เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ทำไมหมูแพง

21 กรกฏาคม 2563
2,531
เนื้อหมูในประเทศราคาพุ่งสูง จาก 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เนื้อหมูราคาแพงขึ้น
ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศแพงขึ้นคือ

1. ความต้องการหมูเพิ่มมากขึ้น
หลังจากที่รัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเปิดเทอม การบริโภคหมูก็เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหมูในเดือนกรกฎาคม 2563 พุ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นนอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในช่วงเวลาตลอด 1 ปีในปีอื่นๆ ความต้องการหมูก็มีความต้องการต่างกัน โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนพฤษภาคมของทุกๆ ปี จะมีราคาหมูแพงกว่าเดือนอื่นๆ เนื่องจากมีเทศกาลตรุษจีน และการไหว้เจ้าตามประเพณีที่ต้องใช้หมูเป็นส่วนประกอบในพิธีไหว้ ทั้งนี้ในปี 2557 - 2561 ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรของไทย เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.73 ต่อปีซึ่งสุกรที่ผลิตได้ใช้บริโภคภายในประเทศเป็นหลักประมาณร้อยละ 97 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยในปี 2561 มีปริมาณการบริโภคสุกร 19.34 ล้านตัว หรือ 1.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 3.57

2. โรคติดต่อภายในหมู
ในปี 2562 ที่ผ่านมาราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มพุ่งกว่าปี 2561 แพงกว่า 1 เท่าตัว เนื่องจากในช่วงปี 2562 นั้นมีโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ระบาดในหลายประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรต่างต้องเลี้ยงสุกรอย่างระมัดระวัง จากภาวะโรค ASF ที่เกิดขึ้น พบว่าสุกรในระบบของไทยหายไปกว่า 20% จากเดิมในปี 2562 ไทยที่มีสุกรในระบบประมาณ 20,000,000 ตัว ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงตัวละ 100 บาท

3. ส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
หมูไทย กลายเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่โดนโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในสุกร ทำให้ปริมาณหมูลดลงทุกประเทศ และราคาแพงขึ้น สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โรคระบาดในสุกรมีความรุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อย่าง จีน เวียดนาม และเมียนมา พร้อมทั้งได้รับการยอมรับว่าจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ว่า สามารถจัดการปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้หมูไทยไม่ขาดแคลนและมีราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย จึงกลายเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ อย่าง จีน เวียดนาม ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ส่งออกหมูอันดับต้นๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะในช่วงปี 2562 ยอดส่งออกหมูไปเวียดนาม อยู่ที่ราว 16%ของรายได้ และยอดส่งออกไปจีนอยู่ที่ราว 24% ของรายได้

4. ราคาอาหารหมู
ในการผลิตสุกรนั้นต้นทุนอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสุกรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิ ปลายข้าวราคาสูงกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม และรำข้าวราคา 10-11 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตปัจจุบัน 65-67 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มประมาณ 66-71 บาทต่อกิโลกรัม

5. สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ปัญหาภัยแล้ง และอากาศร้อน เนื่องจากช่วงไหนที่สภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้สภาพร่างกายของหมูกินอาหารลดลง ทำให้น้ำหนักหมูลดลง เกษตรจึงต้องเพิ่มปริมาณอาหารหมูเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังกระทบกับเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีน้ำไม่เพียงพอ จึงต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ในฟาร์มทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 2-3% มีค่าไฟเพิ่มเพราะต้องเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนฉับพลันทำให้ลูกหมูอ่อนแอมาก มักเป็นไข้หวัด ป่วยง่าย จึงมีค่าเวชภัณฑ์ในการรักษาเพิ่ม จากปัจจัยทั้งหมดล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาหมูเพิ่มมากขึ้น แต่ใดๆ นั้นราคาที่ผันผวนต้องถูกควบคุมให้อยู่ในราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ไม่อย่างนั้นประชาชนและผู้ประกอบการจะเดือดร้อนและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างฉุดไม่อยู่

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
กรุงเทพธุรกิจ