มติ ครม.ดังกล่าวได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม (ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม) ที่ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ต้องตั้งในพื้นที่ที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง) จากเดิมหลักเกณฑ์คือให้ห่างจากโรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ระยะทางตามถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่างสองโรงงาน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ หากพิจารณาจากโรงงานที่มีอยู่ปัจจุบัน ก็จะพบว่าแทบจะไม่สามารถหาพื้นที่สำหรับตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานตอนล่างซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีของประเทศ ที่เหลือเป็นพื้นที่ในเขตป่าและภูเขา ที่สำคัญหากระยะห่างระหว่างโรงงานเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานของเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยปริยาย อันเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านขนส่ง Logistic ของประเทศ "หากรัฐบาลต้องการปลดล็อกให้เกิดโรงงานน้ำตาลใหม่มากขึ้นจริง อยากจะขอให้ช่วยพิจารณาทบทวน โดยกำหนดให้ระยะห่างของโรงงานใหม่กับโรงงานเก่าเหลือเพียงไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (ระยะทางถนนเส้นที่สั้นที่สุดระหว่างสองโรงงาน) หรือไม่น้อยกว่า 30 กิโลเมตร (ระยะทางจริง วัดเชิงเส้นตรง)" แหล่งข่าวเสนอ อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ตั้งโรงานใกล้กันมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงตรงกันข้ามกลับกำหนดให้สองโรงงานต้องห่างกันมากขึ้นในทางปฏิบัติ และมีเงื่อนไขต้องส่งเสริมการปลูกอ้อย และอื่นๆ พ่วงอีกนั้น ทำให้การตั้งโรงงานใหม่ยากขึ้น แต่ส่งผลดีต่อโรงงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ก็เท่ากับทำให้โรงงานใหม่เกิดขึ้นยาก การแข่งขันเสรีก็ลดลงโดยปริยาย เป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ที่มุ่งส่งเสริมให้มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ------------------------- ^ ^ ---------------------- ที่มา : "เศรษฐกิจ".บ้านเมือง.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : http://www.banmuang.co.th/news/economy/15652 |



