จากการลงพื้นที่ของทีมงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี ได้พูดคุยกับนายสวัสดิ์ กมล เกษตรกรชาวนา บ้านคลีกลิ้ง ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ ถึงการเลือกพันธ์ุข้าวในการทำนา ว่า ปัจจุบันชาวนาภาคอีสานส่วนใหญ่ไม่นิยมทำนาข้าวเหนียว จะเปลี่ยนมาทำนาข้าวหอมมะลิเกือบทั้งหมด อย่างเช่นตนเองทำนา50 ไร่ เดิมจะปลูกข้าว 2 ชนิด คือ ข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข.6 โดยข้าวหอมมะลิ105 จะทำเพื่อขายประมาณ 40ไร่ ส่วนข้าวเหนียว กข.6 จะทำไว้ 10 ไร่ เพื่อไว้บริโภคในครอบครัว และแบ่งขายบ้างบางส่วน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตนและชาวนาในระแวกเดียวกัน ได้เลิกปลูกข้าวเหนียว หันมาทำนาข้าวหอมมะลิ105 อย่างเดียว เนื่องจากการทำนาข้าวเหนียวต้องมีภาระในการเกี่ยว เก็บ ตาก และขนขึ้นยุ้งฉาก หากเหลือจากการบริโภค นำไปขายที่โรงสี ก็ไม่ค่อยได้ราคา สู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ อีกทั้งหาจุดรับซื้อยาก เนื่องจากโรงสีหลายแห่งไม่รับซื้อข้าวเหนียว จึงทำให้เลิกทำนาข้าวเหนียว หันมาทำเฉพาะข้าวมะลิ 105 อย่างเดียว สะดวกกว่า เกี่ยวเสร็จแล้วขายสด โรงสีทุกแห่งเปิดรับซื้อ ขายง่าย ได้เงินแล้ว ค่อยนำเงินไปซื้อข้าวสารเหนียวมาบริโภคในครอบครัว ตามความต้องการ
ขณะที่นางปรานอม เจริญราช แม่ค้าขายข้าวเหนียวไก่ย่าง บ้านท่าบ่อ ริมถนนสาย 231 (เลี่ยงเมืองอุบลฯ-ศรีสะเกษ) ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึงราคาข้าวสารเหนียวที่ตนต้องซื้อมานึ่งขายว่า ปัจจุบันราคาข้าวสารเหนียวมีราคาสูงขึ้น จากเดิมตนซื้อกิโลกรัมละ 25-27บาท แต่ปัจจุบันราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 30-32 บาท สูงกว่าเดิมประมาณ 5 บาท โดยตนจะนำมานึ่งขาย กิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งพอจะมีกำไรอยู่บ้าง แต่ไม่มาก หากขายราคาต่ำกว่านี้ ก็จะไม่คุ้มค่าแรงที่ต้องนึ่งและให้บริการลูกค้า
และจากข้อมูลจุดรับซื้อ และสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเหนียว ของ เวปไซด์ รักบ้านเกิด.คอม ในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ (ข้อมูล วันที่ 18 ธันวาคม 2558) รายงานว่า ขณะนี้ มีโรงสีที่เปิดรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการโรงสีให้เหตุผลว่า เกษตรกรนำข้าวเหนียวมาขายจำนวนไม่มาก จึงไม่อยากรับซื้อ ส่วนใหญ่จะรับซื้อในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ราคารับซื้ออยู่ที่ ตันละ10,000-10,500 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งรับซื้ออยู่ที่ราคา 10,500 -11,750 บาท ต่อตัน
แหล่งที่มาของข้อมูล : สวัสดิ์ กมล , สัมภาษณ์. 17 ธันวาคม 2558.
เรียบเรียงโดย : นางสาวนิชรา บุญตะนัย ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกัน จ.อุบลราชธานี
เรียบเรียงโดย : นางสาวนิชรา บุญตะนัย ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกัน จ.อุบลราชธานี