เกษตรกรต้นแบบ
"สุภิสาข์ มัยขุนทด ทายาทสวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท
ผู้เปลี่ยนตำนานการท่องเที่ยวแห่งเมืองเพชรบุรี"
คุณเมย์ สุภิสาข์ มัยขุนทด  จ. เพชรบุรี ปี 2560
ปัญหาไม่ได้มีไว้เพื่อหยุดยั้งคนที่ยังมีลมหายใจ
แต่มีไว้ให้คนเราพุ่งชนต่อไปข้างหน้า...
เช่นเดียวกันกับเท้าของคนเรา
ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เดินถอยหลัง

สุภิสาข์ มัยขุนทด เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2560

ชีวิตที่เริ่มต้นจากศูนย์ว่ายากเย็นแล้ว ชีวิตที่เริ่มต้นแบบติดลบนั้นยากลำบากกว่า เพราะต้องใช้พละกำลังทั้งกายและใจในการจะฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคปัญหา ที่รู้อยู่ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างมากกว่าชีวิตปกติธรรมดาหลายเท่า หากใจไม่แกร่งจริง ร้อยทั้งร้อยจำต้องแพ้พ่ายยกธงขาวยอมสิโรราบไป แล้วจะมีสักกี่คนอดทนจนผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นไปพร้อมๆ กับการค้นพบหนทางแก้ไขลงตัว แบบยังยิ้มและมีความสุขกับชีวิตได้ทุกวัน ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจและกระแสของนายทุน ผู้ไม่เคยมีคำว่า "พอเพียง" อยู่บนความมั่งมีของตัวเอง ยังคงแห่แหนแย่งชิงพื้นที่ยืนทางธุรกิจจนทุนเล็กๆ อย่างตาสีตาสายายมียายมาต้องพ่ายแพ้ไป โดยไม่ต้องไปสืบหากรณีศึกษาอะไรอื่นไกล แค่พิจารณาจากเรื่อง "ร้านโชว์ห่วย" ที่กำลังหายไปจากวิถีชีวิตคนไทย เพราะน้อยแสงอ่อนแรง ไร้เงินทุนหนุนส่ง สู้ไม่ได้กับ "ร้านที่มีชื่อเป็นตัวเลข เปิดโชว์ไม่ห่วยตลอด 24 ชม." ที่กำลังแผ่อิทธิพลปกคลุมไปทั่วทุกซอกมุมชุมชนคนหนาแน่น แค่เพียงมีหัวเชื้อที่ชื่อว่าเม็ดเงิน ก็สามารถเพาะพันธุ์ร้านค้าชนิดนี้ได้แล้ว ดังนั้น การที่ร้านโชว์ห่วยต้องล้มหายไปจากสายตาคนไทย จึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญในการทำธุรกิจ หากยังมองข้ามความเป็น "เอกลักษณ์ชวนจำในสิ่งที่ทำอยู่" ต่อให้ทำธุรกิจอะไรที่เริ่มต้นจากทุนชาวบ้าน ก็มีแต่จะต้องพับเสื่อเก็บในบ้านไปทั้งๆ ที่อยู่ในบ้านของตัวเองแน่นอน!

เกาะเกษตรอินทรีย์ มีหลากพืชพพันธุ์ปลอดสารพิษ
ไว้บริการผู้ที่มาพักอาศัย ณ "สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท"


เมย์ สุภิสาข์ มัยขุนทด สาวเก่ง หัวใจแกร่ง วัย 35 ปี แห่งเมืองย่าโมผู้มาเติบโตสร้างเรื่องราวให้แก่ชีวิตตนและคนที่รักบนผืนดินเมืองเพชรบุรี สร้างตำนานการท่องเที่ยวผสมผสานการเกษตรบน "เกาะเกษตรอินทรีย์"ในนาม "สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท" ที่รอดผ่านวิกฤติด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาได้ด้วยการพลิกหลักคิดเปลี่ยนมุมมอง จนสามารถประครองธุรกิจของครอบครัวที่ส่อเค้าลางย่ำแย่จากผลกระทบเรื่องการประท้วงสิทธิ์ทางการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2553 มาได้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการผลิตเพื่อบริโภคใช้สอย เหลือแล้วจึงนำออกจำหน่ายสร้างรายได้ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการลดต้นทุนเรื่องการจัดการรีสอร์ท ที่อยู่ในสภาวะวิกฤติทางการเงิน จึงนำการเกษตรมาผนวกเข้ากับการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว


กว่าจะมาเป็น "เกาะเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การดำเนินงานของ "สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท" : ในช่วงปลายปี 2553 เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง มีการประท้วงเผาบ้านเมืองให้วุ่นวาย ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงาน ข้าราชการ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของรีสอร์ท เบิกงบออกมาใช้ในการสัมมนา ดูงานไม่ได้ ธุรกิจรีสอร์ทช่วงนั้นจึงซบเซา ไม่ค่อยมีรายได้เข้ามา แต่รายจ่ายเรื่อง ค่าแรง น้ำไฟ ซ่อมบำรุง ยังคงมีเท่าเดิม เมย์ จึงหันหน้าหารือกับครอบครัว เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ จึงนั่งถกกับพ่อว่า "ทำไมไม่เอาความรู้ไม่เอาภูมิปัญญาที่เรามีมาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยว" แล้วก็มาตกผลึกว่าเราคงต้องมาทำเกษตรนั่นล่ะ เพราะเป็นสิ่งที่มีพื้นความรู้อยู่แล้ว หากไปทำอย่างอื่นที่ไกลตัว ก็อาจจะยากต่อการจะทำให้สำเร็จได้ เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์ จึงเริ่มหันมาพิจารณาลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในรีสอร์ทลง โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบปรุงอาหารที่จะนำมาทำในรีสอร์ท

"ตอนนั้นเริ่มจากการสำรวจเมนูอาหารที่ออกบ่อยสุด หรือเป็นเมนูที่ลูกค้าชอบทานมากสุด เช่น แกงจืดตำลึง ผัดผัก จากนั้นจึงเริ่มปลูกวัตถุดิบปรุงอาหารจากที่ลูกค้าสั่งทานเยอะๆ ก่อน และปลูกพืชเครื่องแกง ที่ต้องใช้ประจำ เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กระเพา หัวระพา กระชาย ปลูกไว้เป็นประจำ คู่สวนตลอด พอเริ่มทำก็เห็นผลดีว่าลดรายจ่ายได้จริง จึงเริ่มขยายจากปลูกไว้เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงแขก เป็นแปลงศึกษาดูงาน เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ เอาเรื่องเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ใส่ลงไป เรื่องของการแสกนคิวอาร์โค้ด เพื่อให้คนเรียนรู้แล้วได้ดูวีโอเกี่ยวกับการแนะนำการทำเกษตร ทำปุ๋ยที่เราใส่ไว้บนเพจหรือยูทูบ ซึ่งเป็นการสร้างสื่อให้คนได้เรียนรู้"

สุภิสาข์ มัยขุนทด สาวแกร่งยอดกตัญญูจาก "สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท" ผู้ช่วยกู้วิกฤติครอบครัวด้วยการดึงการเกษตรมารวมไว้กับการท่องเที่ยว

เมย์กับคุณพ่อ สมศักดิ์ สิทธิโชคธรรม
การได้ทำในสิ่งที่รักและได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนที่รัก นั่นคือ ความสุข


"ดีใจกับรางวัลเกษตกรสำนึกรักบ้านเกิดที่ได้รับในปีนี้ เพราะเป็นเสมือนกำลังใจเล็กๆ ให้กับคนทำเกษตรอย่างเราอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ผันตัวเองมาทำเกษตร ก็ไม่เคยไปประกวดอะไรกับใคร ไม่เคยได้รับรางวัลที่ไหนมาก่อน ตั้งแต่ตั้งใจผันมาทำได้ 2 ปี ก็ผ่านการลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์ขึ้นมาในสายตาคนอื่น พอเราทำมาแบบนี้แล้วมีรางวัล "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" มาการันตียิ่งทำให้เรามีกำลังใจที่จะเดินไปบนเส้นทางของเกษตรกรต่อไป เพราะนี่เป็นการบอกเราว่าเรามาถูกทางแล้ว"


ภาพรวมการผลิต : ปัจจุบันได้ก่อร่างสร้างพื้นที่เกษตรขึ้นมาภายใต้การดำเนินงานของ "สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท" มีชื่อว่า "เกาะเกษตรอินทรีย์" (Organic Island by Suanphet) ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว ที่แต่เดิมคุณพ่อ มีอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง มองว่าหากตนไม่เริ่มต้นสร้างธุรกิจอะไรบางอย่าง เพื่อส่งต่อไปให้ลูกหลาน อาจทำให้สังคมภายนอก มองครอบครัวว่าต้อยต่ำที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นชาวสวนตัวดำ ใส่เสื้อผ้าสกปรกมอมแมม จึงนำเงินเก็บที่ได้จากการเกษตร มาลงทุนสร้างรีสอร์ทเล็กๆ แต่ด้วยความที่มีความรู้เพียงแค่ ป.4 ไม่มีความรู้ด้านงานบริหาร และลูกๆ อยู่ในช่วงวัยเรียน ทำให้ช่วงแรกเกิดวิกฤติทางการบริหาร และการเงินอย่างมาก บานปลายไปถึงการถูกโกง และถูกฟ้องล้มละลาย หากแต่ปัจจุบันยังสามารถรักษาผืนดินทำมาหากินไว้ได้บางส่วนและค่อยๆ ดำเนินธุรกิจรีสอร์ท จนโตขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับได้ต่อไปด้วยการปรับมาเป็น "การท่องเที่ยวเชิงเกษตร"

เกาะเกษตรอินทรีย์ By สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอ์ท


การจัดสรรพื้นที่ : "เกาะเกษตรอินทรีย์" มีพื้นที่รวม 20 ไร่ ปลูกผักและผลไม้อินทรีย์รวมกันกว่า 100 ชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย กล้วยหอมทอง ลองกอง ผักสลัด กวางตุ้ง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนใหญ่ กับอีก 1 ส่วนย่อย

ส่วนที่ 1 แบ่งเป็นโซนไม้ผล หรือโซนผลไม้ ปลูกผลไม้หลากหลายชนิดบนพื้นที่ประมาณ 8 ไร่

ส่วนที่ 2 แบ่งเป็นโซนผัก ปลูกผักและสมุนไพร และพืชล้มลุก ประมาณ 9 ไร่

ส่วนที่ 3 แบ่งเป็นโซนโรงเรือนในร่มหรือเรือนเพาะกล้า ใช้สำหรับปลูกพืชที่ไม่ต้องการแสงมาก และเป็นโรงเพาะพันธุ์ไม้ เพาะผัก ประมาณ 2 งาน

สำหรับพื้นที่ส่วนย่อย ได้จัดสรรไว้สำหรับเป็นฐานการเรียนรู้เรื่องเกษตร


การวางแผนการผลิต : มีการผลิตพืชที่เป็นไม้ยืนต้น พืชผัก สำหรับไม้ยืนต้นจะดูแลตามวิธีธรรมชาติ คือ ปล่อยให้ออกผลผลิตตามฤดูกาล ไม่เร่งไม่กระตุ้น ไม่ทำนอกฤดู ส่วนพืชผักเน้นปลูกเพื่อให้มีทานในรีสอร์ทได้ตลอดปี วางแผนการปลูกแบบหมุนเวียนกันไป เพื่อให้มีเพียงพอต่อการบริโภค คำนวณการปลูกแบบรอบชนรอบ เช่น ผัดสลัด จะปลูกลงแปลงสลับกัน ชุดละ 15 – 20 วัน

การจัดการอย่างเป็นระเบียบระบบ จะนำมาสู่ผลผลิตที่ดี


การบริหารจัดการ : การบริหารจัดพื้นที่เรามีการวางแผนการใช้พื้นที่แบ่งการปลูกประเภทของพื้นอย่างชัดเจน เช่น โซนไม้ผล โซนไผ่แนวกันลม โซนผัก และออกแบบพื้นที่ในการทำโรงเรือนเพื่อใช้สอยประโยชน์ต่างๆ รวมไปถึงการปลูกพืชไล่ลำดับชั้นเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่สูงสุด ทั้งพืชคลุมดิน พืชชั้นกลาง ไปถึงพืชเรือนยอดที่เกื้อกูลกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

การบริหารการจัดการความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าจัดการความเสี่ยงได้ดี จะทำให้การผลิตพืชมีประสิทธิภาพมีคุณภาพที่ดี แบ่งความเสี่ยงออกดังนี้

1. ความเสี่ยงจากวัตถุแปลกปลอม เช่นดิน หิน ไม้ เกล็ดวัชพืช เป็นต้น วิธีป้องกันใช้จุลินทรีย์ในการปรังปรุง ใช้สารชีวภัณฑ์กำจัด และควบคุมเชื้อราและแบคทีเรียในดิน

2. ความเสี่ยงจากการใช้อุปกรณ์การเกษตร เครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์เก็บเกี่ยว รวบไปถึงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การตรวจเช็คเครื่องมือการตัดแต่งต้นไม้ดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้และความปลอดภัยของผู้ใช้อุปกรณ์ การเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้อุปกรณ์และภาชนะที่สะอาด ไม่ว่างผลผลิตกับดินโดยตรงไม่วางซับซ้อนเปื้อนดิน เมื่อใช้เสร็จควรล้างเก็บอุปกรณ์ และล้างพืชผักให้สะอาดก่อนส่งเข้าครัวเพื่อปรุงอาหารหรือก่อนออกจำหน่าย ส่วน หีบ ห่อ บรรจุภัณฑ์ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใหม่สะอาด มีภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด ป้องกันฝุ่นและเชื้อโรค

3. ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำ ดิน อากาศ ความชื้น ความร้อน และแมลงศัตรูพืช บนเกาะอินทรีย์ เราสร้างแนวป้องกันสารเคมี โดยการปลูกไผ่ใช้แนวกอไผ่ เป็นกำแพงป้องกันลม และสารเคมีที่อยู่ภายนอกไม่ให้รั่วไหลเข้าแปลงเกษตรภายในเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ในสวนที่ไม่ปนกับภายนอกมีการหมั่นตรวจตราพืช แมลงศัตรูพืชต้องรีบแก้ไขกำจัดก่อนเกิดการระบาดหนัก

นอกจากนี้ยังมีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในพื้นที่ ด้วยการนำองค์ความรู้จากพ่อแม่ไปปรับใช้ในรุ่นลูก ที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ด้านความสำเร็จก็จะทำการเลียนแบบแล้วนำมาใช้ แต่ส่วนที่ล้มเหลวจะทำการวิเคราะห์หาข้อผิดพลาด แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ปัจจุบันได้นำเอาองค์ความรู้เดิมที่เคยมีมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับความรู้และวิธีการใหม่ๆ เช่น การดัดแปลงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเรื่องการให้น้ำในแปลงผัก - ผลไม้ สร้างระบบการให้น้ำ ปุ๋ยชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ไปกับน้ำพร้อมกันในคราวเดียว เป็นต้น รวมทั้งค้นหาแนวทางเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ มาเสริม เช่น การคิดสูตรการทำปุ๋ยหมักใบไผ่ การทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง จนไปถึงการนำชีวินทรีย์มากำจัดสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืช อย่างเช่นการใช้มวนเพชฌฆาตกำจัดหนอน ใช้แมลงหางหนีบกำจัดเพลี้ยอ่อน และนำไส้เดือนฝอยพันธุ์ไทยมาฉีดเพื่อกำจัดหนอนในผัก

ฐานบริหารและจัดการน้ำ เป็นระบบการบริหารเรื่องการให้ปุ๋ย-น้ำ
เพื่อร่นระยะเวลาการทำงานและประหยัดแรงงานในการจัดการเรื่องปุ๋ย-ยา



การบริหารจัดการ :

- การบริหารจัดการพื้นที่ จัดการความเสี่ยง การควบคุมคุณภาพและสร้างมาตรฐานผลผลิตการเกษตร

- องค์ความรู้ เทคนิคพิเศษ การจัดการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต


การบริหารจัดพื้นที่เรามีการวางแผนการใช้พื้นที่แบ่งการปลูกประเภทของพื้นอย่างชัดเจน เช่น โซนไม้ผล โซนไผ่แนวกันลม โซนผัก และออกแบบพื้นที่ในการทำโรงเรือนเพื่อใช้สอยตามประโยชน์ต่างๆ รวมไปถึงการปลูกพืชไล่ลำดับ ชั้นเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ให้สูงสุด ทั้งพืชคลุมดิน พืชชั้นกลาง ไปถึงพืชเรือนยอดที่เกื้อกูลอยู่ ในพื้นที่ที่เดียวกัน

การบริหารการจัดการความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าจัดการความเสี่ยงได้ดี จะทำให้การผลิตพืชมีประสิทธิภาพมีคุณภาพที่ดี แบ่งความเสี่ยงออกดังนี้

1. ความเสี่ยงจากวัตถุแปลกปลอม เช่นดิน หิน ไม้ เกล็ดวัชพืช เป็นต้น

2.ความเสี่ยงจากการใช้อุปกรณ์การเกษตร เครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์เก็บเกี่ยว รวบไปถึงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การตรวจเช็คเครื่องมือการตัดแต่งต้นไม้ดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้และความปลอดภัยของผู้ใช้อุปกรณ์ การเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้อุปกรณ์และภาชนะที่สะอาด ไม่ว่างผลผลิตกับดินโดยตรงไม่วางซับซ้อนเปื้อนดิน เมื่อใช้เสร็จควรล้างเก็บอุปกรณ์ และล้างพืชผักให้สะอาดก่อนส่งเข้าครัวเพื่อปรุงอาหารหรือก่อนออกจำหน่าย ส่วน หีบ ห่อ บรรจุภัณฑ์ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใหม่สะอาด มีภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด ป้องกันฝุ่นและเชื้อโรค

3. ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำ ดิน อากาศ ความชื้น ความร้อน และแมลงศัตรูพืช บนเกาะอินทรีย์ เราสร้างแนวป้องกันสารเคมี โดยการปลูกไผ่ใช้แนวกอไผ่ เป็นกำแพงป้องกันลม และสารเคมีที่อยู่ภายนอกไม่ให้รั่วไหลเข้าแปลงเกษตรภายในเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ในสวนที่ไม่ปนกับภายนอกมีการหมั่นตรวจตราพืช แมลงศัตรูพืชต้องรีบแก้ไขกำจัดก่อนเกิดการระบาดหนัก


การจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำใช้ในการผลิต : เริ่มต้นจากใช้องค์ความรู้จากพ่อแม่สู้ลูก เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์การลองผิดลองถูกมาก่อน มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ในด้านสำเร็จก็ทำการเลียนแบบแล้วนำมาใช้ แต่ส่วนที่ล้มเหลวก็ทำการวิเคราะห์หาข้อผิดพลาด แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ปัจจุบันได้นำเอาองค์ความรู้เดิมที่เคยมีมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับความรู้และวิธีการใหม่ๆ เช่น การดัดแปลงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเรื่องการให้น้ำในแปลงผัก – ผลไม้ สร้างระบบการให้น้ำ ปุ๋ยชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ไปกับน้ำพร้อมกันในคราวเดียว เป็นต้น รวมทั้งค้นหาแนวทางเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆมาเสริม เช่น การคิดสูตรการทำปุ๋ยหมักใบไผ่ การทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง จนไปถึงการนำชีวอินทรีย์ที่มีชีวิต มากำจัดสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืช อย่างการใช้มวนเพชฌฆาตมากำจัดหนอน ใช้แมลงหางหนีบกำจัดเพลี้ยอ่อน และนำไส้เดือนฝอยพันธุ์ไทยมาฉีดเพื่อกำจัดหนอนในผัก

น้ำผลไม้คั้นสดจากวัตถึดิบในไร่ แบรนด์ "Fill Fresh" ทีได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี



การตลาดและการแปรรูปผลผลิต :

1. มีการกำหนดราคาสินค้าและบริการ

- ราคาแพ็กเกจ คิดอัตราจากการใช้ทรัพยากรจริง แล้วนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจริง ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก ค่าเสื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

- ราคาสินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูป ตั้งราคาตามการดูแล ระยะเวลาปลูก ลักษณะการเก็บเกี่ยว การให้ผล ค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบรรจุภัณฑ์ การสร้างเรื่องราวที่มีคุณค่าของสินค้า ค่าสติ๊กเกอร์ เป็นต้น


2. มีการสร้างตราสินค้าหรือแบรนด์

- แบรนด์แรกที่เป็นแบรนด์หลักคือ"เกาะเกษตรอินทรีย์" หรือ organic Island Suanphet เราสร้างเพื่อเน้นการจดจำโดยตั้งชื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศหรือลักษณะทางภูมิศาสตร์ทางพื้นที่ที่เป็นเกาะกลางแม่น้ำ ถูกห้อมล้อมด้วยแม่น้ำเพชรบุรี แบรนด์ organic Island suanphet เป็นตราสินค้าของพืชผักสมุนไพรผลไม้ที่นำออกมาจำหน่ายหน้าสวนและขายตามงานอีเว้นท์ต่างๆ

- แบรนด์ที่สอง เป็นแบรนด์ "สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย" แตกไลน์ออกมาเพื่อใช้เป็นตราสินค้าที่ส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งสดและแปรรูปไปจำหน่ายในห้างท็อปส์ซุปเปอร์มาเก็ต ซึ่งปัจจุบันมีการส่งทุเรียนเข้าไปจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยและจะมีสินค้าอีกหลายชนิดทยอยส่งเข้าไป เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดได้อีกช่องทาง ในอนาคตเราจะส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลท่าไม้สวด ผลิตสินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูปที่ควบคุมการผลิตให้เป็นรูปแบบอินทรีย์ทั้งหมด ส่งขายภายใต้แบรนด์สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ตั้งใจผันวิถีชีวิตสู่วิถีอินทรีย์ได้มีช่องทางการขายสินค้าอีกด้วย


- แบรนด์ที่สาม แบรนด์ "Fill Fresh" เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ใช้เพื่อการผลิตและแปรรูปมะนาวยักษ์ มาในรูปแบบน้ำมะนาวยักษ์พร้อมดื่ม มีจำหน่ายหน้าร้านและจำหน่ายตามงานอีเว้นท์


3. การกระจายสินค้า

1.สินค้าแพ็กเกจท่องเที่ยว + เรียนรู้ (ท่องเที่ยวเชิงเกษตร) ใช้วิธีกระจายสินค้า หรือขายสินค้าหลายทาง ทั้งลงโฆษณาผ่านสื่อต่างๆเช่น ใบปลิว แผ่นพับ วิทยุชุมชน โบชัวร์ ลงโซเชียล ทั้งเว็บไซต์ FB IG LINE@ ออกบูทโปรโมทและขายแพ็กเกจ

2.สินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูปใช้วิธีกระจายสินค้าดังนี้

- ส่งเข้าครัวภายในรีสอร์ท

- ขายหน้าร้านให้กับนักท่องเที่ยว

- จัดส่งไปรษณีย์เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก ทุเรียน น้ำหมัก เป็นต้น

- ส่งถึงที่ (กรณีจำนวนมาก)

- จ้างรถวิ่งส่ง LINDMAN,LALAMOVE

- ขายตามงานอีเว้นท์ต่างๆ


4. การแข่งขันทางการตลาด

ปัจจุบันเราดำเนินธุรกิจในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งในพื้นที่ใกล้เคียงหรือจังหวัดเพชรบุรี ถือว่ายังผู้ประกอบการและเกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่เล็งเห็นถึงการพัฒนาแบบบูรณาการโดยการนำท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นจุดขายให้กับธุรกิจท่องเที่ยว ที่พัก รีสอร์ท จึงทำให้ organic Island suanphet เป็นแหล่งให้ความรู้ ความสนุก ความสะดวกสบายในการพักผ่อน สามารถตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าที่เข้าใช้บริการได้อย่างครบวงจร

มีการนำระบบ QR CODE มาประยุกต์ ใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวการเกษตรที่ทำ



การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร :

- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตร เน้นวิธีการปฏิบัติที่ต้องง่าย ใครๆก็สามารถเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ได้ เพราะเราต้องการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถทำได้จริงหลังจากที่มาเรียนจากเรา ยกตัวอย่าง การนำไส้เดือนฝอยมากำจัดหนอนในแปลงผัก-ผลไม้ นอกจากจะทำใช้เองแล้ว เรายังสอนวิธีการเพาะเลี้ยงตัวเชื้อไส้เดือน โดยเราได้ศึกษากระบวนการใช้และการต่อเชื้อไส้เดือนฝอยจากกลุ่มงานไส้เดือนฝอย กรมวิชาการเกษตร ม.เกษตรฯบางเขน เมื่อนำมาใช้จริงเกิดผลในระดับดี และยังต่อเชื้อสารชีวภัณฑ์ในข้าวสุกและในน้ำตาลหรือกากน้ำตาล สามารถลดรายจ่าย ซื้อเชื้อจำนวนน้อยแต่สามารถต่อขยายได้เองจำนวนมาก การหาข้อมูลในยุคปัจจุบัน สามารถสืบค้นได้จากสื่ออินเตอร์เน็ตและโซเชียลเป็นส่วนใหญ่ ศึกษาพืช ศึกษาจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ

- การเก็บข้อมูล มีทั้งแบบลงบันทึกด้วยมือ และเก็บในรูปแบบไฟล์เอกสารลงคอมพิวเตอร์ รวมทั้งยังมีรูปภาพที่ถ่ายเก็บไว้เพื่อสังเกตความคืบหน้าในด้านต่างๆเป็นระยะโดยตลอด การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยออกแบบป้ายให้ข้อมูล ต้นไม้ พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการมาเที่ยวชมสวนได้ศึกษาพืชพันธุ์ต่างๆด้วยตัวเองได้ รวมไปถึงการออกแบบป้ายข้อมูลฐานกิจกรรมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ความรู้ในแต่ละเรื่อง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ฐานปุ๋ยหมักใบไผ่ ฐานน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น


- การนำเทคโนโลยี QR CODE ลิงค์กับวีดีโอบน YouTube เพื่อให้ข้อมูลและสอนวิธีการทำปุ๋ยหมักใบไผ่ น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ฮอร์โมนไข่ และวีดีโอแนะนำเกาะเกษตรอินทรีย์ เป็นการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเที่ยวชมสวนแบบไม่ต้องรอ ผู้นำทางหรือวิทยากรนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจผ่านวีดีโอได้เลย

- การนำเทคโนโลยีจาก www.mealfiction.com มาใช้สำหรับตรวจสอบกระบวนการผลิตพืชผัก-ผลไม้ สมุนไพร เป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยการสร้างเรื่องราวของสินค้าลงไปในหน้าข้อมูล แล้วสร้าง QR CODE ผ่านโปรแกรมLIND จากนั้นจะพบหน้าข้อมูลสินค้าบนเว็บไซต์ที่สร้างไว้เปิดขึ้นมา (ภาพอยู่บนแผ่นหลัง)

- การใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นช่องทางการสื่อสาร และส่งเสริมการตลาด เช่น เว็บไซต์ ทาง www.suanphet.com และ www.organicisland4shop.com ช่องทาง FB www.facebook.com/bysuanphet นอกจากนี้ยังมี IG : organic-island_by_suanphet และ LINE@ : @suanphet รวมถึง LINE ส่วนตัวด้วย เหล่านี้สามารถติดต่อสอบถาม ดูเรื่องราวของเกาะเกษตรอินทรีย์ ที่พัก อาหาร กิจกรรม แพ็กเกจต่างๆ เป็นช่องทางการสื่อสารที่หวังให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของการส่งเสริมการขาย การจัดโปรโมชั่นของแต่ละช่วงสินค้า เพื่อส่งเสริมการตลาดอยู่เรื่อยๆทั้งเรื่องการ ขายสินค้าออนไลน์จากสวนถึงผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ต้องเสียค่าการตลาด ยกตัวอย่าง ผลผลิตทุเรียนหมอนทองอินทรีย์ มียอดจองผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก เมื่อเปิดขายผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ มีผู้บริโภคและเวียนมาดูสวน มาซื้อผลผลิต ถึงหน้าสวน สร้างรายได้ในปี 60 มากถึง 6 แสนบาท (ทุเรียน 110 ต้น) สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้กระบวนการผลิตด้วยอินทรีย์ ปลอดสารเคมี 100% และใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างการสร้าง QR CODE เพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซต์ที่ได้ใส่ข้อมูลของทุเรียน สร้างความแตกต่างสร้างคุณค่าให้สินค้าเพิ่มขึ้น

เพราะการเป็นเกษตรกรนั้นถูกมองว่าต้อยต่ำ ตัวดำ สกปรกมอมแมม และ ยากจน จึงอยากก่อเกิดธุรกิจรีสอร์ทไปพร้อมกับการทำเกษตรขึ้นมา เพื่อทำให้พื้นที่สวนแห่งนี้มีคุณค่าดุจเพชร ที่ไม่ว่าจะผ่านวันเวลามายาวนานแค่ไหนหรือเจอสภาพอากาศย่ำแย่เพียงใด เพชรก็ยังคงเป็นวัตถุที่แข็งแกร่ง แวววาว เปล่งประกาย และมีคุณค่าในตัวตนของมันเอง ไม่มีวันที่เพชรจะตกต่ำ หรือต่ำต้อยด้อยค่า นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "สวนเพชร" / สมศักดิ์ สิทธิโชคธรรม (พ่อ)


แผนการพัฒนาการเกษตรในอนาคต : แผนการพัฒนาดำเนินไปใน 2 รูปแบบ

1. แผนพัฒนาภายใน

- ยังเน้นการพัฒนารูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จุดขายคือ การทำเกษตรอินทรีย์และสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่สนใจการพักผ่อนในรูปแบบที่ใกล้ชิดธรรมชาติ นำการเกษตรมาทำให้เป็นเรื่องที่ใครๆก็เรียนรู้ได้ สัมผัสได้ กินได้ ดมได้ ดูได้ ใช้ได้อย่างปลอดภัยที่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่เพาะปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูปและจำหน่ายทั้งภายในและภายนอก และ ขั้นตอนการเตรียมปัจจุบัน เช่น การเตรียมดิน การหมักปุ๋ย การทำน้ำหมักชีวภาพ การต่อขยายเชื้อชีวภัณฑ์ เป็นต้น นำทั้งเรื่องท่องเที่ยวและเกษตรมาเชื่อมโยงเพื่อสร้างกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน

- พัฒนาสินค้าแปรรูปทางการเกษตรให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เป็นการยืดอายุสินค้าเกษตรได้อีกทาง สร้างมูลค่าการตลาดให้มากขึ้นได้อีกด้วย

- แผนการแบ่งพื้นที่ให้คนภายนอกได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตในรูปแบบการเป็นเจ้าของ โดยเปิดให้เช่าพื้นที่แปลงเพาะปลูกบางส่วน และผู้เช่าสามารถออกแบบและเลือกชนิดผัก พืช ที่ต้องการปลูกได้ ภายใต้สัญญาเช่า (รายละเอียดแนบมาในแผ่นถัดไป)


2. แผนพัฒนาภายนอก

- พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์ตำบลท่าไม้รวก มุ่งหาความรู้ใหม่มาถ่ายทอดให้กลุ่มสมาชิกได้นำไปใช้ ร่วมพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ทั้งสดและแปรรูปของกลุ่ม สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในกลุ่ม

- จับมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และท่องเที่ยวกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับพื้นที่ในชุมชน

- เปิดอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ฟรี เดือนละครั้งให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาเรียน

- เปิดสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนเปิดให้คนในชุมชนเข้ามาศึกษา ปรึกษา ดูงาน หาแนวทาง การทำได้ทุกเวลา เปิดพื้นที่ให้เป็นสวนต้นแบบของชุมชน ให้คนในชุมชนได้นำความรู้ไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ครอบครัว ลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกให้มากที่สุด

- เปิดอบรมหลักสูตรยุวเกษตรกรและไกด์จิ๋วให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าลาว ในระดับ ป.4-ป.6 เพื่อปลูกฝังวิถีชีวิตดีงามของการทำเกษตรอินทรีย์แนวธรรมชาติ ปลูกฝังความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ควร เมื่อน้องๆเรียนจบหลักสูตรน้องๆ จะเข้าใจกระบวนการผลิตพืชอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ รู้จักเรียนรู้การอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รู้จักพืชผักสมุนไพร และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวการทำเกษตรอินทรีย์ ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสวน รวมไปถึงสามารถบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชน ต.ท่าไม้รวก ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร เหล่านี้จะทำให้เด็กๆได้ซึบซับความเป็นวิถีรากเหง้าของชุมชน เด็กๆจะเห็นคุณค่าของผืนแผ่นดินเกิด และจะทำให้แผ่นดินเกิดมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดในความรู้สึกของเด็กๆ

ข้อมูลการติดต่อ

สุภิสาข์ มัยขุนทด อายุ 35 ปี
เลขที่ 13/1 หมู่ 7 ตำบล ท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์ 086 624 6635
www.suanphet.com และ www.organicisland4shop.com
FB : www.facebook.com/bysuanphet
IG : organic-island_by_suanphet
LINE@ : @suanphet

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด