"ไทยมีข้าวสีนับร้อยพันธุ์ อาทิ ข้าวหอมแดง, ข้าวหอมแดงสุโขทัย 1, ข้าวหอมกุหลาบแดง, ข้าวหอมกระดังงา 59, ข้าวสังข์หยดพัทลุง, ข้าวทับทิมชุมแพ รวมทั้งข้าวเหนียวลืมผัว หากจัดทำร่างมาตรฐานแยกออกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ หวั่นเป็นเรื่องยุ่งยาก เกิดซับซ้อน ต้องใช้งบประมาณและเครื่องมือจำนวนมาก มกอช. จึงยกมาตรฐานแบบรวมเป็นกลุ่มข้าวสีไทย"
เลขาธิการ มกอช. เผยอีกว่า สำหรับร่างมาตรฐานที่กำหนดใช้เป็นเกณฑ์ จะเริ่มตั้งแต่ขอบข่ายนิยาม รวมไปถึงการกลุ่มประเภทข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ คุณภาพ ข้อกำหนดเฉพาะ ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม กลิ่นเหม็นเปรี้ยว ลักษณะตรงตามพันธุ์ ความชื้นไม่เกิน 15% ปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ชั้นคุณภาพ และที่สำคัญความเข้มสีข้าวต้องสม่ำเสมอตามเกณฑ์ที่แจ้งรับรองพันธุ์ไว้
การบรรจุ ถ้าเป็นกระสอบ ต้องสะอาด มีการเย็บปิดผนึก แข็งแรง ป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก ส่วนที่เป็นหีบ ห่อน้ำหนักถุงต้องปิดผนึกแข็งแรง เก็บรักษาเมล็ดข้าวได้เป็นอย่างดี วัสดุที่ใช้ต้องสะอาด มีคุณภาพสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก ฉลากที่ปิดต้องใช้หมึกพิมพ์หรือกาวที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ชื่อสินค้าข้าวสีไทยต้องแสดงข้อความว่า ข้าวสีไทย, ข้าวเหนียวสีไทย หรือ Thai Colour Rice อย่างชัดเจน ระบุน้ำหนัก เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมทั้งต้องระบุที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย การปฏิบัติในระดับแปลงนาต้องได้รับการรับรองหรือผ่านการประเมิน ตาม มกษ.4401 มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี
มาตรฐานทั้งหมดนี้จะเป็นการ สร้างโอกาส เปิดช่องทางการตลาดในการผลิตข้าวสีเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตและผู้ส่งออก จากนั้นจะเร่งทำมาตรฐานสินค้าเกษตรในกลุ่มไม้ผล พืช ผัก สินค้าประมง รวมทั้งสินค้าปศุสัตว์ต่อไป.