เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

สินค้า Q ผ่านมาตรฐาน

10 พฤษภาคม 2559
3,946
"มกอช."การันตีพืชผัก-ผลไม้ปลอดภัย
มกอช.เตือนผู้บริโภคอย่ากังวลเกินเหตุ กรณีไทยแพน ตรวจพบสารตกค้างปนเปื้อนพืชผลไม้ ?Q? และสินค้าออแกนิก เพราะได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรเร่งแก้ปัญหา ชี้ควรสุ่มเก็บตัวอย่างแต่ละชนิด 60 ตัวอย่าง ยันกระบวนการรับรอง GAP เกษตรอินทรีย์ของไทยได้มาตรฐานสากล ย้ำคุณภาพปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไป
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมี กำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและตลาดทั่วไปมาตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างและเผยแพร่ผลตรวจวิเคราะห์สู่สาธารณะ เป็นข้อมูลการศึกษาที่นำมาใช้ประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องได้ ขอยืนยันว่า ผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ควรตื่นตระหนกกับการนำเสนอข่าวดังกล่าว

เนื่องจากในขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบผลการศึกษาของไทยแพน โดยเฉพาะรายงานที่ว่า มีสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (Q) จำนวน 8 ตัวอย่าง และสินค้า ออแกนิก 3 ตัวอย่าง พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยกรมได้เร่งติดตามผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการตรวจสอบสินค้าที่มีปัญหาว่าได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q อย่างถูกต้อง หากพบว่า ผู้ประกอบการลักลอบใช้เครื่องหมาย Q ปลอม มกอช.จะร่วมกับกรมดำเนินการตามกฎหมายทันที

นางสาวดุจเดือนกล่าวว่า เนื่องจากการสุ่มเก็บตัวอย่างของไทยแพนมีจำนวนน้อยมาก และใช้เป็นตัวแทนของตัวอย่างทั้งประเทศไม่ได้ เพราะการสุ่มเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบควรเก็บอย่างน้อย 60 ตัวอย่างต่อชนิดพืช ไม่ใช่เก็บเพียงชนิดพืชละ 1 ตัวอย่างต่อห้าอย่างเท่านั้น แล้วนำมาสรุปเป็นภาพรวมของประเทศ

ขณะเดียวกัน การเก็บตัวอย่างสินค้าจำนวนน้อยมาก แล้วตรวจพบปัญหาในสินค้า Q จำนวน 7 ตัวอย่าง และสินค้าออแกนิก 8 ตัวอย่าง แล้วสรุปว่าสินค้าพืชที่ภาครัฐรับรองไม่ผ่านมาตรฐาน 57.1% และ 25% ตามลำดับ เป็นการจงใจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก เช่น สุ่มตรวจ 2 ตัวอย่าง และในจำนวนดังกล่าวตรวจพบปัญหาแค่ 1 ตัวอย่าง กลับสรุปว่าตรวจพบ 50% ถือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนเข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) 200,000 ราย โดยเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้ประมาณ 70,000 ราย

นางสาวดุจเดือนกล่าวว่า ขอยืนยันว่า กระบวนการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์หรือออแกนิกที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามหลักสากล มีการตรวจสอบและประเมิน ตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกรและการบันทึกข้อมูลต่างๆก่อนออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้ และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์สินค้าวางจำหน่ายได้ สำหรับพืชผักและพืชล้มลุก จะมีอายุใบรับรอง 2 ปี ส่วนไม้ผลและไม้ยืนต้น มีอายุใบรับรอง 3 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจประเมินแปลง GAP ทุกๆปี ขณะที่เกษตรกรต้องยื่นขอรับการตรวจต่ออายุใบรับรองใหม่เมื่อใบรับรองเดิมใกล้หมดอายุ

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืชมาตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ทั้งสินค้า Q และสินค้าทั่วไป (Non Q) ในปีนี้ โดยตรวจวิเคราะห์ไปแล้ว 3,500 ตัวอย่าง เป็นสินค้า Q ประมาณ 1,500 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่าง คิดเป็นน้อยกว่า 1% ที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน จึงเชื่อมั่นในกระบวนการรับรองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ และมั่นใจได้ว่า สินค้า Q มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไปอย่างแน่นอน.

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"สินค้า Q ผ่านมาตรฐาน". (10-05-2559). แนวหน้า.: สืบค้นเมื่อ 10-05-2559,
เข้าถึงได้จาก : http://www.thairath.co.th/content/617868