เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ธ.ก.ส.เตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย

02 กรกฏาคม 2558
1,406
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกร (ธ.ก.ส.) ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาทสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมและแปรรูป รวมทั้งการกระจายผลผลิตลำไยสดคุณภาพดีจากเกษตรกรผ่าน สกต.จำนวน 10,000 ตัน สู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับราคาลำไยให้สูงขึ้น

นายประเดิมชัย จันทน์เสนะ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศจากข้อมูลคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดในปีการผลิต 2558 จำนวนมากไม่ต่ำกว่า 639,000 ล้านต้น โดยส่วนใหญ่เป็นลำไยในฤดูจำนวน 439,000 ตัน คิดเป็น 68.70% ของผลผลิตลำไยทั้งหมด ซึ่งจะออกสู่ท้องตลาดในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมของทุกปี ส่งผลกระทบทำให้ราคาลำไยตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกร (ธ.ก.ส.) จึงออกมาตรการแก้ไขปัญหาและยกระดับราคาลำไย โดยสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกร บุคคล กลุ่มวิสาหกิจและผู้ประกอบการ รวมถึงสหกรณ์การเกษตร เพื่อรวบรวม แปรรูป และกระจายลำไยออกสู่ตลาดเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว



มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมและกระจายผลิตลำไยออกสู่ตลาดโดยเร็ว หรือการแปรรูปผลผลลำไยสดเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก หรือลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกร (ธ.ก.ส.) เตรียมวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันบริหารจัดการด้านการตลาดผ่านกระบวนการวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.(สกต.) เพื่อกระจายผลผลิตลำไยสดคุณภาพดีจากเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการรวบรวมจำนวน 10,000 ตัน



พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส.ยังให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งระบบร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์บริหารจัดการลำไยปี 2558-2561 ที่มุ่งกระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดทั้งปี การผลิตลำไยเพื่อการส่งออก การรักษาระดับราคาลำไย รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธบัตรด้านการค้าการผลิต การยกระดับองค์ความรู้และการยกระดับราคา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิตและสถาบันเกษตรกรต่อไป



----------------------- ^ ^ -----------------------
ที่มา :
"ภูมิภาค".บ้านเมือง.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.banmuang.co.th/news/region