นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวว่า การที่ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตรลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรมีทิศทางลดลงไปด้วย โดยพบว่า สาขาบริการทางการเกษตรมีต้นทุนการผลิตลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล รองลงมา คือ การทำประมงทะเลซึ่งมีการใช้น้ำมันดีเซลปริมาณมากในเรือประมงทะเล ส่วนการเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงปศุสัตว์ ส่วนใหญ่มีการใช้น้ำมันโดยตรงน้อย แต่จะได้รับผลทางอ้อมจากการที่ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และอาหารสัตว์มีราคาลดลง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ พบว่า ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 11
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงนอกจากจะส่งผลทางบวกทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรลดลงแล้ว แต่กลับส่งผลทางลบทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง เนื่องจากการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งราคาสินค้าเกษตรบางชนิดมีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา รวมถึงอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชพลังงานทดแทน หากแต่การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าเกษตรจะเกิดขึ้นช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรต้องใช้ระยะเวลา ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปี 2559 เป็นการผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับสูงกว่าราคาที่คาดการณ์ในปี 2559 หากราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทำให้มีกำลังซื้อลดลงด้วย โดยกรณีของยางพารา ถือเป็นสินค้าเกษตรเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตยางสังเคราะห์ต้องใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โรงงานอุตสาหกรรมจะใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบมากขึ้น ทำให้ความต้องการยางพาราลดลง ส่งผลราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วยนั่นเอง |



