(6 มิ.ย.58) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลฯ กำลังประเมินสถานการณ์น้ำว่าอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ภายหลังจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล คาดว่าภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันมีประมาณ 5,500 ล้าน ลบ.ม. และกำลังจะหมดไปไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก กรมชลประทานจึงเตรียมประกาศงดส่งน้ำเพื่อเพาะการปลูก เพื่อให้มีน้ำรักษาระบบนิเวศ และการบริโภคเท่านั้น ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ กรมชลประทานจะหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำฝน หากร่วมประเมินสถานการณ์แล้วมีความชัดเจนว่าฝนไม่ตก ก็จะประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นฤดูกาลที่ใช้เพาะปลูกได้ มีปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 3,800 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใช้ได้ประมาณ 2 เดือนคือ มิ.ย.-ก.ค. แต่ช่วงต้นฤดูฝนปกติประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. จะต้องมีฝนตกลงมาเพื่อเติมน้ำในเขื่อน แต่ปีนี้เข้าสู่เดือน มิ.ย.แล้ว ยังไม่มีฝนตกปริมาณน้ำในเขื่อนจึงไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกปี 2558/59 แน่นอน ปกติพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีประมาณ 9.2 ล้านไร่ ต้องใช้น้ำประมาณ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันหลังจากกรมชลประทานปล่อยน้ำเพื่อทำการเกษตรเมื่อพฤษภาคม ทำให้น้ำในเขื่อนที่เหลือใช้ มีเพียงประมาณ 1,700 ล้าน ลบ.ม. หรือใช้ได้อีกประมาณ 20 วันเท่านั้น สำหรับปริมาณน้ำ 4 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือสนับสนุนการเพาะปลูกน้อยมาก โดยเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้ได้ประมาณ 558 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้ได้ 946 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเหลือน้ำใช้ได้ 109 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำใช้ได้ 105 ล้าน ลบ.ม. หลังจากที่กรมชลประทานประกาศปล่อยน้ำเพื่อสนับสนุนการทำการเพาะปลูกเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เกษตรกรก็เริ่มทำการเพาะปลูกและทำการเกษตรไปแล้ว 2 ล้านไร่ โดยเฉพาะการทำนา เหลือพื้นที่ทำการเกษตรอีกมากกว่า 7 ล้านไร่ ที่ไม่มีน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก แต่เมื่อสถานการณ์น้ำต้นทุนเหลือน้อย ถือเป็นสถานการณ์ที่บังคับให้กรมชลต้องบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ในได้นานที่สุด เพื่อประคองพื้นที่เกษตรที่ทำไปแล้ว ----------------------- ^ ^ ---------------------- ที่มา : "ภูมิภาค".บ้านเมือง.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.banmuang.co.th/news/region/18268 |



