นายพรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เหมือนเหยียบชาวนาให้จมดิน หากช่วยเหลืออย่างที่ผ่านมาไม่ต้องช่วยเหลือดีกว่า ถ้าจะช่วยควรให้ไร่ละ 2,000 บาท ชาวนาจึงจะอยู่ได้ สำหรับในภาคกลางมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหลายหมื่นราย จะช่วยเหลืออย่างไรให้ชาวนาอยู่รอดได้ ตอนนี้ชาวนาลำบากที่สุด นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า มาตรการชดเชยรายได้ให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท อาจพอเยียวยาได้บ้าง แต่ทางที่ดีรัฐบาลควรให้ไร่ละ 2,000 บาทเพื่อเพียงพอต่อต้นทุนการผลิต การชดเชยรายได้เกษตรกร เหมือนให้ยาแก้ปวดกับคนเป็นโรค เพราะไม่ได้หายขาด ดังนั้นช่วงที่เกิดภัยแล้งอาจทำให้ผลผลิตข้าวใหม่ที่จะออกในเดือนกันยายนน้อยลง จึงถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลใช้จังหวะนี้ ระบายข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาล ที่วัดดอนบุบผาราม ต.บ้านกร่าง อ.ศรี ประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ชาวนาจากอำเภอต่างๆ กว่า 500 คน ที่กำลังขาดน้ำทำนาเข้าร่วมประชุมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ชลประทาน ตำรวจ และทหาร โดยมีนายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเพื่อหาข้อยุติเรื่องการจัดสรรน้ำทำนา เพื่อลดความแตกแยกของชาวนาที่แย่งน้ำทำนา นายประภัตรกล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของชาวนา คือ เรื่องน้ำ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งผ่านคลอง 1 มีความยาวกว่า 35 กิโลเมตร ส่วนคลอง 2 มีความยาวกว่า 45 กิโลเมตร และใช้น้ำจากคลองมะขามเฒ่า อู่ทอง มีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร มีข้อยุติคือ ให้กรมชลประทานปล่อยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการ และสลับกันสูบน้ำโดยใช้รอบเวรคนละ 7 วัน ให้ผู้นำท้องถิ่นและทหารช่วยอำนวยความสะดวกในการผลัดรอบเวรเพื่อความสงบเรียบร้อย และขอร้องให้ชาวนาที่ยังไม่ได้ทำนา ชะลอการทำนาไว้ก่อน เพื่อป้องกันปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือขอเงินเยียวยาชาวนาเพื่อไม่ให้ชาวนาอดตายและชาวนาที่กำลังจะตาย ----------------------------- ^ ^ ------------------------------- ที่มา : "ในประเทศ".มติชน.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1434328641&grpid=&catid=19&subcatid=1906 |



