![]() |
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อทุเรียนออกดอกและเห็นดอกระยะไข่ปลาแล้ว ให้เพิ่มปริมาณน้ำโดยการให้น้ำทีละน้อย สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ลดปริมาณน้ำลงในช่วงดอกใกล้บาน นอกจากนี้ควรสังเกตการระบาดของโรคดอกแห้งเนื่องจากเชื้อรา มักพบอาการในดอกทุเรียนระยะหัวกำไลจนถึงดอกบานโดยพบจุดสีดำบนกลีบดอก กลีบดอกแห้งเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีราสีเทาดำเจริญฟูคลุมกลีบดอกดอกจะเน่าก่อนบาน แห้ง และหลุดร่วงไปหากพบไม่ควรให้ทุเรียนขาดน้ำในระยะออกดอก เพราะจะทำให้ดอกแห้ง ดอกไม่สมบูรณ์ เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย และควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบโรคควรพ่นด้วยสารคาร์เบนดาซิม 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัม หรือสารอะซ็อกซี่สโตรบิน+ไดฟิโนโคนาโซล 20+12.5% เอสซี อัตรา 10-12 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และให้เก็บดอกร่วงที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายด้วย
สำหรับแมลงศัตรูพืชที่ระบาดในสวนทุเรียนระยะนี้ คือ เพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน หากพบเพลี้ยไฟใบอ่อนหรือยอดอ่อนทุเรียนจะชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ใบโค้ง แห้ง หงิกงอ และไหม้ การเข้าทำลายในช่วงดอก ทำให้ดอกแห้ง ดอกและก้านดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแคระแกร็น และร่วงได้ การเข้าทำลายในช่วงผลอ่อน ทำให้ผลอ่อนทุเรียนชะงักการเจริญเติบโต หนามเป็นแผล และเกิดอาการปลายหนามแห้ง ผลไม่สมบูรณ์และแคระแกร็นถ้าพบเพลี้ยไฟระบาดเล็กน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง เมื่อพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรง ให้ใช้สารฆ่าแมลง ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10%เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบซัลแฟน 20%อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ในส่วนของไรแดงที่ระบาดในสวนทุเรียน มักพบต้นทุเรียนแสดงอาการใบเหลืองซีด ไม่เขียว และไม่เป็นมัน ดูคล้ายมีฝุ่นจับเป็นผงสีขาว การระบาดอย่างรุนแรงจะทำให้ใบทุเรียนหลุดร่วงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรควรสำรวจดูไรแดงบนใบทุเรียน ซึ่งสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มวิ่งเคลื่อนไหวไปมา การพ่นสารฆ่าไร ควรใช้สารสลับชนิดกัน ดังนี้ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เกษตรกรชาวสวนทุเรียนควรเฝ้าระวังการเข้าทำลายของหนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน มักพบหนอนที่ฟักใหม่เริ่มกัดกินไชชอนใต้เปลือกไม้ และถ่ายมูลออกมาเป็นขุยไม้ติดอยู่ภายนอกเป็นระยะๆ ตามเส้นทางที่หนอนไชชอนอยู่ใต้เปลือกไม้ ให้เกษตรกรแก้ไขด้วยการพ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ชุ่มเฉพาะบริเวณต้นและกิ่งขนาดใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ |
