เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

เกษตรโคราชแนะวิธีการลดต้นทุนการผลิตข้าว

18 สิงหาคม 2558
3,715
จังหวัดนครราชสีมามีเกษตรกรปลูกข้าวมากถึง 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ทำนา 3.9 ล้านไร่ ต้นทุนการ ผลิตข้าวสูง เนื่องจากเกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตอย่างฟุ่มเฟือย มีการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ในอัตราที่สูง ใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้อง ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกชนิด ไม่ถูกช่วงเวลา และไม่ถูกต้องตามอัตราที่แนะนำ
ด้านนายเฉลิมศักดิ์ ประสิทธิ์สุวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับวิธีการลดต้นทุนการผลิตข้าวและปลูกข้าวให้ได้ผลผลิต ข้าวสูงนั้น แนะนำวิธีการให้ชาวนาปฏิบัติดังนี้
1.ต้องปรับปรุงดินและเตรียมดิน การ ปรับปรุงดินคือการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีความพร้อมเมื่อปลูกไปแล้วงอกและเจริญเติบโตได้ดี โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก การเตรียมดินคือการสร้างสภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว ช่วยควบคุมวัชพืช ศัตรูพืช การ เตรียมดินสำหรับการปลูกข้าวควรทำการไถดะ 1 ครั้ง แล้วไถแปรเพื่อให้ดินแตกละเอียด 1- 2 ครั้ง แล้วคราดเอาหญ้าออก
2.ต้องใช้พันธุ์ดีและเหมาะสม ข้าวพันธุ์ดีเป็นปัจจัยสำคัญ ใช้ พันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคแมลง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น
3.ต้อง ปลูกในระยะเวลา อัตราที่เหมาะสม พันธุ์ข้าวไวแสง ข้าวไม่ไวแสง มีความแตกต่างกัน แสงมี อิทธิพลต่อการออกดอก เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวไวแสง ปลูกนาปี ช่วงเวลาปลูก ที่เหมาะสม คือต้นเดือนกรกฎาคม จะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน หากปลูกก่อน ช่วงเวลานี้ ข้าวจะแตกกออยู่ในนานานเกินไป เปิดโอกาสให้โรคแมลงเข้าทำลายต้นข้าว อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม เช่น นาดำใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กก./ไร่ นาหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 15 กก.และไม่เกิน 20 กก./ไร่ เพื่อลดต้นทุนการใช้ เมล็ดพันธุ์
4.ต้องใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จะไม่สิ้นเปลืองค่าซื้อปุ๋ยบางอย่างที่ไม่จำเป็น เป็นการลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่ฟุ่มเฟือย
5.ต้องเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวข้าวที่สุกแก่เต็มที่หลังข้าวออกดอก 30 วัน ประมาณวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นต้นไป หรือสังเกตสีต้นข้าวทั้งแปลงจะมีสีเหลืองกล้วย (ระยะพลับพลึง) หากพื้นที่ใด สามารถระบายน้ำออกได้ควรระบายน้ำออกจากแปลงประมาณ 15 วันก่อนการเก็บเกี่ยว การใช้ เครื่องจักรหรือรถเกี่ยวนวดควรทำความสะอาดหรือล้างเครื่องก่อนหากเครื่องจักรนั้นทำการเก็บเกี่ยวข้าวชนิดพันธุ์อื่นมาก่อน ควรนำผลผลิตที่ได้ผึ่งแดดประมาณ 2 ? 3 แดด เพื่อ ลดความชื้นให้เหลือประมาณ 15 %ก่อนรวบรวมเก็บหรือจำหน่าย จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่ได้ มีคุณภาพดี
6.ต้องหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจการผลิตทุกขั้นตอน ชาวนาอาชีพหลัก คือปลูกข้าว ดังนั้นชาวนาที่แท้จริงไม่ใช่ผู้จัดการนา ควรมีการวางแผนการปลูกข้าว ตรวจแปลงข้าวอย่างสม่ำเสมอ สังเกตอาการผิดปกติของข้าว ติดตามสถานการณ์การตลาดและ การพยากรณ์โรคแมลงศัตรูพืชเป็นประจำ มีความรู้ที่ถูกต้องอย่างแท้จริงในทุกขั้นตอน

หาก เกษตรกรมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตร อำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ 044255652
แหล่งที่มาของข้อมูล : เฉลิมศักดิ์ ประสิทธิ์สุวรรณ. สัมภาษณ์. 13 สิงหาคม 2558.
เรียบเรียงโดย : เพิก กองศรี เจ้าหน้าที่ศูนย์ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.นครราชสีมา