ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่า ทุเรียน จะมีผลผลิตรวม 338,515 ตัน ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 2.78 เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อนและสลัดผลทิ้ง โดยผลผลิตจะกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมประมาณร้อยละ 40 เงาะ จะให้ผลผลิตรวม 135,489 ตัน ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 5.88 เนื่องจากสภาพอากาศมีหมอกจัดและฝนตก ทำให้เงาะไม่ติดลูก และจะกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน ประมาณร้อยละ 50 มังคุด จะมีผลผลิตรวม 114,319 ตัน ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 20.36 เนื่องจากอากาศร้อนสลับหนาวในช่วงปลายปี และมีฝนตกหนักติดต่อกันนาน 3-5 วัน ในทุกเดือนทำให้มังคุดแตกใบอ่อนแทนมากกว่าการออกดอก โดยจะมีช่วงกระจุกตัวสูงสุดช่วงเดือนมิถุนายน ประมาณร้อยละ 50 ลองกอง จะมีผลผลิตรวม 52,325 ตัน ลดลงจากปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 7.05 ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกในลักษณะพืชออมสินหรือปลูกแซมในสวนผลไม้อื่นๆ เพื่อเสริมรายได้ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานรองรับเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ไว้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้ทุกฝ่ายดำเนินงานตามกำหนดเวลา คือ 1.คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจไปทำการสำรวจข้อมูลจริงในพื้นที่และประเมินสถานการณ์ผลิตไม้ผล 2.คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด หรือ คพจ. จะดำเนินการสำรวจและคาดคะเนความต้องการผลผลิตของผู้ประกอบการตามเกรดคุณภาพในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละจังหวัด 3.กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตจะทำการปรับสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการผลผลิต (Demand & Supply) ตามชนิด คุณภาพ ปริมาณ และช่วงเวลาของผลไม้แต่ละชนิดในแต่ละแหล่งผลิต 4.หากพบว่ามีผลผลิตส่วนเกิน คพจ. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตโดยบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 5.ดำเนินการบริหารจัดการผลผลิต โดย คพจ. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงการผลิตการตลาด ในการบริหารจัดการผลผลผลิตช่วงที่ออกผลมาก เช่น ใช้เครือข่ายสหกรณ์ การค้าภายใน พาณิชย์จังหวัด และหอการค้าจังหวัด เป็นต้น 6.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรทำการติดตามและสรุปผลการดำเนินงาน เสนอต่อคณะทำงานเพื่อพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหามาตรการรองรับปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำและนำข้อมูลไปวางแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกต่อไป ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ขอให้เกษตรกรเก็บผลผลิตที่แก่ตามอายุเพื่อคุณภาพผลผลิตของไม้ผลภาคตะวันออก โดยเน้นให้มีสัดส่วนผลไม้คุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการผลิตคุณภาพที่เหมาะสมกับผู้บริโภคและความต้องการของตลาด หากเกษตรกรพบปัญหาผลผลิตส่วนเกินหรือปัญหาการจำหน่ายผลผลิต ขอให้แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอได้ทันที เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาปัญหาอย่างใกล้ชิด คนเกษตร/รายงาน ------------------------- ^ ^ ------------------------- ที่มา : "ภูมิภาค".บ้านเมือง.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.banmuang.co.th/news/region/15775 |


