทานและคนทำ



การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อโซเชียลมีเดีย :

สำหรับการผลิตข้าวไรซ์เบอรี่ของ "ไร่พวงทรัพย์" ได้ใช้สื่อโซเซียลมีเดียเป็นหลักในการหาข้อมูลการเกษตรและช่องทางการตลาด ตลอดใช้ในการช่วยหาวิธีการแก้ปัญหาด้านโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ดี รวมไปถึงสูตรปุ๋ย ฮอร์โมน ตามวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่จะนำมาใช้ในการจัดการเพื่อการลดต้นทุน ซึ่งนอกจากจะได้ข้อมูลความรู้เพิ่มขึ้นแล้วยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากรายด้วย


การสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภายนอก :

- การสร้างเครือข่ายของไร่พวงทรัพย์ คือการชวนคนที่สนใจ ชาวนาที่ทำนาแบบ GAP และ ORGANIC มาปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษ และรับซื้อคืนตามข้อตกลง

- การให้หน่วยงาน เช่น กรมการข้าว มาแนะนำ มาพูดคุย รับฟังปัญหาช่วยลดปัญหาในการทำนา GAP และ ORGANIC กับลูกกลุ่ม เครือข่าย

- การรวมเครือข่ายกัน พัฒนาชุมชน ในพื้นที่


แผนการพัฒนาการเกษตรในอนาคต : ไร่พวงทรัพย์ จะหันมารุกเรื่องการตลาดให้มากขึ้น โดยจะขยายเครือข่ายเพิ่มลูกไร่ รองรับการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รีอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ "ไร่พวงทรัพย์" เพื่อการขายส่งในปริมาณมาก ภายใต้การจัดจำหน่ายของ "นาย ก ค้าข้าว" ในระยะยาวคาดว่าจะต้องขยายแรงงาน และต้นทุนในการผลิตเพิ่มเติมขึ้นด้วย

เกียรติประวัติและผลงาน :

- ปี พ.ศ.2559 "ข้าวไรซ์เบอร์รีไร่พวงทรัพย์" ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว

- ปี พ.ศ.2559 ได้รับการรับรอง "มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวเปลือก(GAP) เลขที่ กษ.09-4401-72-001-000027 GAP

ข้อมูลการติดต่อ

สิริพร เที่ยงสันเที๊ยะ
"ไร่พวงทรัพย์"
บ้านเลขที่ 306/2 หมู่ 3 ตำบลสามชุก
อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี 72130
โทร. 08-0435-2429
FB : สิริพร เที่ยงสันเที๊ยะ

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด