
ลักษณะอาการโรค :
อาการโรคที่พบโดยทั่วไป ในแปลงปลูกอ้อย คือ อาการที่ใบมีลักษณะ เป็นแถบหรือเส้นขีดตามแนวความยาวของใบ มีสีขาวถึงสีเหลือง แล้วค่อยๆ ขยายขนาดแผลออกด้านข้าง สีอาจจะเปลี่ยนเป็นสีแดงถึงน้ำตาล ตามอายุของใบจนกระทั่ง แผลขยายตัวเต็มพื้นที่ใบและมีสีน้ำตาลแห้ง คล้ายใบลวก อาการที่ลำต้น ลักษณะภายนอกจะแตกตาข้างให้เห็นเด่นชัด และหน่ออ่อนจะแห้งตายในที่สุด เมื่อตัดขวางลำต้น จะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วไป และตัดตามความยาวของลำต้น จะเห็นเส้นหรือขีดสีน้ำตาลในเนื้ออ้อย อาการรุนแรงมาก เนื้ออ้อยจะเน่าจากยอดลงมา (รูปที่ 1 , 2 , 3 , 4 และ 5 )อ้อยพันธุ์ที่อ่อนแอมากๆ ต้นอ้อยที่โตเต็มที่จะเหี่ยวและใบแห้งทันทีในช่วงที่มีฝกตกชุกมากๆ แล้วต่อด้วยช่วงที่มีความแห้งแล้งยาวนาน
การวินิจฉัยโรค :
ดูจากลักษณะอาการโรคดังกล่าวข้างบน พร้อมกับการแยกและจำแนกเชื้อสาเหตุโรค ซึ่งปฏิบัติโดยการตรวจสอบทางเซรุ่มวิทยา (ELISA) หรือโดยวิธีชีวโมเลกุล polymerase chain reaction (PCR)จะสามารถตรวจสอบแบคทีเรียเชื้อสาเหตุโรคได้รวดเร็วและแม่นยำ ส่วนการตรวจสอบ โดยการ 2 เพาะเลี้ยงบนอาหารเทียมสามารถปฏิบัติได้ค่อนข้างช้า และมีความผิดพลาดสูงเนื่องจาก แบคทีเรีย สาเหตุโรคมีการเจริญเติบโตช้า และขนาดเล็กมากจึงไม่สามารถภเจริญแข่งขันกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ บนอาหารเทียมได้ทัน และถูกคลุมพื้นที่ทำให้แยกและจำแนกชนิดได้ยาก แต่อาหารเทียมสูตร Wilbrinks medium ซึ่งเพิ่มเติมสารปฏิชีวะและสารป้องกันกำจัดเชื้อรา สามารถแยกและจำแนกแบคทีเรียชนิดนี้ได้ดีพอสมควร แบคทีเรีย X.albilineans มีลักษณะต่างๆ บนอาหารเทียมดังนี้ เจริญเติบโตช้า จะปรากฏโคโลนีแบคทีเรียให้เห็นได้หลังจากปฏิบัติการแยกเชื้อบนอาหาร 4-5 วัน ที่อุณหภูมิห้อง โคโลนีขนาดเล็ก สีเหลือง ไม่มีเมือก เหมือน Xanthomonas สาเหตุโรคพืชทั่วๆ ไป ลักษณะโคโลนี กลม ผิวเรียบนูนเล็กน้อย สะท้อนแสงและโปร่งใส โคโลนีมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองแก่ตามอายุของแบคทีเรีย (รูปที่ 6 และ 7)

โรคใบลวก แพร่ระบาดไปกับท่อนพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังแพร่ระบาดไปกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ตัดและเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย และมีรายงานว่าสามารถแพร่ระบาดไปในทางอากาศได้(Klett and Rott, 1994)
พืชอาศัยชนิดอื่นๆ :
นอกจากอ้อยเป็นพืชอาศัยหลักแล้ว ยังพบว่า ข้าวโพดและหญ้าชนิดต่างๆ เป็นพืชอาศัยให้แบคทีเรียอยู่ข้ามฤดูได้ เช่น Brachiaria piligera, Imperata cylindrica , Panicum maximum ,Pespalum sp. , Ponnisetum sp. และ Rottboellia cochinchinensis , โดยหญ้าชนิดต่างๆ ดังกล่าวสามารถแสดงอาการโรค ให้เห็นได้ เช่น อาการ ใบขีดสีขาว และ สีเหลือง เท่านั้น (Martin and Robinson, 1961)
ลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค :
ลักษณะภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง จากสภาพความแห้งแล้งเป็นชื้นมีปริมาณน้ำฝนมากๆ โดยเฉพาะในช่วงที่อ้อยผ่านสภาพแห้งแล้งในฤดูร้อน แล้วได้รับความชื้นหรือปริมาณน้ำฝนมากๆ ในฤดูฝนหรือมรสุมพร้อมกับมีอุณหภูมิต่ำลง จะทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น (Ricaud and Ryan,1989)
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ :
การปลูกอ้อยพันธุ์พันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบลวก เมื่อเกิดการระบาดของโรคจะทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นอย่างมาก หรือทำลายอ้อยในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยพันธุ์อ่อนแอทั้งหมดได้

1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค (Ricaud and Ryan, 1989) สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานอ้อยพันธุ์ทนทาน หรือต้านทานโรคใบลวก ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์ และคัดพันธุ์อ้อย ควรมีข้อมูลปฏิกิริยาพันธุ์ต่อโรคนี้ ไว้สำหรับใช้คัดพันธุ์ต้านทานต่อโรคใบลวกในอนาคต
2. การผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรค อาจใช้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการแช่น้ำร้อน แบบ
Dual hot water treatment (ครั้งที่1 ที่ 52C? นาน 30 นาทีทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปแช่น้ำร้อน ครั้งที่2 ที่ 50C? นาน 2 ชม.) หรือแบบ Cold-hot water treatment (แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำ ที่ 18-25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา2 วัน แล้วนำมาแช่น้ำร้อนที่ 50 องศาเซลเซียส นาน 3 ชม. (Steindl, 1972)
3. กำจัดอ้อยต่อเก่าที่ติดเชื้อออกจากแปลงปลูกให้หมด
4. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชะล้างอุปกรณ์เครื่องตัดอ้อยต่างๆ ให้สะอาด
5. ควบคุมวัชพืชที่เป็นพืชอาศัย (alternate host)
6. ใช้มาตรการ การกักกันพืชที่จะนำเข้าท่อนพันธุ์อ้อยใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ
เอกสารอ้างอิง :
- ธนาคร จารุพัฒน์ วิชัย ก่อประดิษฐ์สกุล นิพนธ์ ทวีชัย และสสินาฎ แสงวงศ์.2526. โรคอ้อยใน
ประเทศไทย.สมาคมนักวิชาอ้อย และน้ำตาลแห่งประเทศไทย. 180 น.
- Klett, P.,and P, Rott. 1994. Inoculum sources for the spread of leaf scald disease of sugarcane caused by Xanthomonas albilineans in Guadeloupe. Journal of Phytopathology 142 : 283-291.
- Martin, J.P., and P.E., Robinson. 1961. Leaf scald. In: Sugar Cane Diseases of the World, Vol.1 J.P.Martin, E.V. Abbott and C.G. Hughes (Eds) , P. 79-107 Amsterdam , the Netherlands, Elsevier Publishing company.
- Ricaud C., and C.C., Ryan. 1989. Leaf scald. In: Diseases of Sugarcane. Major Disecases. C.Ricaud,B.T.Egan, A.G. Gillaspie In and C.G. Hughes (Eds) , P.39-58. Amsterdam, The Netherlands, Elsevier Science Publishers B.V.
- Steindl D.R.L. 1972. The elimination of leaf scald from infected planting material. Proceedings International Society of Sugar Cane Technologists Congress. 14: 925 929.