เกษตรกรต้นแบบ
"นวลลออ เทอดเกียรติกุล สุดยอดนักจัดการสาวอารมณ์ดี
แห่งสวนพืชหอม Aromatic Farm"
คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล  จ. ราชบุรี ปี 2560
ความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้สิ่งที่เหมือนกันดูแตกต่าง
แต่ความพิถีพิถัน จะทำให้เกิดความแตกต่างบนมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

นวลลออ เทอดเกียรติกุล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2560

จะมีสักกี่คนที่สามารถสรรค์สร้างสิ่งที่เหมือนกันให้ดูแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และลงตัวได้บนมูลค่าที่ต่างออกไป จนสามารถหยัดยืนอยู่ได้ท่ามกลางความเหมือน และการรอการลอกเลียนแบบซึ่งมีอยู่มากมายบนโลกใบนี้ เพราะทุกคนมักจะเคยชินกับการทำตามกันมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อที่บอกเล่ากันมาแบบปากต่อปาก หรือวิธีการทำนั่น นี่ โน่น ที่มีแบบแผนวางไว้เป็นระบบขั้นตอน เช่น การจะปลูกต้นไม้จะต้องเริ่มจาก ขุดดิน ลงต้นกล้า กลบฝัง รดน้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดแมลง รอดู ต้นไม้เติบโต และ เก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งแน่ล่ะว่าบางวิธีการไม่สามารถเรียนลัดขั้นตอน แต่สามารถทำให้แตกต่างไปจากของเดิมได้โดยการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ดังเช่น มะพร้าวน้ำหอม พืชธรรมดาดั้งเดิมที่มีคนนิยมปลูกเชิงการค้ากันมาอย่างแพร่หลายและยาวนาน แต่ตลาดยังคงเติบโตต่อเนื่องมาได้เรื่อยๆ จนไม่มีใครคิดจะปรับเปลี่ยนอะไรให้มีความแปลกใหม่เกิดขึ้นในวงการนี้ เพราะต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการพัฒนาและอาจล้มตายก่อนได้ชื่นชมความสำเร็จก็เป็นได้

สภาพแปลงปลูกมะพร้าวน้ำหอม Aromatic Farm


หากแต่ไม่ใช่ ออน นวลลออ เทอดเกียรติกุล สุดยอดนักจัดการสาวอารมณ์ดี วัย 40 ปี จากสวนพืชหอม Aromatic Farm ที่เน้นปลูกแต่พืชกลิ่นหอม เช่น มะพร้าวน้ำหอม กล้วยหอม และ พืชผักกลิ่นหอมตามฤดูกาล อย่างพิถีพิถันและเอาใจใส่ทุกขั้นตอน ด้วยความที่เป็นคนละเอียดอ่อนประกอบกับมีพื้นความรู้ด้านการจัดการระดับปริญญาโท สาขาการจัดการทั่วไป จากมหาวิทยาลัยมหิดล จึงนำมาประยุกต์ใช้กับงานสวนที่ทำอยู่ ที่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี 70130 บนพื้นที่ 9 ไร่ 2 งาน ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 90%,กล้วยหอม 5% บริเวณท้ายสวนมะพร้าวและพืชผักที่มีกลิ่นหอม 5% บริเวณส่วนหน้าของสวนมะพร้าว ภายใต้การบริหารจัดการด้วยผู้ช่วยหลักในครอบครัว และผู้ช่วยรอง จากนิสิต
นักศึกษา ที่มาฝึกปฏิบัติงานกับทาง Aromatic Farm แบบต่อเนื่องตลอดทั้งปี มีการใส่ใจรายละเอียดถึงขั้น ตั้งชื่อต้นมะพร้าวพร้อมเก็บประวัติไว้ทุกต้น เพื่ออำนวยผลต่อการแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมเป็นผลควั่นสด,มะพร้าวน้ำหอมบรรจุขวดแก้วพร้อมดื่ม,วุ้นมะพร้าวน้ำหอม และไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอม ภายใต้มาตรฐาน GAP และ มาตรอินทรีย์วิถีไทย จาก Earth Safe ภายใต้ Brand Aromatic Farm ที่มาพร้อมกับ Package สวยหรู ดูแล้วไม่น่าจะเป็นมะพร้าวน้ำหอมธรรมดา ภายใต้ความเป็นมะพร้าวน้ำหอมธรรมดา แต่เพิ่มมูลค่าได้อีกเท่าตัว ซึ่งแบ่งเป็น

1. มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์กำหนดราคาขายราคาเดียวตลอดทั้งปี เพราะปลูกด้วยความใส่ใจและประณีต ชนิดที่สามารถเช็คประวัติย้อนหลังได้ทุกต้น

2. มะพร้าวน้ำหอม มาตรฐาน GAP กำหนดราคาขายตามกลไกตลาด โดยอ้างอิงราคาค้าส่งจากตลาดสี่มุมเมือง ภายใต้การบรรจุหีบห่อที่สะอาดได้มาตรฐาน

เพาะด้วยมือ ปลูกด้วยใจทุกต้น


กว่าจะมาเป็น Aromatic Farm : "ก่อนจะมาทำการเกษตรเต็มตัวก็ทำงานประจำ และเริ่มมองหาสิ่งที่จะมาทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ จึงมองไปที่การเกษตร เพราะเชื่อว่าการเกษตร เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดคนไทยทุกคน เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่จะทำได้ดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจ และแรงสนับสนุนทั้งภายในตนเองและภายนอก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่หันมาทำการเกษตร โดยที่เรามีบททดสอบของตนเอง เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำ เรามีความสุขกับมันหรือไม่ ซึ่งเราได้รับช่วงต่อจากญาติผู้ใหญ่มีสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่แล้ว พอท่านเห็นเรามุ่งมั่นมาทำเกษตร ท่านก็ส่งมอบสวนให้เราดูแลต่อ ตอนนั้นยังทำควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ทุกๆ วันหยุดไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็จะเดินทางมาทำสวนมาดูแลสวน จึงทำให้เราผ่านบททดสอบที่ตัวเองตั้งไว้นั้นคือการค้นพบว่าการเกษตรทำให้เกิด Value กับเราใน 2 มุม คือ Value ที่เป็นมูลค่าทางการเงิน นั่นคือรายได้ที่มาหล่อเลี้ยงเรา มีเพียงพอ มีพอดี ที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้ และ Value ที่เป็นคุณค่าทางใจ นั่นคือความสุข เป็นคุณค่าที่สำคัญ เรามีความสุข และแบ่งปันความรู้ เป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อชุมชนในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ใช้ทรัพยากรร่วมกัน การหันมาทำเกษตรจึงทำให้เราค้นพบ Value ที่ครบวงจรอย่างแท้จริง"

จัดการสวนมะพร้าวด้วยผังการปลูกอัจฉริยะ


คำอธิบายผังการปลูกอัจฉริยะ Aromatic Farm มีการจัดสรรพื้นที่โดยแบ่งเป็น Zoning เพื่อการบริหารจัดการที่ดี ได้ประโยชน์ในแง่ การนำแผนการจัดวาง Zoning มาบริหารงานด้านอื่นต่อ เช่น การเก็บเกี่ยว การดูผลผลิต การเฝ้าสังเกตความโดดเด่น หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะต้น เฉพาะแปลง และการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมทั้งหมด คือ 90% ดังแผนภาพข้างต้น จะมีทั้งหมด 24 แปลง(ร่อง) แบ่งเป็น 3 Zone คือ Zone สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีแดง มีจำนวนต้นมะพร้าวน้ำหอมทั้งหมด 391 ต้น และ รอบคันสวน 78 ต้น รวมเป็น 469 ต้น


ภาพรวมการผลิตและการจัดสรรพื้นที่ : ดำเนินงานการเกษตรภายใต้ Brand "Aromatic Farm" ซึ่งมี Concept คือการทำสวนเกษตรอินทรีย์ ที่มีความใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต เป็นสวนเพาะปลูกพืชที่มีกลิ่นหอมจากธรรมชาติ มีสัดส่วนการเพาะปลูกที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัด และบริบทของพื้นที่ โดยผลผลิตที่เป็น Signature ของ Farm คือ

1. มะพร้าวน้ำหอม ปลูก 90% ของพื้นที่

2. กล้วยหอม ปลูก 5% ของพื้นที่

3. ผักอินทรีย์ เน้นผักที่มีกลิ่นหอม ปลูก 5% ของพื้นที่

จำนวนพื้นที่การเกษตรทั้งหมดมี 9 ไร่ 2 งาน (ไม่รวมพื้นที่อาคารเอนกประสงค์ 1 งาน) มีการจัดการแรงงาน แบ่งออกเป็น 2 Phase ดังนี้

Phase I : การจัดการแรงงานในปี 2560 Aromatic Farm จัดการแรงงานในรูปแบบ Virtual Farm คือ เราจะไม่มีพนักงาน คนงานประจำมาทำงาน เพราะเราในฐานะเจ้าของสวน ที่มีวิถีการทำงานแบบ Startup ที่ทำกิจกรรมด้วยตนเองก่อน ให้ตนเองได้เข้าใจ เข้าถึง และสามารถพัฒนาต่อ ส่งต่อให้ผู้อื่นได้ อีกทั้งการไม่มีพนักงาน คนงานประจำ ก็เพื่อให้สอดรับกับศักยภาพของสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผลผลิต และตลาดที่เรานำออกสู่จำหน่าย เราจึงบริหารจัดการแรงงานในรูปแบบจ้างงานคนในชุมชน ในท้องถิ่น เป็นคนงานเสริมในช่วงวันหยุด และ/หรือช่วงเลิกงานประจำ เพื่อเป็นรายได้เสริมหลังจากคนในชุมชนเลิกจากงานประจำ

ผลิตผลจาก Aromatic Farm ที่มาพร้อมกับ Package ทันสมัย
ฉีกภาพลักษณ์อย่างสร้างสรรค์ จนดูต่างจากมะพร้าวน้ำหอมทั่วไป



"เราไม่เพียงแต่ช่วยเหลือ และกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่นเท่านั้น เรามีปรัชญามุ่งเน้น บ่มเพาะ เสริมสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน ให้เขาได้รับโอกาสมาฝึกปฏิบัติงานประจำที่สวน ได้เรียนรู้การทำงานจริงแบบเกษตรครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานสวน การบริหารการตาด การบัญชี และการขนส่ง โดยเราจะตอบแทนการฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้ ด้วยความรู้จริง ฝึกจริง และมีที่พัก อาหาร พร้อมให้แบบวิถีพอเพียง มีทุนอุดหนุนการศึกษาให้เยาวชนทุกครั้งที่เขามาปฏิบัติงาน นั่นแสดงว่า เขามีอาชีพ ตั้งแต่เขายังไม่สำเร็จการศึกษา สิ่งเหล่านี้ จะมาเติมเต็มทั้ง 2 ภาคส่วน คือ ภาคเกษตรผู้ประกอบการ และภาคการศึกษาที่ได้มีความรู้ ประสบการณ์จริง พร้อมทุนอุดหนุน ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่พ่อแม่ ผู้ปกครองได้"


Phase II : การจัดการแรงงานในปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นว่าจ้างงานประจำ เพื่อสามารถพัฒนาคุณภาพของสินค้า พัฒนาจำนวน ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และพร้อมที่จะเติบโตอย่างพอดี อย่างมั่นคงต่อไป โดยจะใช้ให้ลำดับความสำคัญในการคัดเลือกคนงาน เป็นคนในท้องถิ่นในชุมชน และเยาวชนที่ได้เรียนมาทางเกษตร เพื่อกระจายรายได้ และใช้ครอบครัวคนไทย เพื่อรักษาภูมิปัญญา และวิชาชีพของคนไทย ส่วนคนงานต่างด้าว จะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ถูกต้องตามรูปแบบกฎหมายต่อไป

CDA (Cluster Development Agent) ของกลุ่ม Cluster มะพร้าวน้ำหอมดำเนินสะดวก



การจัดการความเสี่ยง : Aromatic Farm ได้บริหารการจัดการวามเสี่ยงแบบองค์รวม คือ การรวมกลุ่มเครือข่ายในอุตสาหกรรมมะพร้าว โดยรวมกลุ่มกันภายใต้ "Cluster มะพร้าวน้ำหอมดำเนินสะดวก" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในเชิงองค์รวมทั้ง Supply Chain ซึ่ง Aromatic Farm โดยนางสาวนวลลออ เทอดเกียรติกุล ได้รับการคัดเลือกเป็น CDA (Cluster Development Agent) ของกลุ่มนี้ สำหรับการบริหารจัดการความเสี่ยงของ Aromatic Farm แบ่งประเด็นได้ดังนี้

1. ความเสี่ยงเรื่องผลผลิตน้อย และคุณภาพลดลงในช่วงฤดูร้อน และช่วงรอยต่อของฤดูกาล

- เฝ้าสังเกตความสมบูรณ์ของแต่ละแปลง แต่ละต้น โดยใช้ Layout ที่เรา identify ต้อนไม้แต่ละต้อนมาเป็นตัวช่วยในการ monitor

- นำรายรับจากการมีแปลงผัก แปลงกล้วยหอม มาทดแทนรายรับที่ขาดหายไป

- ระหว่างที่ผลผลิตน้อย ก็จะเป็นช่วงที่เราได้มีเวลาปรับปรุงสวน ทำกิจกรรมเสริมอย่างอื่นในสวนแทน

2. ความเสี่ยงเรื่องต้นทุนการผลิต

- เราวางแผนเรื่องระบบน้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดี และลดต้นทุนเรื่องการสูบน้ำ การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำมัน ซึ่งจะเป็นโครงการในอนาคตที่เราวางแผนไว้

- เราใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่เกิดจากการหมักใช้เอง ตรวจค่า วิเคราะห์สารอาหาร เพื่อลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี

- เราใช้สารชีวภาพที่เกิดจากการหมัก เพื่อกำจัดศัตรูพืช ลดการพึ่งพายาเคมี

3. ความเสี่ยงเรื่องแรงงานที่ลดน้อยลง หายากมากขึ้น

- ใช้ระบบการบริหารจัดการแบบทวิภาคี กับสถาบันการศึกษา โดยนำร่องการฝึกปฏิบัติงาน ทั้งรูปแบบสหกิจศึกษา และการฝึกปฏิบัติสหกิจ พร้อมได้รับทุนอุดหนุนจากสถานระกอบการ เพื่อฝึกให้เยาวชน ได้รู้คุณค่าของการทำงาน การมีอาชีพ การฝึกเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังไม่ได้สำเร็จการศึกษา

- วิจัยและพัฒนาเครื่องจักร แบบ Semi-auto Machine เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานหายากขึ้น

4. ความเสี่ยงเรื่องนวัตกรรมการแปรรูป เนื่องจากขาดองค์ความรู้ที่จะพัฒนาสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ และนักวิจัยและโครงการหน่วยงานของรัฐ ที่จะสนับสนุนด้านวิชาการ และเงินทุนต่าง ๆ

5. ความเสี่ยงด้านการตลาด การรวมตัวกันเป็น Cluster มะพร้าวน้ำหอม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จะทำให้กลุ่มสามารถเข้าถึงตลาดได้ เกิดรูปแบบธุรกิจที่ win-win ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเรากำลังขับเคลื่อนให้เกิดความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เฝ้าสังเกตและดูแลมะพร้าวน้ำหอมทุกต้นอย่างใกล้ชิด


องค์ความรู้และเทคนิคการเกษตรที่นำมาใช้ในการผลิต : ด้านองค์ความณู้และเทคนิคการเกษตร
แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1. องค์ความรู้เทคนิคพิเศษต้นน้ำ คือการเพิ่มผลผลิต เทคนิคพิเศษ คือ

- การใส่หินคลุก เพื่อเสริมสร้างธาตุอาหารประเภท เหล็ก แคลเซี่ยม โบรอน เพื่อป้องกันผลแตก ผลหลุดร่วง ,

- เทคนิคการให้น้ำ โดยจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ได้มีผลการศึกษาพบว่า การให้น้ำ 2 วันติด และเว้นอีก 3 วัน จะช่วยให้ลดการแตกของผลผลิต

- การเลี้ยงชันโรง เพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ ทำให้เกิดการติดของผลผลิตที่มากขึ้น

- การปล่อยแตนเบียน เพื่อช่วยกำจัดหนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ที่เป็นศัตรูพืชของมะพร้าวน้ำหอม

- การสร้างกองล่อเพื่อกำจัดด้วงงวงระยะตัวดักแด้

2. องค์ความรู้เทคนิคพิเศษกลางน้ำ คือการแปรรูป ซึ่งต้องอาศัยการทดลอง และการปรึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ

3. องค์ความรู้เทคนิคพิเศษปลายน้ำ คือช่องทางการจัดจำหน่าย การรวมกลุ่มเครือข่ายจะช่วยเราได้มาก นอกจากนั้น ช่องทางการประชาสัมพันธ์โดยสื่อออนไลน์ มีส่วนสำคัญ และช่วยเราในการทำตลาด ทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าของเรามากยิ่งขึ้น

ซึ่งองค์ความรู้เทคนิคพิเศษนั้น ได้มาจากแหล่งความรู้ ดังนี้

- องค์ความรู้จากภายใน (Internal) ได้แก่ การสะสมองค์ความรู้จากการเฝ้าสังเกต การค้นคว้า การสอบถามผู้รู้ แล้วนำมาปฏิบัติ อาจจะเป็นการลองผิด ลองถูกไปบ้าง แต่นั่นคือการเป็นประโยชน์ในการดำเนินงาน

- องค์ความรู้จากภายนอก (External) ได้แก่

1. เพื่อนเครือข่ายเกษตรกร , Young Smart Farmer (YSF) , Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC)

2. การรับความรู้จากสำนักงานเกษตรอำเภอ , หอการค้าจังหวัด และหน่วยงานอื่น ๆ

3. การเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การได้รับความรู้เชิงใหม่ จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย

4. การรับความรู้จากนักเรียน นักศึกษาฝึกงาน และคณาจารย์ที่เข้ามาให้ความรู้


ด้านเทคโนโลยีการผลิต : ปัจจุบัน เราใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูล (Excel และ Application) เก็บบันทึกสถิติ และข้อมูลทุกอย่างของต้นไม้แต่ละต้น เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้การดูแล แบบพิถีพิถัน /ใส่ใจ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดีที่สุดสู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการเสร้างนวัตกรรม ร่วมกับโครงการ Future Food Lab หนึ่งในโครงการนวัตกรรมเมืองอาหาร เพื่อร่วมกันสร้างสินค้าแปรรูปชนิดใหม่ ที่ได้จากมะพร้าวน้ำหอม ให้มีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น ขนส่งง่ายขึ้น มีมูลค่าที่มากขึ้นอีกด้วย

คิดถึงความรื่นรมย์และคุณประโยชน์ดีๆ คิดถึง Aromatic Farm



การแปรรูปผลผลิต : ภายใต้ แบรนด์ Aromatic Farm มีผลิตภัณฑ์แปรรูปอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน คือ

1. มะพร้าวน้ำหอม-ผลควั่นสด มะพร้าวน้ำหอมในรูปแบบควั่นสด พร้อมเฉาะรับประทาน

กลุ่มลูกค้า คือกลุ่ม HORECA (Hotel Restaurant Catering)


2. มะพร้าวน้ำหอมบรรจุแก้วและขวด มะพร้าวน้ำหอมในรูปแบบ RTD (Ready to Drink) ดื่มง่าย


3. วุ้นมะพร้าวน้ำหอม (Coco Jelly) วุ้นมะพร้าวน้ำหอมพร้อมทาน โดยมีรสชาติออริจินอล และรสชาติตามเทศกาลวันสำคัญ เช่น เดือนสิงหาคม จะทำสีฟ้า โดยใช้ดอกอัญชัน มาเป็น Collection วันแม่


4. ไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอม (Coco Soft Snow)ไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอม ในรูปแบบ ไม่ใส่ครีม ไม่ใส่กะทิ ไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำแข็ง นำมาปั่นเป็นไอศกรีมที่สัมผัสละมุนลิ้น หรือ ตักเป็น Scoop บรรจุถ้วย หรือจะปิดฝา แช่แข็งในช่องฟรีซ ก้ยังคงทานได้อร่แยในวันถัดไป

Package โดดเด่นตอบโจทย์ลูกค้าทุกเพศวัย


"เราจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หากเราทราบว่าผู้บริโภคมีปัญหา (Pain) ในส่วนใด เช่น กลุ่มลูกค้า HORECA มีความต้องการสินค้าที่ส่งตรงมาจากเกษตรกร จากสวน โดยลดช่องทางของพ่อค้าคนกลาง เพราะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานสินค้า ดังนั้น เราจึงแก้ไขปัญหาส่วนนี้ให้ลูกค้า โดยส่งตรงสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้า ด้วยความใส่ใจ ได้มาตรฐานความสดใหม่"



การตลาด : Aromatic Farm มีการกำหนดราคาตามลักษณะของสินค้า 2 แบบ คือ

1.มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ จะกำหนดราคาเดียวทั้งปี เนื่องจากเป็นมะพร้าวน้ำหอมที่ใส่ใจ ที่ประณีตในการผลิต

2.มะพร้าวน้ำหอม มาตรฐาน GAP จะกำหนดราคาตามกลไกของตลาด โดยอ้างอิงราคาค้าส่งจากตลาดสี่มุมเมือง แต่ทั้งนี้ สินค้าจาก Aromatic Farm จะมีคุณภาพที่ดีกว่า โดยการบรรจุหีบห่อ กระบวนการผลิตที่สะอาด มีบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสียหายของสินค้า

นอกจากนั้น เรายังคำนึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบายในการรับประทาน เช่น เมื่อเรานำสินค้าออกจำหน่ายตามานแสดงสินค้า เราตอบสนองความต้องการผู้บริโภคโดยการแปรรูปสินค้า เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอมบรรจุขวดและแก้ว, วุ้นมะพร้าวน้ำหอม Coco Jelly,ไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอม Coco Soft Snow เป้นต้น

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ : เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 2 ประการ คือ

1. เพื่อเป็นสื่อที่ใช้ Educate มะพร้าวน้ำหอม ให้กลุ่มลูกค้าทราบถึงขั้นตอน กระบวนการตั้งแต่การเพาะปลูก จนกระทั่งการแปรรูป เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทาน สิ่งที่ช่วยเล่าเรื่องราวได้ดี คือ "Story Telling" บนบรรจุภัณฑ์ที่ต้องกระชับ โดยเราได้คุยกับนักออกแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ และ Content ที่จะใช้สื่อสารกับผู้บริโภค ได้รูปแบบการออกแบบ ดังภาพด้านล่าง

2. เพื่อใช้เป็นหีบห่อสินค้า ให้เกิดความสดใหม่ สะอาด และทำให้ยืดอายุความสดของสินค้าได้นานยิ่งขึ้น โดยใช้วัสดุ Stretch Film และ Shrink Sleeve ในการห่อหุ่มสินค้า

แผนการพัฒนาการเกษตรในอนาคต



การจัดการโลจิสติกส์ : แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ

1. กรณีมีผู้รับซื้อ มาซื้อสินค้าหน้าสวนผลิต ทำให้เราไม่ต้องมีกระบวนการจัดการโลจิสติกส์

2. กรณี Aromatic Farm แปรรูป และส่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้า HORECA และลูกค้าตามบ้าน เราจะใช้วิธีการจัดส่งสินค้าด้วยตนเองก่อน เพื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยน Feedback กับลูกค้า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า ให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในตัวสินค้า และการบริการของเรา ทั้งนี้รูปแบบการขนส่ง เราจะจัดเส้นทางในเส้นทางเดียวกัน ในวันเดียวกัน เป็นลักษณะ Milk Run ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการของโลจิสติกส์ โดยมีการนัดหมายเวลากับลูกค้าล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

3. กรณีจัดส่งสินค้าประเภทต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม ไปยังจังหวัดนอกเขตพื้นที่ ทาง Aromatic Farm จะ outsource เรื่องโลจิสติกส์ โดยจะเป็นการใช้บริการจาก Logis Post ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีระบบติดตาม Track and Trace สินค้าอีกด้วย

การแข่งขันทางการตลาดและคู่แข่งทางธุรกิจ :

1. หากมองภาพใหญ่ระดับประเทศ คู่แข่งของมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทย คือ มะพร้าวอ่อนจากประเทศเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นการแข่งขัน Dump ราคากัน แต่ทั้งนี้ หากเราไม่พึ่งพาการค้าต่างประเทศมากนัก เราจะลดความเสี่ยงตรงนี้ลงได้ และประเทศไทย ต้องรักษาคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมให้ดีที่สุด ไม่ให้กระบวนการผลิตมีสารเคมี สารพิษตกค้าง และประเทศไทย ควรจะเน้นแปรรูปสินค้าในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงสินค้าล้นตลาด เช่นกัน

2. หากมองภาพในระดับประเทศ คู่แข่งทางธุรกิจย่อมมีอยู่ในทุกอุตสาหกรรมธุรกิจ แต่หากเรามอง และเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่ายให้เป็น Cluster ดังเช่นที่ Aromatic Farm เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม “Cluster มะพร้าวน้ำหอม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี” เพื่อเสริมสร้าง Supply Chain ทั้งระบบให้มีความเข้มแข็ง และแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน เป็นภาคเกษตรที่ครบวงจร ยุค 4.0 ได้อย่างแน่นอน.


เกียรติประวัติและผลงาน :

- ปี พ.ศ.2560 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 รายของประเทศไทย เพื่อแสดงสินค้าเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่ GMS Pavillion (The Grater Makhong Sub-Region : ประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขง) ในโครงการ ThaiFex World Of Food Asia 2017 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bank ADB)

ข้อมูลการติดต่อ

นวลลออ เทอดเกียรติกุล
Aromatic Farm
บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 ตำบลแพงพวย
อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี 70130
โทรศัพท์ 08-1909-0226
FBP : Aromatic Green Coconut Farm
FB : Nuanla-or Dhedkiattikun
IG : Aromatic.Green.Coconut

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด