นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปุ๋ยด้อยคุณภาพที่ บก.ปคบ. และกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบ ตรวจค้น และจับกุมครั้งล่าสุดนี้มี 5 จุด ได้แก่ 1.สถานที่ผลิต เลขที่ 2/2 หมู่ 1 ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง จังหวัดนคราราชสีมา 2.สถานที่ผลิต เลขที่ 52/1 หมู่ 7 ตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 3.สถานที่จำหน่ายปุ๋ยแคปซูลอีเขียวนาโน บริษัท เยสวีแคนดู อินเตอร์ไพซ์ส จำกัด เลขที่ 412/12 โครงการเอชทูโอ แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 4.สถานที่จำหน่าย บริษัท เอนไซม์ นาโน จำกัด เลขที่ 153/31-33 ซอยนาทอง 7 อาคารอมรพันธ์ 2 ชั้น 12 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง กรุงเทพฯ และ5.สถานที่จำหน่ายปุ๋ยแคปซูลอีเขียวนาโน เลขที่ 222/151 ถนนสามวา แขวางบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ได้สั่งอายัดของกลาง จำนวน 59 รายการ มีทั้งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชนิดน้ำบรรจุขวดพร้อมจำหน่าย ขนาด 1 ลิตร รวม 2,864 ขวด สารสกัดบรรจุแคปซูลพร้อมจำหน่าย เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต อาทิ แกลลอนพลาสติก ฉลากและกล่องบรรจุภัณฑ์ และสติกเกอร์ที่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต รวมมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท หากปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพและด้อยมาตรฐานล็อตนี้หลุดลอดไปสู่พื้นที่เพาะปลูก จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรค่อนข้างมาก เพราะนำไปใช้แล้วอาจได้ผลไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน ปัจจัยการผลิตคุณภาพต่ำที่ตรวจจับได้ มี 2 รูปแบบ คือ ปุ๋ยชนิดน้ำยี่ห้อ "กอแก้วนาโน" และปุ๋ยแคปซูลยี่ห้อซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและเอาเปรียบเกษตรกรหรือผู้บริโภค โดยทำเป็นขบวนการ มีการจัดตั้งบริษัทและตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ แล้วให้โรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ผลิต และกระจายสินค้าไปจำหน่ายให้เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินความเป็นจริง เพื่อหลอกให้เกษตรกรหลงเชื่อและซื้อไปใช้ อาทิ ใช้อีเขียวนาโนเพียง 1 แคปซูล ใช้ได้ 2-5 ไร่ และ 20 แคปซูล เท่ากับปุ๋ย 2 ตัน โดยขายในราคา 150 บาท/แคปซูล แถมลดราคา 20 แคปซูล ขายเพียง 2,000 บาท ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ 9 บาท/แคปซูล ส่วนผลิตภัณฑ์กอแก้วนาโน ราคาอยู่ที่ 2,500 บาท/ลิตร ขณะที่มีต้นทุนการผลิตลิตรละ 120 บาท ทางด้าน นายสังวรณ์ เสนะโลหิต ผอ.กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน มาตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารพืช พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด 5.6% ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 1.6 % และโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ 7.3 % นำมาเปรียบเทียบกับปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15) จำนวน 1 กระสอบ น้ำหนัก 50 กิโลกรัม มีปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม อย่างละ 15 % โดยน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ ซึ่งไม่เป็นไปตามโฆษณาที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ 1 แคปซูล ได้ใช้ถึง 2-5ไร่ และ 20 แคปซูลเท่ากับปุ๋ย 2 ตัน และประหยัดคุ้มค่ากว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ปุ๋ยนาโนแคปซูล มีธาตุอาหารไม่เกิน 1 กรัม ถ้า 20 แคปซูล ธาตุอาหารไม่เกิน 20 กรัม ขณะที่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 1 กระสอบ มีธาตุอาหาร 22.5 กิโลกรัม ถ้า 2 ตัน ก็มีธาตุอาหาร 900 กิโลกรัม เพราะฉะนั้น เป็นไม่ได้ที่จะใช้ปุ๋ย 1 แคปซูล ใช้กับพื้นที่ 2-5 ไร่ จะได้ผลตามโฆษณา และเปรียบเทียบปุ๋ยนาโน 20 แคปซูล ไม่ธาตุอาหารพืชไม่เกิน 20 กรัม หรือ 0.02 กิโลกรัม กับปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 2 ตัน ซึ่งมีธาตุอาหารถึง 900 กิโลกรัม การที่ผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน โฆษณาว่าเป็นสารปรับปรุงดิน แต่ประสิทธิภาพการใช้งานส่งผลกระทบกับพืชโดยตรง เช่น เร่งราก เร่งผล เร่งแป้ง/น้ำตาล ดึงช่อ แตกกอ และผลดก จึงจัดว่า เป็นปุ๋ย แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น จึงถือว่าเป็นปุ๋ยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและผลิตปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนคำโฆษณาที่ว่า ผลิตภัณฑ์ซุปเปอร์กรีน (อีเขียว) นาโน ผลิตจากสารออร์แกนิกธรรมชาติ จากผลการวิเคราะห์ พบว่า องค์ประกอบหลักประกอบด้วย กรดฮิวมิก และโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ แต่กระบวนการผลิตสารชนิดดังกล่าวมีการใช้ด่างในการสกัด และตกตะกอนด้วยกรด จึงไม่ถือว่าเป็นสารออร์แกนิก ซึ่งเข้าข่ายหลอกลวงเกษตรกร กรณีที่ผลิตหรือจำหน่ายปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการใช้คำโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหรือผู้ที่มีเบาะแสเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร และพันธุ์พืช สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 08-1373-8259 หรือ โทร./แฟกซ์ 0-2579-4652 และ e-mail : ardcenter@doa.in.th และหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตรทุกแห่ง |



