
นายช่วย สาสุข เกษตรกรเจ้าของฉายา “ปราชญ์ชาวนาแห่งทุ่งกุลาร้องไห้” จากลูกชาวนาที่ครอบครัวประสบปัญหาหนี้สินจากอาชีพการทำนาและมีนิสัยที่ชอบท้าทาย จึงออกไปทำงานแสวงหารายได้ จากพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ.2540 นายช่วย สาสุข จึงตัดสินใจหันหลังกลับมาสู่ภาคการเกษตรที่บ้านเกิดอีกครั้ง ที่บ้านโพนละมั่ง ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ดำเนินกิจกรรมไร่นาสวนผสมจนมีการพัฒนาพื้นที่เป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายช่วย สาสุข เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ ความสามารถและมีผลงานดีเด่นมากมายหลายด้าน เช่น การทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล(Organic Agriculture Certification Thailand) ผ่านการรับรอง GI ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เอง จัดทำแปลงสาธิต และเก็บรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ ข้าวเล้าแตก ข้าวสันป่าตอง ข้าวนางนวล ข้าวโสมมาลี สามารถผสมพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า “พันธุ์หินกอง1” และข้าวพันธุ์ผสม “ข้าวหอม101สายพันธุ์) รวมถึงข้าวพันธุ์พื้นบ้านอีกหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสียสละและสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน เช่น เป็นหัวหน้ากลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านโพนละมั่ง เป็นวิทยากรด้านการเกษตรอินทรีย์ เป็นครูใหญ่โรงเรียนฝึกหัดควายไถนา และอื่นๆอีกจำนวนมาก
1.เทคนิคการคัดและขยายเมล็ดข้าวพันธุ์ดี
ขั้นตอนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว :
- คัดเมล็ดพันธุ์จากรวงที่สมบูรณ์ แล้วตากให้แห้ง
- ข้าว 1 รวง จะคัดเลือกเฉพาะเมล็ดข้าวเต็มเม็ด สีเหลืองนวล เพียง 15-20 เมล็ด
- แกะเปลือกออกให้เป็นข้าวกล้อง เลือกเอาเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สุด มีจมูกข้าวติดอยู่ เมล็ดเรียว ยาว ตรง สวย และไม่เป็นท้องไข่
- นำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลง หรือในกระถาง หรือในถาด โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ผสมดิน โรยเมล็ดข้าว แล้วโรยดินกลบบางๆ คลุมด้วยตาข่ายพลางแสง รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน
- เมื่อข้าวงอกเป็นต้นกล้า ประมาณ 15-20 วัน สามารถนำไปปักดำและดูแลรักษาตามปกติ รอข้าวมีอายุเหมาะสมเก็บเกี่ยวก็สามารถเก็บเกี่ยวไว้เพื่อเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ต่อไป
หมายเหตุ : เทคนิควิธีการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวในรูปแบบนี้สามารถทำได้กับข้าวทุกสายพันธุ์ ทำได้ทุกๆ 5 ปี โดยข้าว 1ต้น จากเมล็ดข้าว 1 เมล็ด จะสามารถขยายพันธุ์ข้าวได้มากถึง 35-40 รวง ซึ่งจะได้ข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์ มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ข้าวไม่กลายพันธุ์และผลผลิตข้าวมีคุณภาพดี
2.การปรับปรุงดินที่มีธาตุอาหารต่ำก่อนปลูกพืช
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- ดินที่ขุดมาจากบ่อ/ดินที่มีธาตุอาหารต่ำ
- ปุ๋ยคอกจากมูลโค-กระบือ
- น้ำหมักชีวภาพ
- ฟางแห้ง
ขั้นตอนและวิธีการทำ:
- ตีแปลงขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ยาว 12 เมตร หรือความยาวตามความเหมาะสม
- นำปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัมผสมกับน้ำหมักชีวภาพ 2 ลิต คลุกเค้าให้เข้ากันกับเนื้อดิน
- ในการปรับปรุงดินควรทำทีละแปลงไปอย่างช้าๆโดยไม่ต้องรีบร้อน
- ใช้ฟางแห้งคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นอยู่เสมอ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 7-15 วัน
- ทำการไถพรวนดิน 5 ครั้ง ก่อนปลูกพืช จะได้ดินที่มีเหมาะสำหรับการปลูกพืช พืชเจริญเติบโตได้ดี
3.การสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับสัตว์เลี้ยงด้วยน้ำหมักสมุนไพร
วัสดุ/อุปกรณ์ :
- สมุนไพสมุนไพร 4ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม และบอระเพ็ด รวมกัน 3 กก.
- กากน้ำตาล 1 กก.
- น้ำเปล่า 10 ลิตร
ขั้นตอนและวิธีการทำ:
- นำสมุนไพรทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม และบอระเพ็ด รวมกัน 3 กก. สับให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือทุบให้พอแตก หมักรวมกับกากน้ำตาล และน้ำเปล่า ตามอัตราส่วนที่กำหนด นาน 3 เดือนขึ้นไป
การนำไปใช้ประโยชน์ :
- นำน้ำหมักสมุนไพร 1 แก้ว ผสมกับน้ำเปล่า 10 ลิตร ให้สัตว์กินแทนน้ำทุกวัน เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆได้
4.วิธีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าวให้ครบ 500 กิโลกรัม/ไร่ ทดแทนปุ๋ยเคมี :
-การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 : ทำการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงดินและย่อยสลายตอซังข้าว โดยใช้น้ำหมัก 5 ลิตรต่อน้ำ 100 ลิตรหรือ 1:20 จากนั้นทำการไถกลบตอซังไปพร้อมกับการหว่านเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้า อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ ภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต การไถกลบตอซังและฟางข้าวจะได้ปุ๋ยในนาข้าว 200 กก./ไร่
-การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 : ภายหลังจากถั่วพร้าเจริญเติบโตเต็มที่ ประมาณ 150-170 วัน เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูกาลถัดไป จากนั้นก็ทำการไถกลบต้นถั่วพร้า การไถกลบถั่วพร้าจะได้ปุ๋ยในนาข้าว 100 กก./ไร่
-การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 : ทำการหว่านถั่วพุ่มไปพร้อมกับการไถกลบถั่วพร้า อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ แล้วทำการไถกลบในช่วงออกดอก ประมาณ 45-50 วัน แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย 1-2 สัปดาห์ การไถกลบถั่วพุ่มจะได้ปุ๋ยในนาข้าว 100 กก./ไร่
-การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 4 : ทำการหว่านปุ๋ยคอกหมัก 100 กก./ไร่ พร้อมกับการไถกลบถั่วพุ่มแล้วปล่อยให้ย่อยสลาย 1-2 สัปดาห์ ก่อนการทำนา
...ทั้งนี้... ปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 500 กิโลกรัมที่ใส่ลงไปในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีธาตุอาหารหลัก N-P-K และธาตุอาหารรอง ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าวใน 1 ฤดูกาลผลิต ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวจะค่อยๆย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาทีละน้อยตลอดช่วงระยะการเจริญเติบโตของข้าวจนถึงเก็บเกี่ยว ด้วยต้นทุนค่าปุ๋ยเพียง 300 บาท/ไร่ โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีใดๆ
การคำนวณต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์ 500 กิโลกรัม/ไร่ :
•การหว่านถั่วพร้า ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม/ไร่ ด้วยต้นทุนเพียง 100 บาท (ค่าเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้า กก.ละ 20 บาท)
•การหว่านถั่วพุ่ม ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม /ไร่ ด้วยต้นทุนเพียง 100 บาท (ค่าเมล็ดพันธุ์ถั่วพุ่ม กก.ละ 20 บาท)
•ปุ๋ยคอกหมัก 100 กิโลกรัม ใช้ต้นทุนเพียง 100 บาท (คิดค่าปุ๋ยหมัก กก.ละ 1 บาท)
•ตอซัง ฟางข้าว และน้ำหมักชีวภาพ ไม่คิดเป็นค่าใช้จ่าย
•รวมค่าปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 300 บาท/ไร่
หมายเหตุ : นอกจากปุ๋ยพืชสด ฟางข้าวและปุ๋ยคอกหมักที่เราเติมลงไปในนาข้าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก่อนการทำนาแล้ว เกษตรกรสามารถนำเอาน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆมาช่วยเสริมอาหารทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโตให้กับต้นข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
5.น้ำหมักฮอร์โมนสูตรไนโตรเจนเร่งการแตกกอข้าว ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี
วัตถุดิบ/ส่วนผสม :
-น้ำหมักชีวภาพจากพืชผัก (ฮอร์โมนน้ำแม่) 5 ส่วน
-น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้สุก (ฮอร์โมนน้ำพ่อ) 1 ส่วน
การนำไปใช้งาน :
-นำน้ำหมักชีวภาพทั้ง 2 สูตร มาผสมกันในภาชนะตามอัตราส่วนที่กำหนด จะได้ฮอร์โมนน้ำหมักสูตรไนโตรเจน(N) ผสมน้ำสะอาด อัตรา น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วนต่อน้ำ 500 ส่วน ฉีดพ่นในนาข้าวหลังจากปักดำ 15-20 วัน ช่วงเช้าหรือเย็นเพียงครั้งเดียว จะช่วยบำรุงใบและยอดข้าว ข้าวใบเขียว ต้นข้าวแตกกอได้ดี ต้นข้าวสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยเร่งการเจริญเติบโตข้าวโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี
สูตรน้ำหมักฮอร์โมนสูตรแม่และน้ำหมักฮอร์โมนสูตรพ่อ
-น้ำหมักฮอร์โมนสูตรนำแม่(จากพืชผัก) : พืชผัก ( ผักบุ้ง,หน่อไม้,หน่อกล้วย) รวม 3 กก. + กากน้ำตาล 1 กก. ระยะเวลาในการหมัก 15 วัน
-น้ำหมักฮอร์โมนสูตรน้ำพ่อ(จากผลไม้สุก) : ผลไม้สุก (กล้วยน้ำว้าสุก,ฟักทองแก่,มะละกอสุก) รวม 3 กก. + กากน้ำตาล 1 กก. ระยะเวลาในการหมัก 15 วัน
-เป็นผู้นำการผลิตเกษตรไร้สารเคมีและสร้างอาชีพยั่งยืน
-เป็นวิทยากรด้านเกษตรอินทรีย์
-เป็นหมอดินอาสา และจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลหินกอง
-จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร
-จัดตั้งโครงการอนุรักษ์กระบือไทย/ธนาคารกระบือไทย/จัดตั้งโรงเรียนฝึกควายไถนาและเป็นครูผู้สอนการใช้ควายไถนา
-จัดตั้งโครงการอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การจัดทำพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน
-เป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล ที่ได้รับการรับรองจาก Organic Agriculture Certification Thailand
-รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2552 จ.ร้อยเอ็ด
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด สาขาอาชีพทำนา ปี 2555
-รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ปี 2556

14 ม.12 บ้านโพนละมั่ง ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 45130