เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ไทย-จีน ร่วมลงนามพิธีสารฯ ส่งออกชมพู่ หลังแก้ปัญหาแมลงวันผลไม้ติดไปกับผลผลิตได้สำเร็จ

27 กรกฏาคม 2558
5,679
หลังจากที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศระงับการนำเข้าชมพู่จากประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เนื่องจากพบแมลงวันผลไม้ติดไปกับผลผลิตทำให้เกษตรกรและโรงคัดบรรจุชมพู่ไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ ซึ่งในกรณีนี้ไม่เพียงแต่กระทบแค่เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการส่งออก ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า
อนันต์ สุวรรณรัตน์

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการระงับนำเข้าชมพู่จากไทย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการศึกษาวิจัยหาแนวทางแก้ไขปัญหาแมลงวันผลไม้ติดไปกับผลผลิตชมพู่ที่ส่งออก จนกระทั่งพบเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในชมพู่แบบผสมผสาน ประกอบด้วยเกษตรกรต้องผลิตชมพู่ตามระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) แล้วยังต้องเพิ่มเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM)เพื่อให้ได้ผลผลิตชมพู่ที่มีคุณภาพและไม่มีแมลงวันผลไม้ติดไปกับผลผลิต ส่วนโรงคัดบรรจุระบบปิดต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการในการผลิตที่ดี (GMP) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้เกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่เข้าร่วมโครงการ



ผลจากการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันเป็นอย่างดีทำให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อนุญาตให้มีการทดลองส่งออกชมพู่ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 จำนวนกว่า 142 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 ล้านบาท ปรากฏว่าผลเป็นที่น่าพอใจผลผลิตชมพู่ที่ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่พบแมลงวันผลไม้ติดไปผลผลิตเลย นำมาสู่การลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับชมพู่สดส่งออกไปจีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา



โดยพิธีสารฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญและกำหนดให้กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักของไทยในการตรวจสอบและกักกันแมลงศัตรูพืช รวมทั้งขึ้นทะเบียนสวน โรงคัดบรรจุ ผู้ส่งออก และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับสินค้าส่งออกทุกลอต พร้อมกับกำหนดให้สวนชมพู่ที่จะส่งออกไปจีนต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และปฏิบัติตามหลักการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน IPM จากกรมวิชาการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตรจะตรวจติดตามการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้และสารตกค้างในผลชมพู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มีมาตรฐานในการคัดบรรจุ การเก็บรักษา และจัดระบบปิดเพื่อป้องกันการเข้าทำลายซ้ำของแมลงวันผลไม้



ขณะเดียวกันก็กำหนดมาตรการสุ่มตรวจสินค้าก่อนการส่งออก โดยกรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจสินค้า ณ โรงคัดบรรจุ 4% จากปริมาณที่ส่งออกทั้งหมด ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ขณะที่จีนจะมีการตรวจสอบสินค้าที่ด่านนำเข้า หากพบการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องตามพิธีสารฯ ฝ่ายจีนสามารถกำหนดมาตรการปฏิเสธการนำเข้าหรืออาจกักกัน ส่งคืนหรือทำลายสินค้าได้



หลังจากลงนามในพิธีสารฯ ทางฝ่ายจีนได้ขอเวลาร่างระเบียบภายในของจีนและประกาศบังคับใช้ภายใต้ข้อตกลงตามพิธีสารดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทย โดยกรมวิชาการเกษตรเองก็ได้เร่งเตรียมความพร้อมจึงได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ผู้ส่งออก มาประชุมเพื่อชี้แจงกฎระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ จะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง จะได้ไม่เกิดผลกระทบในการส่งออกอย่างเช่นที่ผ่านมา



อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกชมพู่ไปจีนอย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ โดยปริมาณการส่งออกในช่วงแรกน่าจะไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน และน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนกระทั่งไปอยู่ในภาวะปกติอย่างที่เคยส่งออกได้ประมาณ 7,000-8,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีสวนชมพู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และ IPM จำนวน 90 สวน และโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 5 โรง ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการส่งออกชมพู่ไปจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทางกรมวิชาการเกษตร มีแผนเร่งผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่เข้าสู่มาตรฐาน GAP และจัดทำระบบIPM เพิ่มขึ้น



------------------------- ^ ^ ------------------------
ที่มา :
"เกษตร".แนวหน้า.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.naewna.com/local/170678