เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

หวั่นกุ้งขาดผู้ส่งออกตะลุยซื้อ 1 หมื่นตัน

16 พฤษภาคม 2561
1,973
แก้ปมราคากุ้งยืดเยื้อ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยตกลงรับซื้อกุ้ง 1 หมื่นตัน 2 เดือน เผยสาเหตุทุกฝ่ายเข้าอุ้ม ผวากุ้งขาดตลาดช่วง ก.ค.-ก.ย.จากผู้เลี้ยงกลัวขาดทุนไม่ลงเลี้ยงกุ้ง
จากปัญหาราคากุ้งทะเลตกต่ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จากผลผลิตกุ้งโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อหาแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่จะดำเนินการตามโครงการ "ประชารัฐรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2561" โดยช่วยรับซื้อวัตถุดิบกุ้งหน้าฟาร์มกับเกษตรกรในราคานำตลาดเป็นเวลา2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 31 ก.ค. 2561 โดยตั้งเป้ารับซื้อปริมาณ 5,000 ตัน/เดือน รวมปริมาณทั้งสิ้น 10,000 ตัน โดยจะรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ขายกุ้งภายในวันที่ 14-18 พ.ค.นี้ และเงื่อนไขรับซื้อทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ก่อนรับซื้อในเดือนหน้า ซึ่งกรมมั่นใจว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น และช่วยพยุงราคากุ้งได้

ก่อนหน้านี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ปรับลดราคาลูกกุ้งขาวแวนนาไม จากตัวละ 19 สตางค์ เหลือ16 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.- 30 มิ.ย. 2561 และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ประกาศให้สมาชิกของสมาคม ปรับลดราคาอาหารกุ้งลง 25 บาทต่อกระสอบ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ? 30 มิ.ย. 2561

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ราคากุ้งตกต่ำต่อเนื่องครั้งนี้ยังไม่วิกฤตเป็นการล้นชั่วคราว ซึ่งเดือนหน้ากุ้งอินเดียที่มีผลผลิตส่งออกสูงถึง 6.7 แสนตันในปีที่ผ่านมาจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยซื้อหน้าฟาร์มเกษตรกรชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อมิให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้งไทยล้มทั้งระบบ เพราะหากล้มลงไป โรงงานเองก็เดือดร้อนเพราะมีคนงานอยู่มหาศาล การที่จะย้ายโรงงานมูลค่ารายละ 1,000-1,200 ล้านบาทไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และเรื่องไหนค้าขายได้ เอกชนก็พร้อมช่วย 100%

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหากุ้งล้นชั่วคราว ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอยู่ได้ แต่หากไม่ช่วยกันอาจเกิดปัญหากุ้งขาดตลาดในเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ได้ เพราะเกษตรกรที่ขาดทุนจะไม่ลงเลี้ยงกุ้ง และจะส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทานกุ้งได้ ซึ่งจากปัญหานี้คาดว่าครึ่งปีแรกนี้ไทยจะส่งออกกุ้งได้ 1.2-1.3 แสนตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

"ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งอินเดียสูงกว่าไทย ช่วงนี้เกษตรกรอินเดียขายกุ้งขาดทุน เพราะช่วงต้นปีนี้ราคาลูกกุ้งแพงกว่าไทย ตกตัวละ 25 สตางค์ มีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อกุ้งที่ขาย 1 กก. ต้นทุนไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 15 บาท/กก. และอินเดียยังมีปัญหาเรื่องน้ำในการเลี้ยง จึงต้องเลี้ยงไม่เกิน 60 ตัว/ตารางเมตร ขณะที่ไทย 80-100 ตัว/ตารางเมตร และน้ำแข็งไม่เพียงพอซึ่งส่งผลถึงความสดของกุ้ง"

รายงานข่าวระบุว่า แม้ขณะนี้ราคากุ้งอินเดียจะต่ำกว่าไทย กก.ละ 30-40 บาท แต่ในที่ประชุมยังไม่ได้หารือข้อสรุปในเรื่องที่สมาคมผู้ผลิตอาหารแช่เยือกแข็งขออนุญาตนำเข้ากุ้งจากอินเดียก่อนหน้านี้ เพราะมุ่งเน้นจะแก้ไขปัญหาราคากุ้งซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"หวั่นกุ้งขาดผู้ส่งออกตะลุยซื้อ 1 หมื่นตัน". (13-05-2561). ประชาชาติธุรกิจ.: สืบค้นเมื่อ 14-05-2561,
เข้าถึงได้จาก : https://www.prachachat.net