สำหรับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น มีหลักการง่ายๆ คือ ขุดสระหรือบ่อลึกเพื่อให้น้ำขังและซึมลงสู่ใต้ดิน เป็นน้ำบาดาลและจะถูกสูบมาใช้เมื่อยามหน้าแล้ง ซึ่งที่บ้านหนองปลาดุกได้มีการขุดสระเพื่อเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากช่วงต้นปีจำนวน 11 บ่อ โดยขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ระดับ 5-10 เมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ กระจายตามจุดรับน้ำของลำห้วยสายต่างๆ ซึ่งราษฎรที่อยู่ภายในรัศมีประมาณ 8 กิโลเมตรของสระเก็บน้ำจะสามารถสูบน้ำไปใช้ได้
"ในหน้าแล้งที่ผ่านมาชาวบ้านบริเวณนี้ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และยังมีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกด้วย จึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานและเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมด้วย" นายอนันต์กล่าว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่อำเภอ น้ำยืน เป็นโมเดลที่กรมชลประทานสนใจและมองว่าสามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้จริง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการศึกษาวิธีการทางเทคนิคต่างๆ อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น เพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน |



