ด้าน ผศ.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเหนือมีข้าวเหนียวดำพันธุ์หนึ่ง จึงเริ่มได้นำพันธุ์ข้าวเหนียวดำในพื้นที่ซึ่งมีธาตุเหล็กสูงมาปลูกเพื่อศึกษา พบคุณลักษณะของพันธุ์ข้าวหลากหลาย เช่น ต้นกล้าที่เจริญเติบโตในแต่ละช่วงอายุมีสีสันแตกต่างกัน ทั้งสีเขียวเข้ม เขียวอ่อน หรือม่วง บางต้น มีกลิ่นหอมของลำต้นและเมล็ด ขณะที่บางต้นไม่มี จึงทดลองปรับปรุงพันธุ์โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบ Pure Line Selection หรือการคัดเลือกพันธุ์แท้ จนได้ข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่โดยให้ชื่อพันธุ์ข้าวก่ำชนิดนี้ว่า "ก่ำหอม มช." ซึ่งมีกลิ่นหอม มีธาตุเหล็ก สังกะสี และแอนโทไซยานินสูง โดยข้าวสายพันธุ์นี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการใช้เทคโนโลยีพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ข้าวก่ำคุณภาพดีที่สุด ตอบสนองความต้องการของตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ผศ.ชนากานต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้นำข้าวก่ำสายพันธุ์ "ก่ำดอยสะเก็ด" (พันธุ์พ่อ) ซึ่งเป็นข้าวเหนียวดำ ผสมกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) โดยใช้วิธีการปลูกคัดเลือกข้าวลูกผสมแบบสืบตระกูลที่เรียกว่า Pedigree Method of Selection ควบคู่กับการตรวจสอบความหอม การประเมินความสามารถในการปรับตัวและเสถียรภาพจนเกิดเป็นข้าวเจ้าก่ำสายพันธุ์ดีเด่นที่สามารถปลูกในเชิงเกษตรกรรมได้ มีลำต้นสูงประมาณ 143 เซนติเมตร แต่ให้ผลผลิตมากถึง 680 กิโลกรัมต่อไร่ เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีม่วงดำสนิท ไม่มีสีอื่นปน และเมื่อหุงสุกหรือเย็นแล้วเม็ดข้าวก็ยังคงมีลักษณะนุ่ม ตั้งชื่อข้าวก่ำสายพันธุ์นี้ว่า "ก่ำเจ้า มช.107" พร้อมจดทะเบียนขึ้นเป็นพันธุ์พืชใหม่เมื่อปลายปี 2560 และพร้อมออกสู่ตลาด ทั้ง 2 สายพันธุ์ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเรสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด