เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

จัดเกรดมาตรฐานข้าวสีไทย คน.ตั้งงบ20 ล้าน ขอใบรับรองส่งออกต่างประเทศ

27 พฤศจิกายน 2560
3,139
พาณิชย์จัด MOU ชาวนากับโรงสี-ผู้ส่งออก ดันสร้างมาตรฐาน "ข้าวสี" ทำตลาดต่างประเทศ ด้านกรมการค้าภายในเตรียมของบประมาณ 20 ล้านบาท ขอใบรับรองมาตรฐานในตลาดต่างประเทศ พร้อมแนะเกษตรกรเตรียมความพร้อมด้านเพาะปลูกรองรับตลาดในอนาคต
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเชื่อมโยงตลาดข้าวสี ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกข้าวสี กับผู้ที่จะเข้ามารับซื้อ คือ โรงสี และผู้ส่งออก ผู้ประกอบการข้าวถุง เพื่อนำไปทำตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป การลงนามครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในการทำตลาดข้าวสีไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ซื้อรู้จักและผู้ปลูกมีช่องทางการทำตลาดที่ชัดเจน โดยจากนี้ไปกระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมข้าวสีไทยให้ได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อยกระดับการแข่งขันต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมตลาดข้าว จึงจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้ข้าวไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยเฉพาะข้าวสีไทย ซึ่งมีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพื่อผลักดันสู่ตลาดมากนัก ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมมาตรฐานข้าวสีไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

"เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ทำให้เกษตรกรสนใจปลูกข้าวสีมากขึ้น เนื่องจากขายได้ราคาดี แต่ต้องสร้างมาตรฐานให้ได้คุณภาพ และเป็นที่ยอมรับตามความต้องการของตลาด ต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และทิศทางของตลาด ราคา โดยเกษตรกรต้องเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูก และคุณภาพข้าว มาตรฐาน เพื่อรองรับตลาดในอนาคต ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ" นางอภิรดีกล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณในการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสี ข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานข้าวในตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ ต้นทุนในการขอใบรับรองสูง ซึ่งตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 20 ล้านบาท ระยะเวลาปี 2563-2565 และภายหลังการ MOU ต้องการให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งเรื่องดิน น้ำ พันธุ์ข้าว ซึ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน หากต้องการให้ได้มาตรฐานเกษตรกรต้องเริ่มต้นในตอนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบเพื่อขอรับรองคุณภาพ มาตรฐานจะได้สะดวกมากขึ้น

"ค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองมาตรฐานข้าวในต่างประเทศอยู่ที่ราคา 70,000-80,000 บาทต่อ 1 ใบรับรอง ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเพื่อการส่งออก กรมจึงได้ตั้งงบประมาณขึ้นมา โดยที่เกษตรกรไม่ต้องจ่าย เพื่อสร้างมาตรฐานข้าวให้ได้ตามการตรวจสอบเท่านั้น" นายบุณยฤทธิ์กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อสามารถผลิตข้าวสี ข้าวอินทรีย์ และได้การรับรองจากต่างประเทศ จะทำให้การส่งออกข้าวไทยขยายตัวได้ในอนาคต และระหว่างที่เกษตรกรเตรียมการเพาะปลูกกรมจะเชิญชวนผู้ปลูกที่มีข้าวสีอยู่แล้วมาร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และผู้จัดงานของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้จัดงานอันดับหนึ่งของโลกในการจัดงานเกษตรอินทรีย์ และเพื่อให้ข้าวสี ข้าวอินทรีย์ของไทย เริ่มเป็นที่รู้จัก และทำการประชาสัมพันธ์ไปในตัว ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการทำตลาดที่ดีให้กับเกษตรกรเองด้วย โดยงานจะมีขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2561

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้จัดคณะใหญ่นำทัพผู้นำเข้าข้าวจากฮ่องกงที่เดินทางมาลงนามบันทึกความเข้าใจซื้อข้าวจากประเทศไทย ไปลงพื้นที่ชมวิถีชีวิตชาวนาไทย ตั้งแต่บายศรีสู่ขวัญก่อนลงนาเกี่ยวข้าว พร้อมลงนาชมกระบวนการสีข้าวจากโรงสี เรียกว่า "ครบวงจร"

หนึ่งในกิจกรรมเด็ด หนีไม่พ้นการรับประทานข้าวที่สมาคมผู้ส่งออกฯคัดสรรมาเสิร์ฟเป็นเมนูพิเศษ โดยนำ "ข้าวสี" 2 ชนิด มาหุงให้รับประทานบนโต๊ะอาหารจีน ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นถกกันอย่างกว้างขวางระหว่างกูรูโรงสีข้าวหอมมะลิอีสาน ผู้ส่งออกข้าวรุ่นใหญ่ และผู้ส่งออกข้าวรุ่นใหม่ว่า ข้าวที่หุงมานั้น คือ สายพันธุ์ใด

หากดูจากลักษณะทางกายภาพ ข้าวชนิดแรกสีน้ำตาลเมล็ดยาว น่าจะเป็น "ข้าวสังข์หยด" พัทลุง หรือไม่ก็ "ข้าวหอมแดง" และอีกชนิดเป็น "ข้าวสีม่วงดำ" น่าจะเป็น "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" หรือไม่ก็ "ข้าวหอมนิล"

หลังจากทั้งชิมและดมกันไปรอบ ยังตัดสินไม่ได้ จนต้องเรียกเจ้าภาพมาเฉลยว่า ข้าวสีน้ำตาลเป็น "ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ" ซึ่งเป็นลูกผสมเกิดจาก "สังข์หยด" บวกกับ "หอมมะลิ" ส่วนอีกชนิดที่มีสีม่วงแดง คือ "ข้าวหอมนิล" ที่มีหน้าตาคล้าย "ข้าวไรซ์เบอร์รี่"สะท้อนว่า ขนาดกูรูยังดูไม่ออกเลยว่า ข้าวสีที่เห็นเป็นสายพันธุ์ไหน แล้วคนทั่วไปจะทราบได้อย่างไรก่อนตัดสินใจซื้อ

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถกกันถึงเรื่องการกำหนด "มาตรฐานข้าวสีไทย" ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพเริ่มยกร่างมาตั้งแต่กลางปี 2560 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทเป็นเซลส์แมน ขายทุกอย่างที่เป็น "ข้าวสี"

ฝ่ายโรงสีให้ความเห็นว่า การกำหนดมาตรฐานโดยใช้เฉดสีเป็นตัววัดไม่ได้ เพราะสีของเมล็ดข้าวสายพันธุ์เดียวกัน หากปลูกคนละปี คนละพื้นที่ คนละสภาพอากาศ ให้สีแตกต่างกัน ดังนั้นการตรวจสอบและวัดมาตรฐานทำได้ยาก และราคาขายในท้องตลาดแตกต่างกัน เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ บางที่ขายสูงถึง 100 บาท/กก. แต่ตลาดนัดบางที่ขาย 50-60 บาท/กก. แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวไหนของแท้ หรือก๊อบเกรดเอ

ด้านผู้ส่งออกมองว่า ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกข้าวสีมีเพียง 0.01% เทียบกับยอดส่งออกข้าวทั้งประเทศ โดยปี 2559 มีการส่งออกข้าวกล้องแดงมากที่สุด 8,710 ตัน ข้าวเหนียวดำ 2,187 ตัน ข้าวกล้องดำ 1,324 ตัน ปี 2558 ข้าวสีทุกชนิดส่งออกรวม 10,130 ตัน

การทำตลาดยากตรงที่จะสื่อให้ผู้บริโภครับทราบ เพราะขนาดกูรูวงการข้าวยังแยกไม่ออก หากเป็นเช่นนี้ย่อมมีผลต่อการกำหนดราคาขาย?

และเมื่อการตลาดไม่ชัดเจน ไม่มีตลาดรองรับ ย่อมจะส่งผลย้อนกลับมาถึงภาคการผลิต ทำให้ชาวนาไม่นิยมปลูก

ในโต๊ะอาหารยังแสดงความเป็นห่วงถึง "ข้าว กข. 43" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯพัฒนาและส่งเสริมการปลูก โดยข้าวชนิดนี้มีจุดแข็ง คือ มี "ดัชนีน้ำตาลต่ำ" ถูกใจสายสุขภาพ เพราะทานแล้วไม่อ้วน ในอนาคตหากตลาดข้าวกลุ่มนี้ขยายตัว ทั้งที่ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานแน่นอน เกรงว่าอาจจะซ้ำรอย คล้ายกับมาตรฐานข้าวสี

จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องเร่งหารือ เพื่อให้ข้าวสีไทยผงาดในตลาดโลกได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นต่อไป

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"จัดเกรดมาตรฐานข้าวสีไทย คน.ตั้งงบ20 ล้าน ขอใบรับรองส่งออกต่างประเทศ". (23-11-2560).
ประชาชาติธุรกิจ.: สืบค้นเมื่อ 27-11-2560, เข้าถึงได้จาก : https://www.prachachat.net/economy/news-76396