เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

คนเลี้ยงปู-หอยถอดใจ ปีนี้ไม่ขอรอลุ้นน้ำเน่า

25 ตุลาคม 2560
2,208
ปริมาณน้ำท่า น้ำฝน และน้ำทะเลหนุนช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ เทียบกับตุลาคมปีที่แล้ว ยังคงสร้างความอกสั่นขวัญกระเจิงให้แก่ผู้ขยาดน้ำไม่จางหาย
ตุลาคมปีที่แล้ว สภาพฝนฟ้าที่แปรปรวนและป้วนเปี้ยนอยู่ในเมืองไทย ได้เติมปริมาณน้ำเพิ่มให้แก่ลำน้ำหลายสายที่มีสภาพเพียบแปล้อยู่แล้วก่อนหน้าให้เพิ่มปริมาณขึ้นอีก จนหลายพื้นที่ของ กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีน้ำเก่าท่วมขัง รอการระบาย ถูกน้ำท่วมอ่วมอรทัยกันไปทั่วถึง นานไม่ต่ำกว่า 1 - 2 สัปดาห์

โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ปลายน้ำ ช่วงก่อนจะมีการระบายน้ำทิ้งลงสู่ทะเล...ยิ่งอ่วมหนักจากมวลน้ำจืดมหาศาลที่ถูกระบายไหลผ่านพื้นที่ของพวกเขา ก่อนปล่อยออกสู่ทะเลอ่าวไทย

ไม่เพียงส่งผลให้น้ำเอ่อท่วมที่อยู่อาศัยของชาวบ้านช่วงท้ายน้ำหลายหลังคาเรือน ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรริมฝั่งทะเล แถบพื้นที่บางขุนเทียน กทม. ซึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งแชบ๊วย กุ้งขาว หอยแครง หอยแมลงภู่ และ ปูทะเล ได้จุกอกกันไปถ้วนหน้า เมื่อเดือนตุลาฯปีที่แล้ว

เทียบกับตุลาคมปีนี้ สถานการณ์น้ำท่าและฟ้าฝน บวกกับระดับน้ำทะเลหนุน...เพียงแค่ฉายหนังตัวอย่างเรียกน้ำย่อย เมื่อค่ำคืน วันที่ 13 ต.ค.ต่อเนื่องถึงรุ่งขึ้นวันที่ 14 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา

ถนนหนทางหลายสายในกรุงเทพฯ หลายคนตื่นขึ้นมาแทบช็อก...เมื่อพบกับการเปลี่ยนสภาพกลายเป็น "คลองน้ำเน่า" สูงท่วมฟุตปาทหลายแห่งในบัดดล

แม้ว่าล่าสุด หลายฝ่ายที่รู้ดีเรื่องน้ำท่าและฟ้าฝน จะออกมาปลอบประโลม "อย่าได้ตกใจ" กันไปเลย เพราะ "พายุขนุน" ลูกที่เคยมาเยือนก่อนหน้านี้หมดฤทธิ์เดชไปแล้ว ที่ช่วงนี้บ้านเรายังคงมีฝนตกทั้งในภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ เป็นผลมาจากแค่ร่องลมมรสุมที่พาดผ่านเท่านั้น

ส่วนแขกเยือนเจ้าปัญหาอีกราย อย่าง "พายุไต้ฝุ่นแลน" ซึ่งก่อตัวเป็นพายุลูกที่ 23 ในมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยความรุนแรงระดับ 4 (ระดับความรุนแรงสูงสุด คือ 5) นั้น ล่าสุดก็ไม่ได้แวะเข้ามาเยี่ยมประเทศไทยโดยตรงแล้ว แต่เบนหัวมุ่งหน้าไปทางญี่ปุ่นแทน

โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นระดับ 3 ก่อนขึ้นฝั่งแถวใกล้เมืองคาโกชิมะในวันที่ 22 ต.ค. และอ่อนกำลังลงเป็นระดับ 2 เคลื่อนผ่านเมืองโอซากาและโตเกียว ประมาณวันที่ 23 และ 24 ต.ค. ตามลำดับ

สรุปว่า สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง...

แต่ดูเหมือนขวัญและกำลังใจของผู้ที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงหอยแครง ช่วงท้ายน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเลแถวบางขุนเทียน กทม. อย่าง บุญส่ง สุทธิโชค คนเลี้ยงหอยแครง ที่แขวงท่าข้าม บางขุนเทียน ยังเต็มไปด้วยความลังเล

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ไม่เพียงคนเลี้ยงหอยแครงแถวบางขุนเทียนที่เดือดร้อนกันย่อยยับ คนที่ปักก่ำไม้ เลี้ยงหอยแมลงภู่ตามชายน้ำช่วงปากอ่าวก็โดนหางเลขไปด้วยเต็มๆ หลายรายจำใจต้องรีบจับหอยตัวนิดเดียวขึ้นหนีน้ำขายในราคาขาดทุนกันถ้วนหน้า

เช่นเดียวกับตัวเขาเอง ซึ่งลงทุนซื้อลูกพันธุ์หอยแครง น้ำหนัก 1 ตัน หมดเงินไปประมาณ 1 แสนบาท เพื่อปล่อยเลี้ยงในนาหอย

แต่ยังไม่ทันครบกำหนด 8 - 9 เดือน ที่จะจับขาย หอยที่เลี้ยงไว้โดนน้ำเสียที่ถูกระบายมาจากด้านบนก่อนปล่อยลงสู่ทะเล น็อกตายเสียหายเป็นจำนวนมาก พี่บุญส่งจำต้องจับหอยที่ยังไม่ได้ขนาด ขายขาดทุน เพื่อเอาทุนคืนได้แค่บางส่วน

ปีนี้พี่บุญส่งนั่งยันนอนยันว่า บทเรียนราคาแพงจากปีที่แล้ว จะไม่ขอสุ่มเสี่ยงกับความเสียหายแบบปีที่แล้วอีก

"ที่จริงถ้าเขาระบายน้ำทิ้งมาจากใน กทม. ถ้าเราปิดประตูระบายน้ำไม่ให้น้ำจากข้างนอกไหลเข้านาหอยที่เลี้ยงไว้ มันก็ทำได้อยู่ แต่ก็ปิดเต็มที่ได้ไม่นาน เพราะหอยจะตัวแกร็น ขาดแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารและไหลมากับน้ำใหม่ให้มันกิน"

บุญส่งบอกว่า ปีนี้เขาจึงวางแผนใหม่ ตัดใจลดความเสี่ยงด้วยการทยอยขายหอยเป็นช่วงๆ เช่น ขายหอยแครงที่ฟูมฟักไว้จนถึงอายุ 7 เดือน เฉลี่ยที่น้ำหนักประมาณ 120 - 140 ตัว/กก. ไปในราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง กก.ละ 70 - 80 บาท

ซึ่งปกติหากเขากัดฟันเลี้ยงต่อไปอีกแค่เพียง 2 เดือน จนหอยแครงที่มีอายุ 9 เดือนเต็ม หรือมีน้ำหนักประมาณ 100 ตัว/กก. จะทำให้ยอดเงินในกระเป๋าของเขาเพิ่มขึ้นไปถึง กก.ละ 130 บาท หรือมีส่วนต่างกำไรอีก 50 - 60 บาท/กก. เลยทีเดียว

แต่พี่บุญส่งส่ายหน้าบอกว่า

"ผมขอเลือกกำไรน้อยหน่อย แต่เลี้ยงแล้วไม่เจ๊งดีกว่า"

จากคนเลี้ยงหอย ลองไปคุยกับคนเลี้ยงปูบ้าง ชรินทร์ ถาวร หรือ อ๊อด เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งหอยแครงและปูทะเล ละแวก ซ.ริมคลองสหกรณ์ แขวงท่าข้าม บางขุนเทียน บอกว่า

ความต่างระหว่างการเลี้ยงหอยแครงกับปูทะเล อยู่ที่เลี้ยงปูทะเลได้เงินไวกว่า เพราะใช้เวลาเลี้ยงเพียงสามเดือนเศษก็จับขายได้เงินแล้ว

"แต่มันยุ่งยากกว่า ตรงที่เลี้ยงปูต้องให้อาหารจำพวกปลาสับ หรือหอยกระพงด้วยไม่เหมือนหอยแครงที่กินแพลงก์ตอน ซึ่งมากับน้ำตามธรรมชาติเป็นอาหาร อีกอย่างอัตรารอดของการเลี้ยงปูก็มีน้อยกว่าหอยแครง"

อ๊อดบอกว่า เขาซื้อพันธุ์ปูทะเลสีดำมาจาก จ.ระนอง ในราคา กก.ละ 170 บาท 1 กก. ได้ปูพันธุ์มาแค่ 20 ตัว เทียบกับปีที่แล้ว ราคา กก.ละแค่ 130 บาท

เมื่อเลี้ยงไปประมาณ 1- 2 เดือน ปูตัวเมียจะเริ่มลอกคราบ และกลายเป็นปูไข่ ถ้าจับปูไข่ขายคละกันในช่วงนี้กับปูตัวผู้ หรือที่เรียกว่า ปูเนื้อ ขนาดไซส์ 10 ตัว/กก. พ่อค้าคนกลางจะรับซื้อที่ กก.ละ 300 - 400 บาท

แต่ถ้าเลี้ยงต่อไปอีกระยะจนปูทะเลมีน้ำหนักตัวละ 2-3 ขีดขึ้นไป ราคารับซื้อจะอยู่ที่ กก.ละ 500 - 600 บาท

อย่างไรก็ตาม อ๊อดบอกว่า การเลี้ยงปูทะเลมีอัตรารอดน้อยกว่าเลี้ยงหอยแครง แถมยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องขาดทุน จากค่าอาหาร ที่สำคัญยังขึ้นอยู่กับสภาพของน้ำที่ใช้เลี้ยงอีกด้วย ปัจจุบันจึงแทบจะไม่มีใครเลี้ยงปูทะเลกัน

แม้ปีนี้หลายฝ่ายจะฟันธงว่า น้ำเสียไม่น่าจะแวะไปเยือนเกษตรกรอย่างอ๊อดเหมือนเมื่อปีที่แล้ว แต่เขาก็ใช้วิชาเอาตัวรอดเดียวกับพี่บุญส่งคือ ไม่ขอเสี่ยงดีกว่า

"ปีนี้ผมหมดค่าพันธุ์ปูไปหมื่นกว่าบาท ยังไงก็ขอทยอยเอาทุนคืนไว้ก่อน ก่อนหน้านี้ไม่นานเลยตัดสินใจดักลอบจับปู
วัยเดือนครึ่งทยอยขายไปชุดแรก ได้ทุนคืนมากอดให้อุ่นใจแล้ว 3,000 แม้ปีนี้น้ำจืดและยังไม่ตาย (เน่า) ก็จริง แต่ถ้าเจ๊งขึ้นมา ใครจะกล้ารับประกันให้เรา".

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"คนเลี้ยงปู-หอยถอดใจ ปีนี้ไม่ขอรอลุ้นน้ำเน่า". (23-10-60). ไทยรัฐออนไลน์.: สืบค้นเมื่อ 25-10-60 ,
เข้าถึงได้จาก : https://www.thairath.co.th/content/1105199