เกษตรกรต้นแบบ
"กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (กลุ่มเกษตรทิพย์)...แปรรูปข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ"
คุณบุญมี สุระโคตร  จ. ศรีสะเกษ ปี 2554

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง หรือ "กลุ่มเกษตรทิพย์" เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จัดตั้งขึ้นเมื่อ เดือน มีนาคม พ.ศ. 2547 และจดทะเบียนกลุ่มเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตราเกษตรทิพย์ และ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง ด้วยพันธกิจที่ว่า “สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ด้วยเกษตรอินทรีย์ วิถีแบบพอเพียง” มีสมาชิกเริ่มต้น 74 คน และ ปัจจุบันมีสมาชิก 500 คน มีนายบุญมี สุระโคตร เป็นประธานกลุ่ม

หลักคิดและการใช้ชีวิต

กลุ่มเกษตรกรในหมู่บ้านอุ่มแสงจึงมีแนวความคิดที่จะช่วยกันลดต้นทุนด้านการผลิต และได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ด้วยการลดรายจ่าย ลดต้นทุนการปลูกข้าวควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เริ่มจากการไม่เผาตอซังและไถกลบตอซังและหว่านพืชปุ๋ยสด ปอเทืองและถั่วพร้า และหาสมาชิกที่มีแนวคิดที่คล้ายกัน จัดตั้งกลุ่มขึ้นนาม “กลุ่มเกษตรทิพย์”เริ่มต้นด้วยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้กันเองในกลุ่มสมาชิก ในปีแรก และปีต่อมาจึงมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนขึ้น เพื่อแปรรูปผลผลิตที่สมาชิกเกษตรกรผลิตขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก้ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวกล้องงอกเกษตรอินทรีย์ เมล็ดถั่วเหลืองOrganics ผ่านการับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(Organics Thailand) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ(IFAOM) กลุ่มสินค้ายุติธรรม(Fairtrade) และได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น

แนวคิดการแปรรูปข้าวอินทรีย์เกิดจากคณะกรรมการในกลุ่มเล็งเห็นถึงโอกาสและช่องทางด้านการตลาดของข้าวอินทรีย์ เนื่องจากมีโอกาสได้ออกแสดงและจำหน่ายสินค้า ที่ส่วนราชการจัดขึ้น จึงเห็นว่า ตลาดข้าวอินทรีย์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกรปลูกข้าวปลอดสารพิษและข้าวอินทรีย์มากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกรส่วนหนึ่งผลิตข้าวหอมสีนิล ข้าว Rice berry ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณประโยชน์สูงและราคาดีกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการแปรรูปข้าวเป็นข้าวกล้องงอกเพื่อสร้างมูลค่า

เกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์

ความสามารถอันโดดเด่น

1. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวโดยไม่ต้องกลับกอง
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- ตอซังและฟางข้าว
- มูลสัตว์แห้ง(โค-กระบือ-สุกร-ไก่)
- น้ำสะอาด
- หลาวไม้ไผ่
ขั้นตอน/วิธีการทำ :
- นำตอซังและฟางข้าวมากองเป็นชั้น ขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ยาว 4.00 เมตร โดยเกลี่ยกองฟางให้ได้ความหนา 10 ซม.
- โรยทับด้วยมูลสัตว์ อัตรา 1/4 (ฟาง 4 ส่วน /มูลสัตว์ 1 ส่วน) แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
- โรยทับด้วยฟางข้าวสลับกับมูลสัตว์แบบเดิมเป็นชั้นๆ ประมาณ 15 ชั้น (ความสูงประมาณ 1.50 เมตร เป็นกองปุ๋ยรูป 3 เหลี่ยม)
- ทำการรดน้ำกองปุ๋ยให้ชุ่มทุกวัน เช้า หรือ เย็น
- หลังจากทำการหมักฟางไว้ 10 วัน ให้ใช้หลาวไม้ไผ่เจาะรูจากด้านบนลึกลงไปให้ถึงพื้น ห่างกันจุดละประมาณ 1-2 เมตร แล้วเติมน้ำลงไปให้มีความชื้นและให้อากาศเข้าไปกระตุ้นให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ให้เกิดกระบวนการย่อยสลายได้เร็วขึ้น
- ใช้ระยะเวลาในการหมัก 60 วัน ฟางข้าวจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยโดยไม่ต้องกลับกอง
หมายเหตุ : ฟางข้าว 1 ไร่ สามารถนำมาผลิตปุ๋ยหมักได้ 1 ตัน จากนั้นก็เอากลับไปใส่ลงในนาข้าวเพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินต่อไป
2. การผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้ย่อยสลายตอซังข้าว
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- เศษผัก,เศษอาหาร จำนวน 40 กก.
- กากน้ำตาล จำนวน 10 กก.
- สารเร่ง พด.2(กรมพัฒนาที่ดิน) จำนวน 1 ซอง
- น้ำสะอาด จำนวน 10 กก.
- ถังหมักพลาสติกทึบแสง จำนวน 1 ถัง
ขั้นตอน/วิธีการทำ :
- นำพืชผัก หรือเศษอาหาร มาสับจนละเอียด ใส่เตรียมไว้ในถังหมัก
- เทกากน้ำตาลลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันกับเศษผักเศษอาหารที่เตรียมไว้
- นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง ผสมในน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากัน นาน 5 นาที แล้วเทคลุกเคล้าให้เข้ากันกับวัตถุดิบทั้งหมดในถังหมัก แล้วปิดฝาถังหมักให้สนิท ตั้งเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแสงแดด
- หมั่นคนวัตถุดิบอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดียิ่งขึ้น ใช้ระยะเวลาในการหมัก 15 วัน แล้วนำไปใช้งานต่อไป
การนำไปใช้งาน :
- น้ำหัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำสะอาด 1,000 ส่วน(1:1,000) คนละลายให้เข้ากัน แล้วนำไป ฉีดพ่นตอซังข้าวให้ชุ่มในช่วงเย็นแล้วทำการไถกลบ จะใช้ระยะเวลาย่อยสลายภายใน 15 วัน
โดยลุงบุญมี แนะนำเอาเศษผัก เศษอาหาร ที่เกษตรกรพอจะหาได้ นำมาหมักกับ พด.2 จากกรมพัฒนาที่ดิน หมักเพียง 15 วัน ก็จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้น

เกียรติประวัติและผลงาน

-เป็นวิทยากรด้านเกษตรอินทรีย์
-เป็นหมอดินอาสา และจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลดู่
-จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตข้าวอินทรีย์แบบครบวงจร
-เป็นกลุ่มต้นแบบการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดสารพิษและข้าวอินทรียืจังหวัดศรีสะเกษ
-เป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล ที่ได้รับการรับรองจาก Organic Agriculture Certification
Thailand
-รางวัลศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีดีเด่น ปี 2548
-ได้รับเกียรติบัตรเป็นผู้ดำรงตนอยุ่ในคุณธรรมจริยธรรมและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ภายใต้โครงการเมืองไทยเมืองคนดี ปี 2551
-รางวัล “คุณค่าทางอาหารของข้าวกล้องงอก” จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นการส่งข้าวกล้องงอกเข้าประกวดในงานเกษตรแฟร์ ปี 2553 และปี 2554
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับอำเภอราษีไศล สาขาอาชีพทำนา ปี 2553
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับเขต สาขาอาชีพทำนา ปี 2554
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ปี 2554
-รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2554 จ.ศรีสะเกษ(ประเภทกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าว)
-รางวัลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2556

บุญมี สุระโคตร
ข้อมูลการติดต่อ

155 ม.7 บ.อุ่มแสง ต.ดู่แสง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ 33160

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด