เกษตรกรต้นแบบ
"ทศพล สุวจันทร์...เจ้าของสวนผลไม้เลื่องชื่อในภาคอีสาน..ปลูกแบบปลอดสาร"
คุณทศพล สุวจันทร์  จ. ศรีสะเกษ ปี 2552

นายทศพล สุวจันทร์ เกษตรกรวัย 55 ปี เจ้าของสวนทศพลแห่งบ้านซำตารมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกไม้ผลที่ได้รับรางวัลมากมายด้านการเกษตร เป็นผู้คิดริเริ่มการทำสวนผลไม้และสวนยางพาราในพื้นที่บ้านซำตารมย์ อ. กันทรลักษณ์ จ. ศรีสะเกษ ภายในสวนทศพลมีเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ ทำสวนยางพารา และสวนไม้ผลผสมผสาน เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ส้มโอ ส้มเช้ง ส้มสายน้ำผึ้ง

หลักคิดและการใช้ชีวิต

สวนผลไม้ในแถบนี้จะไม่ใหญ่โตเหมือนสวนผลไม้ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่ผลไม้ที่นี่ก็ขึ้นชื่อด้านของคุณภาพ เนื่องจากพื้นที่สวนจะอยู่ใกล้กับบ้านพักอาศัย เกษตรกรเน้นการดูแลรักษาที่ใช้สารเคมีน้อย ทำให้ผลไม้ที่ได้มีคุณภาพดี ปลอดภัย และผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร โดยผลไม้ศรีสะเกษจะออกผลผลิตช้ากว่าผลไม้จากภาคใต้ และภาคตะวันออก จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด ผลผลิตที่ออกมาจะมีทั้งขายให้แม่ค้าคนกลาง ส่งไปที่จังหวัดจันทบุรี ส่งไปที่ประเทศเวียดนาม ฯลฯ นอกจากนั้นในทุกๆปีคุณทศพลจะมีการเปิดสวนให้ผู้สนใจเข้ามาเที่ยวชม และรับประทานผลไม้สดๆจากต้น ซึ่งการเปิดสวนมักจะทำกันในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี (ในงานเทศกาลเงาะ-ทุเรียนของดีศรีสะเกษ)

ความสามารถอันโดดเด่น

1. เทคนิคการผสมเกสรทุเรียนอย่างง่าย

การปลูกทุเรียนนั้น ถ้าเกษตรกรปล่อยให้เกสรทุเรียนผสมกันเองตามธรรมชาติ ทุเรียนจะติดผลน้อยมาก ถ้าเป็นพันธุ์ก้านยาวจะติดผลไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ การนำเทคนิคการผสมเกสรทุเรียนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดผลของทุเรียนจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การติดผลของทุเรียนเกิดขึ้นได้ช้าเร็ว หรือมีขนาดของผลเท่าๆ กัน และมีคุณภาพดีได้ด้วยนั้น เพียงใช้ขั้นตอนการปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้

อุปกรณ์ที่ใช้ในการผสมเกสรทุเรียน :
1. ไม้กวาดขนไก่ผูกติดกับลำไม้ไผ่
2. ไฟฉายหรือแสงสว่างชนิดอื่น สำหรับส่องสว่างภายในสวน เนื่องจากการผสมเกสรจะทำตอนกลางคืน

ขั้นตอนการผสมเกสรทุเรียน :
1. เวลา 17.00 – 21.00 น. เป็นช่วงที่เกสรตัวเมียเปิดปากรับเกสรตัวผู้ เริ่มทำการผสมเกสร โดยใช้ไม้กวาดขนไก่มัดผูกติดกับลำไม้ไผ่ให้แน่นหนา จากนั้นทำการเขี่ย ละอองเกสรตัวผู้แล้วนำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมีย ซึ่งดอกเกสรตัวเมียนั้น จะมีลักษณะดอกกลม สีเหลือง โดยการเขี่ยให้ทั่วต้น เกสรตัวผู้บางส่วนจะปลิวไปผสมกับเกสรตัวเมีย บางส่วนจะติดกับไม้กวาดขนไก่ เวลาเขี่ยเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้ก็จะเกาะติดกับเกสรตัวเมีย และทำการผสมเกสรตามธรรมชาติ

ข้อดีของการผสมเกสรแบบนี้ :
1. การเจริญเติบโตของผลทุเรียนจะเร็วกว่าการผสมเกสรกันเองตามธรรมชาติ
2. รูปทรงของผลสวยงามไม่บิดเบี้ยว พูเต็มเกือบทุกพู
3. ทุเรียนติดผลดก
4. ง่าย และใช้เวลาน้อย

2. เทคนิควิธีการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวแมลงศัตรูทุเรียน

ด้วงหนวดยาวแมลงศัตรูทุเรียน ตัวเมียวางไข่ในเวลากลางคืนโดยบินมาเกาะต้นทุเรียนและไต่หาตำแหน่งที่เหมาะสมตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ เมื่อเกิดเป็นตัวหนอนตัวหนอนจะกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านใน หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น ขณะหนอนยังเล็กอยู่สังเกตแทบไม่เห็นร่องรอยการทำลาย แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนบริเวณรอยทำลาย เกษตรกรจะสังเกตเห็นก็ต่อเมื่อหนอนโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบร่วง และยืนต้นตายได้ เนื่องจากตัวเต็มวัยมีอายุขัยยาว มีวงจรชีวิตนานถึง 8 เดือน จึงมักจะพบไข่และหนอนระยะต่างๆกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่ที่พบการระบาด และไม่มีสารเคมีชนิดใดที่สามารถกำจัดให้สิ้นซากได้ แต่สามารถใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ไขปัญหานี้ได้

ขั้นตอนการทำ :
นำตาข่ายดักปลาที่ไม่ใช้แล้ว (มอง,ดาง ภาษาอีสาน) แบบตาถี่ๆมาพันรอบๆลำต้นทุเรียนจากโคนต้นขึ้นไปบนลำต้นแบบหลวมๆ จะสามารถดักจับตัวเต็มวัยของด้วงหนวดยาวมาทำลายต้นทุเรียนได้ถึง 70% เนื่องจากด้วงหนวดยาวตัวเมียเวลาจะวางไข่จะบินไปเกาะต้นทุเรียนในเวลากลางคืน และติดตาข่ายดักปลาที่เราพันเอาไว้ที่ต้นทุเรียน ทำให้ไปไหนไม่ได้ และตายในสุด

ประโยชน์ :
เป็นหนึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชแบบลดต้นทุน และลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายได้

เกียรติประวัติและผลงาน

- เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2552
- เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพการทำสวน ปี
- ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ กลุ่มผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพดีบ้านซำตารมย์ในงานเทศกาลเงาะ-ทุเรียน ศรีสะเกษ ปี 2544
- ได้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) โครงการความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ด้านพืช ชนิดพืช ทุเรียน 2548-ปัจจุบัน
- ได้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) โครงการความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ด้านพืช ชนิดพืช เงาะ ปี 2550-ปัจจุบัน
-ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) อันดับที่สองภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประจำปี 2549

ทศพล สุวจันทร์
ข้อมูลการติดต่อ

187 ม.7 ต.ตระกาจ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ 33110

เรื่อง/ภาพโดย: ทีมงานรักบ้านเกิด