เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

พาณิชย์ ช่วยเกษตรกรขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เผยได้ราคาดีกว่าตลาดตันละ 500 บาท

20 ธันวาคม 2560
4,809
"พาณิชย์" ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามซื้อขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์มาตรฐานสากล ระหว่างเกษตรกร 20 จังหวัด กับผู้ประกอบการรับซื้อข้าวหอมมะลิ 6 ราย ปริมาณ 7,500 ตันข้าวเปลือก มูลค่ากว่า 135 ล้านบาท เผย ช่วยให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงกว่าปกติถึงตันละ 500 บาท
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมผู้ตรวจประเมินแปลงปลูกภายใน (Internal Inspector) และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์มาตรฐานสากล ว่า นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งล่าสุดได้มีการเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิให้ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล (EU, NOP) โดยขณะนี้มีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 20 จังหวัด และมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจังหวัดละ 40 คน รวม 800 คน

ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงได้เข้าไปส่งเสริม ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ออกสู่ตลาดได้แล้ว กระทรวงจึงได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด โดยได้จัดให้มีการจับคู่ในการซื้อขายข้าวระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ และทำให้เกษตรกรจำหน่ายข้าวได้ในราคาสูงกว่าท้องตลาดปกติ

สำหรับการการลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าวหอมมะลิมาตรฐานสากล ระหว่างผู้ขายตัวแทนเกษตรกรจาก 20 จังหวัด และผู้ประกอบการรับซื้อข้าวหอมมะลิ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย บริษัทส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท กฤษณกรณ์ออร์กานิคฟาร์ม จำกัด จ.ร้อยเอ็ด บริษัท สยามคลอริตี้ไลด์ จำกัด จ.ศรีสะเกษ และ บริษัท สำเภาทองกรุ๊ป จำกัด จ.ปทุมธานี และจุดรวบรวมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด รัตนออร์แกนิคฟาร์ม จ.อำนาจเจริญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทำนองเจริญทรัพย์ออแกนิคไทยแลนด์ จ.ศรีสะเกษ และ ฟิวชั่นฟาร์ม จ.สุรินทร์ พื้นที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์ จำนวนประมาณ 15,000 ไร่ ผลผลิต 7,500 ตันข้าวเปลือก มูลค่ากว่า 135 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาการรับซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดข้าวหอมมะลิทั่วไปที่ 15,000 บาท/ตัน

โดยราคาข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรจะขายได้สูงกว่าราคาตลาดนั้น แยกเป็นระยะปรับเปลี่ยนที่ 1 สูงกว่าราคาตลาดตันละ 500 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.33 ระยะปรับเปลี่ยนระยะที่ 2 สูงกว่าราคาตลาด ตันละ 1,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.67 และระยะที่ 3 สูงกว่าราคาตลาดตันละ 2,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.33 โดยมูลค่าการค้าที่สูงกว่าราคาตลาดในปีแรก คิดเป็นมูลค่า 4.50 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในปีที่ 2 และ 3 ต่อไป และเมื่อเข้าสู่การผลิตอินทรีย์ปีที่ 3 ยังจะได้รับเงินสมทบค่าแฟร์เทรดตันละไม่น้อยกว่า 800 บาทอีกด้วย

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"พาณิชย์ ช่วยเกษตรกรขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เผยได้ราคาดีกว่าตลาดตันละ 500 บาท". (19-12-2560).
ผู้จัดการ.:สืบค้นเมื่อ 20-12-2560, เข้าถึงได้จาก : https://mgronline.com/business/detail/9600000127671