เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

กรมชลสร้างความมั่นคงน้ำ เพิ่มพื้นที่ปลูกพืช8แสนไร่/ปี

27 กรกฏาคม 2558
1,805
กรมชลประทานจัดประชุมผู้บริหารทั่วประเทศ รับมือยุทธศาสตร์น้ำฉบับใหม่ที่ต้องเสนอโครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ รับผิดชอบ เผยต้องปั้นพื้นที่ชลประทานใหม่ 18.8 ล้านไร่ หรือปีละ 8 แสนไร่ จากปกติ 2 แสนไร่

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรมชลฯทั่วประเทศมารับฟังการชี้แจงการ เสนอแผนงานตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558-2569 และการบริหารจัดการภัยแล้ง เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 ได้กำหนดยุทธศาสตร์รองรับไว้ 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ซึ่งกรมชลฯต้องรับผิดชอบโดยตรงในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ ภาคการผลิต (การเกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย



ยุทธศาสตร์ด้านการสร้าง ความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต ได้กำหนดเป้าหมายที่จะจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยขยายพื้นที่ชลประทานอีก 18.8 ล้านไร่ และเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้ได้อีก 2,700 ล้าน ลบ.ม.ภายในปี 2569 รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อการอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อรักษาระบบนิเวศ การบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำภาคเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ให้สมดุลกับปริมาณน้ำต้นทุน



"ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 กรมชลฯต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานปีละ 2 แสนไร่ ที่ผ่านมาทำกันได้และทำได้ดีด้วย แต่ยุทธศาสตร์น้ำฉบับใหม่ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานเป็นปีละ 8 แสนไร่ ต้องกระตือรือร้นกันมากขึ้น จึงต้องชี้แจงว่าโครงการที่จะเสนอเข้ามาต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การเสนอโครงการประเภทใดที่จะใช้เงินจากงบฯกลางเพิ่มเติมและงบฯเงินกู้ได้ บ้าง งบฯปกติด้านการลงทุนจะได้ประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ปี 2558 ได้เพิ่มเป็น 2.8 หมื่นล้านบาท ส่วนงบฯปี 2559 ทั้งงบฯลงทุนและอำนวยการ 4.7 หมื่นล้านบาท ถือว่ามากแต่คงต้องขอเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ได้งานตามเป้าหมายใหม่ และต้องมีการทำรายงานเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ทราบทุกระยะด้วย" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว



ในระยะสั้นที่ผ่านมาปี 2557-2558 จะเป็นการสร้างสถานีสูบน้ำไฟฟ้า การลอกแก้มลิง การขุดบ่อขุดสระแล้วมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดูแลต่อ ปีที่ผ่านมาส่งมอบไปแล้ว 200 แห่ง แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะหาแหล่งเก็บกักน้ำได้มากขึ้น เร็วขึ้นรับการเพิ่มพื้นที่ชลประทานจำนวนมาก ต้องเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ และการสร้างอ่างพวงตามแนวพระราชดำริ



----------------------- ^ ^ ------------------------
ที่มา :
"เศรษฐกิจในประเทศ".ประชาชาติธุรกิจ.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1437885778