ผมโตมาได้ด้วยเงินเหล่านี้
ผมมีชีวิตทุกวันนี้ด้วยเงินที่ได้จากสวนของพ่อแม่
จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะทิ้งสวน
และผมคงทิ้งอาชีพนี้ไปไม่ได้!!

ถ้าเอ่ยถึงคำว่า "อาชีพเกษตรกร" ในยุคก่อน 2000 จะมีหนุ่มสาวรุ่นใหม่สักกี่คนให้ความสนใจกับอาชีพที่ต้องเอาหลังสู้แดด เอาหน้าสู้ดิน เพื่อสร้างแหล่งอาหารให้คนในประเทศกิน จนผิวตัวดำคล้ำแห้งกร้าน หมดหล่อ หมดสวย และหาทางรวยจากอาชีพนี้ได้ยาก เพราะมีปัจจัยจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ราคา มาเป็นตัวการที่ทำให้เกิดรายได้แบบผันแปรเอาแน่เอานอนไม่ได้ จนใครๆ ต่างพากันเบือนหน้าหนีอาชีพเกษตรกรรม ทิ้งแผ่นดินทอง ท้องไร่ ท้องนา มุ่งเข้าเมืองกรุง ขายแรงงาน สร้างชีวิตอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิด
\\
แต่นั่นไม่ใช่สภาพความจริงของหนุ่ม-สาว ผู้ผันตัวเองมาเป็นเกษตกรในยุคเกิน 2000 ที่มีทั้งเกียรติ มีทั้งที่ดินทำกิน ไม่มีหนี้สิน มีความอบอุ่น ได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว และมีแต่จะสร้างตัวเองให้ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยเกษตรกรในยุคนี้ มีทั้งความฉลาด หล่อ สวย ดูดี มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาต่อยอดให้กับสิ่งที่ทำและแตกไลน์ไปได้หลายแขนง จนสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชผลที่คนรุ่นพ่อ แม่ทำไว้ ให้มีการเติบโตในทางที่ดี จนสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้อย่างมากมาย ตลอดจนไม่อยู่ในวังวนของหนี้สินเหมือนรุ่นเก่าก่อนอีกด้วย เพราะพวกเขามาพร้อมกับความรู้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงดอกเตอร์ จึงเป็นคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมตอบรับทุกสิ่งสร้างสรรค์ ภายใต้วิสัยทัศน์อันกว้างไกล สมกับฉายานามที่เรียกขานกันว่า Young Smart Farmer

นิธิภัทร์ ทองอ่อน หรือ โอ๋ เกษตรกร Young Smart Farmer หนุ่มหล่อ วัย 29 ปี จังหวัดระยอง อดีตนิสิตจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี คณะบริหารธุรกิจ เอกการจัดการอุตสาหกรรมนั้นคิดต่างอย่างสุดใจ เพราะอาชีพเกษตรกรรมนั้นทำให้ตนมีกิน สร้างเงิน สร้างงาน สร้างชีวิตให้แก่ครอบครัวมาได้นานหลายทศวรรษ และจะยาวนานสืบเนื่องไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน กับอาชีพที่เปรียบเสมือนแหล่งเงินบำนาญที่พ่อแม่สร้างบนผืนดินมรดกที่ตนภูมิใจ
กว่าจะมาเป็นผู้รับสืบทอดงาน "สวนทุเรียนลุงแกละ": "ผมเลือกเรียนบริหารธุรกิจ การจัดการอุตสาหกรรม เพราะชอบการบริหารและที่เลือกเรียนคณะนี้เพราะเห็นว่าในโซนชลบุรี ระยอง นี้มีอุตสาหกรรมเยอะ จึงอยากทำงานด้านนี้ ด้วยความที่เป็นคนลุยๆ อยู่แล้วด้วย จึงคิดว่าสาขานี้น่าจะเข้ากับตัวเองดี พอเรียนจบแล้วมาสมัครงานที่อมตะนคร อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ มหาวิทยาลัย ก็ได้ทำงานตรงกับสายที่เรียนมา ทำอยู่ประมาณ 5 เดือน จึงเริ่มรู้ตัวแล้วว่านี่ไม่ใช่ ด้วยความที่อยู่บ้านเดิม เป็นบ้านสวนผลไม้ผสมผสาน รถราไม่ติด ใช้ชีวิตแบบ Slow life สะดวกสบายกับบรรยากาศบ้านสวน แต่พอมาทำงาน เราต้องรีบตื่น รีบไปทำงาน ใช้ชีวิตแข่งกับเวลา แม้ที่พักจะอยู่ห่างจากที่ทำงานเพียง 6 กิโลเมตร และเข้างาน 08.00 – 17.30 น. หยุด เสาร์ อาทิตย์ แต่ก็ยังต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า เพื่อเตรียมตัวให้ทันรถรับส่งคนงาน และต้องเผื่อเวลาให้กับการจราจรที่ติดขัดพลุกพล่าน ส่วนตัวงานนั้นดี ตรงตามสายที่เรียนมา และงานไม่หนัก จริงๆ ก็ทำวันละชั่วโมงเอง แต่เบื่อเรื่องรถติดและสังคมเมืองที่วุ่นวาย เวลาไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก อีกอย่างการทำงานบริษัทนั้นก็ไม่ค่อยมีเวลาให้กับตัวเอง จึงไม่มีความสุข เพราะรู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา จึงได้ถามตัวเองอย่างจริงจังว่า จริงๆ แล้วตัวตนของเราคืออะไร ชอบอะไร และสังเกตุตัวเองว่า อยู่ที่ไหนแล้วมีความสุข แบบไม่ต้องปรุงแต่ง จึงพบว่าทุกๆ ครั้งที่เรารู้สึกเหนื่อย และ ท้อเราจะนึกถึงสวนของพ่อแม่ เมื่อเรากลับไปเข้าสวน ได้อยู่กับต้นไม้ที่พ่อแม่ปลูกไว้ แล้วรู้สึกมีพลังใจ จิตใจสงบ และได้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เราผูกพันคือสวนของพ่อแม่ สวนที่เราคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก"
"ต้องขอบคุณตั้งแต่พ่อแม่ที่ยอมรับการตัดสินใจของผม รวมถึงพี่ๆ เพื่อนๆ ในกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดระยอง ที่เป็นเสมือนพี่น้องคอยผลักดันให้ผมมีวันนี้ ซึ่งความจริงแล้วในกลุ่มนั้นมีคนเก่งๆ อยู่เยอะ และสามารถส่งเข้ามาประกวดได้หลายคน แต่พี่ๆ เขาเลือกที่จะส่งผมเข้ามาประกวดเพียงคนเดียว กลายเป็นมีผมคนเดียวทั้งจังหวัดด้วยที่เข้ามาประกวดในโครงการนี้ และในตอนที่ผมทราบข่าวว่าผมติด 1 ใน 30 คน ก็ดีใจกันตั้งแต่เกษตรอำเภอและคนในกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดระยอง กันแล้ว แต่นี่ติด 1 ใน 10 ด้วยยิ่งดีใจกันเข้าไปใหญ่ เพราะต่อให้จะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่ได้เป็น 1 ใน 10 นี้ผมก็ถือว่าเป็นความสำเร็จมากแล้วกับรางวัลนี้ที่ทำให้พ่อแม่มีความสุขได้ รางวัลนี้จึงเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย เพราะใจจริงไม่ได้มีความคาดหวังอะไร ใช้ชีวิตทำสวนไปตามปกติ ไม่คิดด้วยซ้ำไปว่าวันหนึ่งเด็กที่ทำการเกษตรแบบผมจะมาได้รับรางวัลนี้ รางวัลนี้จึงทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติต่อชีวิตผมอย่างยิ่ง ต้องขอบคุณทางดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดด้วยที่เกิดรางวัลนี้ขึ้นมา ผมมองว่ารางวัลนี้ทำให้อาชีพเกษตรกรได้รับการยกระดับและมีคุณค่าขึ้นมาในสังคม สำหรับผมแล้วนี่จึงเป็นรางวัลใหญ่ของชีวิตผม"

ภาพรวมการผลิต : โอ๋ นิธิภัทร์ ทองอ่อน ผู้จัดการสวนทุเรียนลุงแกละ รุ่นปัจจุบัน ดำเนินงานการเกษตรต่อจากรุ่นพ่อ ด้วยการจัดการดูแลทุเรียนผสมผสานกับกล้วย,ลองกอง,มังคุดและเงาะ บนพื้นที่ 50 ไร่และขนุนบนพื้นที่ 11 ไร่ โดยหลักๆ จะเน้นจัดการบริหารสวนทุเรียนเป็นหลัก โดยในสวนแบ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 80 %,พันธุ์ชะนี 10 %,พันธุ์พวงมณี และ พันธุ์ก้านยาวอย่างละ 5% บนพื้นที่ ที่มีทั้งดินลูกรังและดินร่วนปนทรายทั้งหมด 50 ไร่ แบ่งเป็นให้ผลผลิตแล้ว 30 ไร่(ประมาณ 400 ต้น) และ ยังไม่ให้ผลผลิต 20 ไร่(300 กว่าต้น) บางส่วนเป็นพันธุ์หมอนทองบนต้นตอชะนี มีตั้งแต่ต้นอายุ 1 ปี จนถึง 50 ปี โดยปลูกแบบผสมผสานกันไป ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน และเป็นการจัดการคุณภาพผลผลิตทุเรียนตามภูมิปัญญาโบราณอันทำให้ผลผลิตที่ได้จากสวนนี้มีความแตกต่างจากที่อื่น นั่นคือ ทุเรียนหมอนทองที่ผลิตได้มีเนื้อสีเหลืองทองสวย ด้วยที่สวนจะปลูกทุเรียนพวงมณี แซมไว้ในแปลงหมอนทองในอัตรา 1 ต้นต่อพื้นที่ 2-3 ไร่ เพื่ออาศัยละอองเกสรตัวผู้ของทุเรียนพันธุ์พวงมณี ที่มีความโดดเด่นคือ สามารถปลิวไปกับลมหรือแพร่กระจายพันธุ์ได้ดี ทำให้ละอองเกสรตัวผู้ของพันธุ์พวงมณีปลิวไปผสมกับเกสรตัวเมียของพันธุ์หมอนทองได้ทั่วถึงทั้งสวน ซึ่งพันธุ์พวงมณีจะมีเนื้อสีเข้มกว่าพันธุ์อื่น ผลที่ได้จึงทำให้เนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทองในสวนที่ได้รับการผสมเกสรจากพันธุ์พวงมณีมีสีเหลืองทองไปทางพวงมณี แต่รสชาติและเอกลักษณ์อื่นๆ ยังคงเป็นหมอนทองเช่นเดิม จนคนที่มีโอกาสได้มาชิม ชม ช็อปทุเรียนจากสวนแห่งนี้ต่างเรียกขานกันตามเอกลักษณ์ของทุเรียนหมอนทองที่นี่ว่า "ทุเรียนเนื้อทองลุงแกละ" และถ้าอยากได้ทรงลูกสวย ให้ปลูกพันธุ์กระดุมแซมไว้กลางแปลงพันธุ์หมอนทองในอัตรา 1 ต้นต่อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 200 ต้น จะทำให้ได้ผลหมอนทองที่มีรูปทรงสวย
นอกจาก "ทุเรียนเนื้อทองลุงแกละ"แล้ว สวนแห่งนี้ยังมีเอกลักษณ์ที่ชวนจำด้วยการนำเครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องพ่นยาแอร์บลาส รถนั่งตัดหญ้าและรถกระเช้า มาใช้การจัดการสวนควบคู่ไปกับการจัดแต่งทรงพุ่มทุเรียนให้มีความสูงไม่เกิน 7 เมตร เพื่อให้สะดวกต่อการทำงานภายในสวนซึ่งละเอียดอ่อน และลดปัญหาเรื่องแรงงานภาคการเกษตรหายากขึ้นในแต่ละวันได้อย่างดีอีกด้วย
การจัดสรรพื้นที่ : แบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 เป็นการปลูกแบบผสมผสาน แต่เป็นการจัดระเบียบให้เป็นสวนที่สวยงามเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชม
ส่วนที่ 2 เป็นการปลูกแบบแยกประเภทชัดเชน เพื่อง่ายต่อการจัดการระบบภายในสวนและบริหารการผลิตได้อย่างลงตัวตามที่ตั้งใจไว้
การวางแผนการผลิต : มีการจัดการ การปลูก การเว้นระยะห่างเพื่อที่จะรองรับเครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนในด้านของแรงงาน และมีการวางระบบน้ำที่สามารถลดเวลาในการให้น้ำได้
การบริหารจัดการ :
- การบริหารจัดการพื้นที่ จัดการความเสี่ยง การควบคุมคุณภาพและสร้างมาตรฐานผลผลิตการเกษตร
- องค์ความรู้ เทคนิคพิเศษ การจัดการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต
มีการจัดการพื้นที่เพาะปลูกเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานทำให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทนต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้และแมลงได้ ทำให้ดูแลควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น
องค์ความรู้ส่วนหนึ่งได้จากการปฏิบัติงานเองและเจอปัญหาอย่างไรบ้าง และจะจัดการกับปัญหานั้นได้อย่างไร จึงเป็นการเรียนรู้จากการสังเกตจึงค้นพบเทคนิคพิเศษในการควบคุมและดูแลต้นไม้ได้ เช่น การให้น้ำอย่างไรให้ติดผลดี การให้น้ำอย่างไรให้ผลออกมามีรูปทรงที่สวยงาม การให้อาหารอย่างไรให้ทุเรียนมีรสชาติที่ดี

แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
การแปรรูปผลผลิต : มีทั้งหมด 4 ชนิด
1. ทุเรียนทอด
2. ทุเรียนกวน
3. ขนุนทอด
4. ขนุนเชื่อม
การตลาด :
1. ขายผลผลิตสดเชิงปริมาณตามกลไกลตลาด
2. ขายผลผลิตเชิงคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมแบบรับประกันความพอใจ ด้วยราคาที่กำหนดเอง
- มีการออกแบบโลโก้,ไอดีไลน์,เบอร์โทร,แฟนเพจ เครื่องหมายรับรองของกลุ่ม Young Smart Farmer Rayong เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในแบรนด์ "สวนทุเรียนลุงแกละ"
- การจัดการด้านโลจิสติกส์นั้น จะมีคู่ค้ามารับผลผลิตโดยตรงจากสวน ส่วนสินค้าคุณภาพเราจะส่งถึงลูกค้าโดยตรงผ่านบริษัทรับส่งสินค้า เช่น ไปรษณีย์ไทย,เคอรี่,TP ขนส่ง เป็นต้น
- ในเรื่องของการแข่งงขันนั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะจะมีการขายส่งถึงมือลูกค้าที่แน่นอนอยู่แล้ว โดยสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมจะขายออนไลน์ผ่านแฟนเพจ เน้นขายสินค้าที่มีคุณภาพ จนมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นและเข้ามารับถึงหน้าสวนด้วยตนเอง นอกจากนี้การันตีมาตรฐานการผลิตโดย GAP และสัญลักษณ์ของ Yong smart Farmer Rayong
การประยุกต์ใช้นวัตกรรม/เทคโนโลยีการเกษตร : มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้สร้าง Story เรื่องราวความสวยงามเกี่ยวกับการทำสวน มีการสืบค้นข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานสวน มีการนำเครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ มาใช้ เช่น การนำรถพ่นยา(แอร์บลาส) รถตัดหญ้าแบบนั่งขับ รถกระเช้า มาใช้ในงานสวน และติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้พลาดการวางแผนการผลิตทุเรียนนอกฤดู
แผนการพัฒนาการเกษตรในอนาคต : ณ เวลานี้ในยุคเกษตรกร 4.0 การทำตลาดออนไลน์มีอิทธิพลมาก จึงมีการวางแผนว่าจะผลิตผลไม้นี้เข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้า ที่เน้นบริโภคผลไม้คุณภาพ และรสชาติดีมีเอกลักษณ์ ซึ่งในอนาคตจะทำการปรับปรุงสายพันธุ์ ให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและแปลกใหม่ให้แก่ลูกค้า และจะเจาะกลุ่มลูกค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจากสวนของเรา ส่งจำหน่ายไปไกลถึงต่างแดน เช่น จีน เกาหลี ซึ่งมีการติดต่อเข้ามาแล้วเบื้องต้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรของต่อไปในอนาคต

เกียรติประวัติและผลงาน :
- ปี พ.ศ.2560 รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด
- ปี พ.ศ.2559 รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 การประกวด "ขนุน" ในงานเทศกาลถนนผลไม้ อำเภอวังจันทร์
- ปี พ.ศ.2558 รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 การประกวด "ทุเรียนพันธุ์ชะนี" ในงานเทศกาลถนนผลไม้ อำเภอวังจันทร์
- ปี พ.ศ.2558 รางวัลชนะเลิศ การประกวด "ขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ" ในงานเทศกาลถนนผลไม้ อำเภอวังจันทร์
- ปี พ.ศ.2556 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP "ทุเรียน" รหัสรับรอง กษ 03-9001-2552-361140591111
- ปี พ.ศ.2551 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดผลไม้ยักษ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภท "ทุเรียน"
- ปี พ.ศ.2550 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP "ลองกอง" รหัสรับรอง กษ 03-02-3608-0035-128
- ปี พ.ศ.2548 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP "มังคุด" รหัสรับรอง กษ 03-02-3608-0035-126
นายนิธิภัทร์ ทองอ่อน
"สวนทุเรียนลุงแกละ"
บ้านเลขที่ 117 หมู่ 6 ตำบลวังจันทร์
อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง 21210
โทร.0632516563
FB : Aoh Nitipat
FBP : สวนทุเรียนลุงแกละ
Line : Aoh_Nitipat
IG : Nipat_Aoh
