เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

นวัตกรรมใหม่ ข้าวเสริมซีลีเนียม

11 มีนาคม 2563
4,823
อว. ชูนวัตกรรมข้าวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยในตลาดโลก เดินหน้าพัฒนาข้าวไทย เพิ่มราคาข้าวไทยสูงถึง 6 เท่า จุดเด่นเพิ่มสารอาหารเพื่อสุขภาพ ซีลีเนียมในข้าว พัฒนาสมองของเด็ก เสริมสร้างวิตามิน E และสารต้านอนุมูลอิสระ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการส่งออกข้าวตกต่ำ สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรไทยกว่า 4.5 ล้านครัวเรือนที่ประกอบอาชีพปลูกข้าว โดยในปี 2562 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) รายงานการส่งออกข้าวในปี 2562 ทำได้ราว 8 ล้านตัน จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 10 ล้านตัน เพราะความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง อีกทั้งตลาดข้าวไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่มีต้นทุนต่ำกว่าอีกด้วย
เหตุนี้ อว. จึงมีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้กับข้าวไทยผลักดันให้เกิดการขายข้าวในเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและขยายโอกาสในการส่งออกข้าวไทยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยในตลาดโลกไปยังตลาดโลก พร้อมเปิดตลาดใหม่และขยายโอกาสการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก สร้างความแตกต่างจากสินค้าประเทศคู่แข่ง

ล่าสุด อว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (วว.) จัดทำโครงการร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยการพัฒนาข้าวไทยด้วยการเพิ่มธาตุซีลีเนียม (Selenium) ลงในข้าวผ่านการใช้ปุ๋ย เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่มีผลต่อการพัฒนาการสมองของเด็ก ช่วยเสริมสร้างวิตามิน E ในผิวหนัง มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มปริมาณสเปิร์ม และช่วยเพิ่มอัตราการเมตาบอลิซึมของร่างกาย โดยสามารถเปิดตลาดส่งออกไปสู่ประเทศจีน ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้จากราคาข้าวปกติสูงถึง 6 เท่า

โดยปัจจุบันมีการปลูกในแปลงทดลองที่จังหวัดชัยภูมิได้ผลผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมออกมาแล้วและขยายออกมาสู่การปลูกในไร่นาเกษตรกร ที่จังหวัดนครนายก 28 ไร่ซึ่งได้ข้าวเปลือกราว 10 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดในแปลงทดลองโครงการข้าวซีลีเนียม นำนวัตกรรมด้านชีวภัณฑ์มาตอบโจทย์ BCG Economy Model รอบด้าน ตั้งแต่การใช้ปุ๋ยละลายช้า เพื่อจะยืดอายุการทำงานให้ยาวขึ้น ลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร มีการใช้ชีวภัณฑ์ช่วยป้องกันโรคครบวงจรมีจุลินทรีย์ช่วยในเติบโตช่วงแรกของข้าว ให้โตเร็วขึ้น ดูดซับอาหารได้เร็วขึ้น และมีการใช้จุลินทรีย์เพื่อเร่งการย่อยสลายของตอซังก่อนการเตรียมดินแทนการเผาที่จะสร้างมลพิษให้กับอากาศ และหลังจากการเตรียมดิน ก็จะมีสารที่ใช้ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกไว้ช่วยให้การทำนาของเมืองไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
เดลินิวส์