
คุณฐิติรัตน์ พ่วงโพธิ์ทองอาชีพประจำคือเกษตรกรมีความเชี่ยวชาญด้านการเขี่ยเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดทุกชนิด เนื้อที่ในการทำการเกษตรนั้นจำนวน 10 ไร่คุณฐิติรัตน์เล่าว่าจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่4 เท่านั้น จะต้องออกมาทำนาทำไร่เพื่อส่งน้องๆเรียน ต่อมาทางเจ้าหน้าที่จากอำเภอได้ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมยุวเกษตรก็เลยได้มีโอกาสเข้าร่วม และเป็นการเพิ่มเติมความรู้ด้วยด้วยความพยายามจึงได้มีโอกาสได้รับคัดเลือกไปดูงานที่ประเทศอเมริกาจำนวน 1ปี ในปี 2527
ใช้ประสบการณ์ที่สะสมมาตลอด 16 ปี ก็ได้มาก่อตั้งโรงเห็ดแห่งใหม่นั้นก็คือสวนเห็ดโพธิ์ทอง จะทำการเพาะดอกเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้าภูฐาน จำหน่ายโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มสร้างงานใหม่อีกครั้งด้วยกำลังของตนเอง และด้วยคำสอนของคุณแม่ ให้มีความขยัน อดทน อย่านิ่งดูดาย อย่าตื่นสาย อย่าหน่ายทำกิน อย่าหิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา คนเราถ้าไม่ทำ จะอยู่ดีกินดีได้อย่างไร ถ้าไม่คิดสร้างรากฐานของตนเองให้มั่นคงอย่า เอาเวลามาคอยวาสนาคงไม่มีบุญหล่อนทับหรอก จึงสู้มาจนถึงทุกวันนี้
ความรู้และภูมิปัญญาที่ทำการถ่ายสู่ชุมชนและบุคคลที่สนใจ
-การทำหัวเชื้อปุ๋ยชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่ ใช้กับเห็ดให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและคุณภาพดี
-การทำปุ๋ยชีวภาพโดยวิธีหมักเน่า ใช้กับเห็ดให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและคุณภาพดี
-การทำปุ๋ยชีวภาพโดยวิธีหมักสด ใช้กับเห็ดให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและคุณภาพดี
-การแปรรูปเห็ดฟางเพิ่มมูลค่า (เห็ดฟางต้มเกลือ) สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 7วัน
การทำหัวเชื้อปุ๋ยชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
1.ภาชนะที่จะใส่หัวเชื้อตามปริมาณที่จะทำ (ให้มีฝาปิดมิดชิด) 2.น้ำมะพร้าวแก่ 10 กิโลกรัม
3.สับปะรดสุกทั้งลูก 10 กิโลกรัม (หั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ) 4.น้ำตาลทรายแดง 10 กิโลกรัม
5.ไข่ไก่หรือหอยเชอรี่ 2 กิโลกรัม 6.ปุ๋ยยูเรีย 0.5 กิโลกรัม
วิธีการทำ
นำน้ำมะพร้าวแก่ทีได้นำมาเทใส่ในภาชนะที่ทนต่อความเป็นกรดด่างสูง(เช่นกะละมังพลาสติก) จากนั้นก็นำสับปะรดที่เตรียมไว้เทลงไป จากนั้นก็เติมน้ำตาลทรายแดง 3 กิโลกรัม ลงไปแล้วคนสวนผสมให้เข้ากันจนน้ำตาลทรายแดงละลายหมดแล้วปิดฝาแล้วนำไปตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม 1 อาทิตย์
หลังจากครบ 1 อาทิตย์แล้วก็นำมาเปิดฝาคนให้เข้ากันแล้วเติมไข่ไก่หรือหอยเชอรี่ลงไป เติมน้ำตาลทรายแดงลงไปอีก 3 กิโลกรัมคนให้เข้ากันแล้วตั้งทิ้งไว้ในที่ร่มอีก 1 อาทิตย์
หลังจากครบ 1 อาทิตย์แล้วก็นำมาเติมน้ำตาลทรายแดงส่วนที่เหลือ 4 กิโลกรัมลงไป เติมยูเรียลงไปแล้วคนให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่ง ทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ก็สามารถนำหัวเชื้อปุ๋ยชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่ไปใช้ได้ การเก็บรักษาหัวเชื้อนั้นสามารถเห็บไว้ได้ในที่ร่มประมาณ 1 เดือนโดยเติมน้ำตาลทรายแดงอาทิตย์ละ 1ครั้งในอัตราส่วน 10:3 (น้ำหนักหัวเชื้อต่อน้ำตาลทรายแดง)
วิธีการนำไปใช้
1.นำน้ำปุ๋ยไปผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำปุ๋ย 1 ส่วนต่อน้ำ 200 ส่วน
2.นำน้ำปุ๋ยที่ผสมน้ำแล้วไปฉีดพ่นก้อนเห็ดในโรงเห็ดหรือนำไปฉีดพ่นพืชผักต่างๆจะทำให้เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง และน่ารับประทาน สำหรับเห็ดดอกจะใหญ่ขึ้น มีน้ำหนักดี ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
การทำปุ๋ยชีวภาพโดยวิธีหมักเน่า
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
1.ไข่หรือตัวหอยเชอรี่ หรือหอยโข่ง
2.ถั่วเหลือง
3.นมโคที่ด้อยคุณภาพ
4.เศษปลาต่างๆ
5.มูลสัตว์แห้ง
6.กากน้ำตาล
7.ปุ๋ยยูเรีย
8.หัวเชื้อจุลินทรีย์
9.ตะแกงกรองปุ๋ยน้ำหมัก และภาชนะที่ใช้หมักปุ๋ย
วิธีการทำ
-นำวัสดุสดที่เตรียมไว้มาบดให้ละเอียด แล้วนำไปใส่ภาชนะหมักปุ๋ยที่เตรียมไว้ จากนั้นนำมูลสัตว์แห้งในอัตราส่วนวัสดุที่นำมาทำปุ๋ยต่อมูลสัตว์เท่ากับ 4:1 โดยทำการบดให้ละเอียดอีกรอบแล้วนำไปปล่อยไว้ในที่ร่มไม่ให้โดยแสงแดดหรือฝน โดยมีการเปิดช่องให้อากาศระบายได้ โดยให้ปุ๋ยหมักเน่าจนมีหนอนปล่อยไว้นานประมาณ 8-10 เดือน จนหนอนหมดไปแล้วจึงทำขั้นตอนต่อไป
-จากนั้นก็เติมกากน้ำตาลลงไปเท่ากับจำนวนน้ำหนักของวัสดุพร้อมเติมปุ๋ยยูเรียในอัตราส่วนน้ำหนักวัสดุปุ๋ยยูเรียเท่ากับ 100 กิโลกรัมต่อ 0.5 กิโลกรัม คนให้เข้ากันแล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้ผสมลงไปในอัตราส่วนน้ำหนักวัสดุต่อหัวเชื้อจุลินทรีย์ เท่ากับ 10:1 คนให้เข้ากันแล้วทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ และกลับมาคนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 3 เดือนครึ่งสังเกตุดูว่าไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้นแล้ว ก็เปิดฝาภาชนะให้อากาศเข้าเป็นเวลา 6 เดือน แล้วก็สามารถนำปุ๋ยหมักมากรองและสามารถนำน้ำปุ๋ยไปใช้ได้
วิธีการใช้
การนำไปใช้คือ น้ำปุ๋ย 1ส่วนต่อน้ำ 200 ส่วน นำน้ำปุ๋ยที่ผสมน้ำแล้วไปฉีดพ่นก้อนเห็ดในโรงเห็ดหรือนำไปฉีดพ่นพืชผักต่างๆจะทำให้เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง และน่ารับประทาน สำหรับเห็ดดอกจะใหญ่ขึ้น มีน้ำหนักดี ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2552
แหล่งเรียนรู้เรื่องการผลิตเชื้อเห็ดฟาง และวิธีการเพาะเห็ดฟางเบื้องต้น
รับรางวัลชมเชยด้านประชาชนทั่วไป
การประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับประกาศนียบัตร กลุ่มเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ พ.ศ.2538 จังหวัดระยอง
สมาชิกของกลุ่มสตรีนนทบุรี กลุ่มกาชาดจังหวัดนนทบุรี และสมาชิกกลุ่มวัฒนธรรมของจังหวัดนนทบุรี
รับประกาศนียบัตร รางวัลชนะเลิศ โครงการแข่งขันปลูกป่าไม้ของกลุ่มยุวเกษตรระดับจังหวัดระยอง พ.ศ.2531
ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้หญิงเก่งประจำปี 2545 ระดับจังหวัดนนทบุรีสาขาบริหารธุรกิจ
รับการคัดเลือกเป็นเยาวชนแลกเปลี่ยนไทย-อเมริกาเป็นระยะเวลา 1 ปี
ได้รับประกาศนียบัตรรางวัลที่ 2 กลุ่มยุวชนเกษตรปลูกป่าได้ดีเด่นระดับประเทศ พ.ศ. 2537 จังหวัดระยอง
รับประกาศเกียรติคุณรางวัลสิงห์ทองประจำปี 2551 ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับเขต
รับรางวัลประกาศเกียรติคุณผู้หญิงเก่ง สาขาเกษตรระดับประเทศ ประจำปี 2551

88 ม.8 ซ.อนามัยคลองตาคล้าย ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 11110