เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

เกษตรกรจังหวัดจันทบุรี หันปลูกผลเมล่อนสู้วิกฤตภัยแล้ง ลดความเสี่ยงเพิ่มรายได้

25 พฤษภาคม 2559
5,067
น้ำ จัดเป็นปัจจัยสำคัญของภาคการเกษตร ยิ่งภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลต่อเกษตรกรเป็นอย่างมากในด้านการเพาะปลูก ทำให้ต้องหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อความอยู่รอดและไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ ในช่วงของหน้าแล้งพืชที่สามารถปลูกได้ จึงควรเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและอายุสั้นมากๆ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรได้ปลูกเพิ่มรายได้ในช่วงหน้าแล้ง และยังช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าโดยเฉพาะในช่วงที่หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ในขณะนี้
นายวรรฤดี เรืองสวัสดิ์ เกษตรกรหนุ่มในพื้นที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ผู้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในช่วงภัยแล้งหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อย่างเช่น ผลเมล่อน บนเนื้อที่ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงสภาวะน้ำที่กำลังขาดแคลนเป็นอย่างมากในปีนี้ แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นกลายเป็นโอกาสทองให้กับเกษตรกรได้กอบโกยรายได้จากผลไม้ที่สามารถปลูกในช่วงที่น้ำกำลังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบัน
โดยนายวรรฤดี เรืองสวัสดิ์ หรือพี่เปี๊ยก ได้ให้ข้อมูลว่า ตนเองใช้พื้นที่ๆ ก่อนหน้านี้เป็นแปลงนาข้าว ซึ่งช่วงนี้เกษตรกรพักแปลงนาเนื่องจากไม่มีน้ำในการเพาะปลูก จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ตนเองจึงหันมาปลูกพืชไร่แทน โดยนำเมล็ดเมล่อนลงแปลงปลูก เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ระยะการปลูกเพียง 3 เดือน ใช้น้ำน้อย และในเรื่องของการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก บวกกับเป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาด ตนเองเริ่มปลูกตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคตะวันออกกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง แหล่งน้ำแห้งขอดและฝนก็ไม่ตก แต่ตนทราบถึงขั้นตอนและวิธีการปลูก ว่าผลเมล่อนเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย จึงไม่มีปัญหาใดๆ เนื่องจากพืชชนิดนี้ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี และเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตนเองได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดเป็นที่เรียบร้อยด้วยราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากและผลตอบแทนในปีนี้เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งแปลงเมล่อนของตนเองยังเปิดให้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาและเรียนรู้วิธีการปลูกเมล่อนได้ฟรีและสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อผลเมล่อน ตนเองยังเปิดโอกาสให้ทำการวาดลวดลายต่างๆ ลงบนผิวเมล่อนเพื่อเป็นการจับจอง เมื่อผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวพร้อมจำหน่ายได้แล้วจึงเข้ามารับผลที่ได้ทำการวาดลวดลายไว้ได้ทันที







พี่เปี๊ยก ยังได้กล่าวอีกว่า หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อย ตนเองจะทำการไถกลบตอซังของต้นเมล่อน ซึ่งให้ประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ก่อนถึงฤดูการปลูกข้าวที่จะมาถึง


รายงานโดย : วนัสนันท์ สุดสงวน เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.ระยอง