
กลุ่มเกษตรกรทำนากเรือ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2519 ตีตราทะเบียนเลขที่ ยส.4/2519 ณ บ้านเลขที่ 118 ม.4 ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร พื้นที่กลุ่มครอบคลุม 2 อำเภอ 25 ตำบล 38 หมู่บ้าน มีสมาชิกจำนวน 853 ราย และนอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่อยู่อำเภอใกล้เคียง โดยมีสมาชิกผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 204 ราย
ปี พ.ศ. 2520-2536 ชาวบ้านได้ระดมความคิดและกำลังทุนเพื่อรับซื้อ-ขายข้าวเปลือก เป็นการก่อตั้งกลุ่มโดยชาวบ้าน ดำเนินการโดยชาวบ้าน และเพื่อชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการปลดแอกให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ต้องอยู่ภายใต้การกำหนดราคาของนายทุน จากการรับซื้อ-ขายข้าวเปลือกจึงมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างโรงสีชุมชนขึ้น ขนาด 16 เกวียน/วัน และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ปี พ.ศ. 2544 จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องขององค์กรชุมชน จนพอมีเงินทุนหมุนเวียน ทางกลุ่มฯจึงได้ขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 40 เกวียน/วัน และตลอดช่วงระยะเวลากว่า 30 ปี ที่กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือได้พิสูจน์ตัวเองให้หลายหน่วยงาน หลายองค์กร เข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพี่น้องชาวบ้าน ชาวนา เกษตรกรรายย่อยที่ได้หลุดพ้นการเป็น “ชาวนาที่มีหัวใจการผลิต แต่ไม่มีสิทธิ์กำหนดราคา” จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันทางกลุ่มฯดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวชุมชน ธนาคารชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์/กองทุนปุ๋ยอินทรีย์ และสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ มีผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวแปรรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ทุ่งนาทอง” และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอื่นๆ อาทิ น้ำมันรำข้าว เจลล้างหน้า ครีมอาบน้ำ โลชั่นทาผิว ครีมทาส้นเท้า ฯลฯ
1. การสกัดน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ด้วยวิธีหีบเย็น
รายละเอียดข้อมูล : การสกัดน้ำมันรำข้าวจากวิธีการหีบเย็น เป็นการสกัดน้ำมันด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งสามารถนำน้ำมันที่สกัดได้มาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ น้ำมันที่ได้จะมีคุณภาพดีและไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
ขั้นตอนและวิธีการสกัด :
- คัดเอารำข้าวที่ได้จากกระบวนการปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จะต้องเป็นรำข้าวที่ใหม่ สะอาด และผ่านการสีมาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน
- นำรำข้าวที่ได้เข้าเครื่องสกัดแบบหีบเย็น ซึ่งรำข้าว 100 กิโลกรัม จะสามารถสกัดน้ำมันรำข้าวได้วันละ 5-7 ลิตร โดยเครื่องจะบีบอัดรำข้าวจนได้กากรำและน้ำมันรำแยกตัวออกจากกัน
- นำน้ำมันที่ได้ไปกรองด้วยตะแกรงโลหะ และผ้าขาวบางอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อกรองเอากากรำออกไปให้ได้มากที่สุด จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน จนมองเห็นน้ำมันรำข้าวสีเหลืองใส ปราศจากตะกอน
- นำนำมันรำข้าวที่ได้ไปบรรจุขวด หรือ บรรจุลงแคปซูล เพื่อเก็บไว้บริโภค หรือจำหน่ายต่อไป
ประโยชน์จากน้ำมันรำข้าว :
- น้ำมันรำข้าวที่สกัดด้วยวิธีหีบเย็นจะมีปริมาณน้ำมันอยู่ 12-25% โดยเฉลี่ยประมาณ 15% ของน้ำหนักรำข้าว เมื่อทำการสกัดออกมาจะมีปริมาณกรดไขมันอิสระอยู่ 4-6% ซึ่งมีประโยชน์ในระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบขับถ่าย ไขข้อ ปวดเมื่อย กระดูกพรุน เหน็บชา เพิ่มระดับการเผาผลาญสารอาหาร มีส่วนในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าน้ำมันตับปลาถึง 60 เท่า ต้านมะเร็ง เพิ่มภูมิต้านทานร่างกายได้ ระบบหลอดเลือดจะลดครอเรสเตอรอล ลดการตีบตันของหลอดเลือด เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ระบบฮอร์โมนจะลดภาวะปกติของวัยทอง ลดความเสี่ยงของสภาวะกระดูกพรุน ในระบบประสาทจะช่วยเสริมความจำ ลดความเสี่ยงต่อสภาวะอัลไซเมอร์ ลดความเครียด ช่วยให้หนอนหลับสบาย ป้องกันรังสีUV ลดรอยเหี่ยวย่นของผิวใบหน้า ในระบบผิวหนังจะช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ลดฝ้า รอยด่างดำ ช่วยลดการอักเสบหรือรักษาสิวอักเสบได้
หมายเหตุ : กากของรำข้าวที่ผ่านกระบวนการหีบเย็นแล้วสามารถนำไปผสมอาหารสัตว์หรือใช้เลี้ยงปลาได้
2. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรเร่งการเจริญเติบโตข้าว(สำหรับผลิตปุ๋ย 1 ตัน)
วัตถุดิบส่วนผสม :
- มูลวัวแห้ง จำนวน 500 กิโลกรัม
- มูลสุกรแห้ง จำนวน 200 กิโลกรัม
- แกลบดำ จำนวน 50 กิโลกรัม
- ฟอสเฟส จำนวน 50 กิโลกรัม
- โดโลไมท์ จำนวน 100 กิโลกรัม
- แร่เพอร์ไลท์ จำนวน 50 กิโลกรัม
- ฟิลเลอร์ จำนวน 50 กิโลกรัม
- น้ำหมัก พด.2
ขั้นตอนและวิธีการทำ :
- ย่อยวัตถุดิบแต่ละชนิดให้ละเอียดด้วยเครื่องย่อย แล้วคัดแยกเอากากออก จากนั้นนำวัตถุดิบทั้งหมดเข้าเครื่องผสม
- นำวัตถุดิบทั้งหมดผสมให้เข้ากัน ฉีดพ่นด้วยน้ำหมัก พด.2 ผสมกับน้ำ ให้ได้เนื้อปุ๋ยที่มีความชื้นพอเหมาะ
- นำวัตถุดิบส่วนผสมทั้งหมดไปกองบนพื้นซีเมนต์ จากนั้นใช้พลาสติกคลุม และทำการเปิดพลาสติกเพื่อควบคุมอุณหภูมิ 2-3 วัน/ครั้ง ทำการหมักนาน 7-15 วัน สังเกตจากกองปุ๋ยเย็นไม่มีความร้อน จากนั้นก็สามารถนำวัตถุดิบทั้งหมดไปเข้าเครื่องอัดเม็ดได้
- นำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการอัดเม็ดไปตากผึ่งลม(ไม่ให้โดนแสงแดด)ให้แห้ง ก่อนนำไปใช้งาน หรือบรรจุใส่กระสอบเก็บไว้ใช้งานต่อไป
- รางวัลชนะเลิศการประกวดกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัด ปี พ.ศ. 2535-2539
- รางวัลชนะเลิศการประกวดกลุ่มเกษตรกรระดับภาค ปี พ.ศ. 2540-2541
- รางวัลชนะเลิศการประกวดกลุ่มเกษตรกรระดับประเทศ ปี พ.ศ. 2541
- จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์
- รางวัลผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP(ระดับ 4 ดาว)
- เป็นแหล่งผลิตข้าวปลอดสารพิษและข้าวอินทรีย์มาตรฐานกรมวิชาการเกษตร(Q) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มาตรฐาน BIOSSIW จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาตรฐาน EU ของประเทศในแถบยุโรป(IFOAM) และมาตรฐาน NOP ของประเทศสหรัฐอเมริกา
- รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2555 จ.ยโสธร(ประเภทการพัฒนาเกษตรกรและผลิตภัณฑ์)

64 ม.4 ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร 35130