เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

คนเลี้ยงกุ้งภาคกลาง-ตะวันออกเฮราคาพุ่ง น้ำท่วมใต้สินค้าขาดตลาด-ห้องเย็นโอด-ผู้บริโภคจ๋อย

25 มกราคม 2560
3,538
โอกาสทองกุ้งภาคกลาง-ตะวันออก หลังภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่หลายระลอก ภาคประมงเสียหาย 3.8 หมื่นไร่ ผลผลิตกุ้งขาดตลาด ด้านธุรกิจห้องเย็นโอดปริมาณวัตถุดิบลดลงกว่า 70% ขณะที่ความต้องการทั้งใน-ต่างประเทศสูงต่อเนื่อง ดันราคาพุ่ง 20-40% คาดต้องใช้เวลาฟื้นฟูบ่อกุ้งภาคใต้นาน 4-6 เดือนน้ำท่วมใต้กระทบผลผลิตกุ้งลด
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยตัวเลขความเสียหายภาคประมงในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 12 จังหวัดภาคใต้ ณ วันที่ 18 มกราคม 2560 ว่า มีพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559-18 มกราคม 2560 ทั้งหมด 38,001 ไร่ แยกเป็นปลา 28,606 ไร่ กุ้ง ปู และหอย 9,395 ไร่ โดยเป็นกระชังกว่า 95,116 ตารางเมตร ทั้งนี้มีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน 29,906 ราย

นายสุชิน คุ้มชนม์ อดีตประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงไตรมาส 1/2560 (มกราคม-มีนาคม) ราคากุ้งมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้อยลง เพราะมีการงดจับกุ้งในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ส่งผลให้ปริมาณกุ้งที่จับทั่วประเทศขณะนี้มีเพียง 60-70 ตู้ หรือ 360-420 ตัน/วัน ขณะที่ตลาดมีความต้องการประมาณ 80-100 ตู้ หรือ 480-600 ตัน/วัน

"ปกติช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ปริมาณกุ้งน้อยอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีฝนตกอยู่ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคตัวแดงได้ง่าย เกษตรกรจะปล่อยกุ้งกันน้อย และช่วงปีใหม่ เกษตรกรพากันเร่งจับกุ้งไซซ์เล็กขนาด (กุ้งขาวแวนนาไม) 70-80 ตัว/กก. ขาย เพราะเกรงว่าจะมีความผันผวนเรื่องราคา เมื่อภาคใต้เกิดน้ำท่วมเสียหาย ปริมาณกุ้งจึงลดน้อยลงไปอีก เช่นเดียวกับคู่แข่งต่างประเทศก็ผลิตได้น้อยลงเช่นกัน เพราะยังมีปัญหาโรคตัวแดง โรคตายด่วนอีเอ็มเอส (EMS) ขณะที่แนวโน้มความต้องการของตลาดกุ้งไซซ์ใหญ่ 30-40 ตัว/กก. ราคา 300 บาท/กก. ราคายังนิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา" นายสุชินกล่าว

ส้มหล่นบ่อกุ้งภาคตะวันออก

ด้านนายสุพล สินไชยกิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้มีสัดส่วนมากถึง 60-70% ภาคตะวันออกและภาคกลาง 30-40% แม้ว่าปกติในช่วงไตรมาสแรกราคากุ้งจะดีดตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณกุ้งน้อยเพราะต้องปล่อยกุ้งช่วงอากาศหนาวพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี แต่เมื่อภาคใต้มีภาวะน้ำท่วมทำให้บ่อกุ้งเสียหาย ราคาจึงดีดตัวสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งคาดว่าผู้เลี้ยงกุ้งในภาคใต้ต้องใช้เวลาฟื้นสภาพบ่อกุ้งนาน 4-6 เดือน

"ตอนนี้เกษตรกรภาคตะวันออกน่าจะตัดสินใจลงกุ้งกันมากขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจและสภาพอากาศดีขึ้น ดังนั้นช่วงไตรมาส 2 ราคาน่าจะดี แต่ผลผลิตกุ้งไม่แน่นอน เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องโรค โอกาสการเลี้ยงรอดยากขึ้น ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี" นายสุพลกล่าว


ราคาดีแต่ไม่มีขาย - ราคากุ้งขาวแวนนาไมปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากน้ำท่วมฟาร์มกุ้งในพื้นที่ภาคใต้ทำให้สินค้าเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โรงงานแปรรูปต้องรับซื้อกุ้ง จากภาคกลาง ภาคตะวันออกแทน แต่ก็ยังประสบปัญหาผู้เลี้ยงผลิตไม่ทัน

ธุรกิจห้องเย็นคาดผลผลิตวูบ 70%

ขณะที่นางณัทรมน อธิคุณาสิน ผู้จัดการ บริษัท นครบุญชัย จำกัด โบรกเกอร์หรือผู้รวบรวมกุ้งให้ห้องเย็นหลายบริษัทในภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีเลี้ยงกุ้งลดลงประมาณ 40% เนื่องจากประสบปัญหาโรคตัวแดงและโรคตายด่วน ประกอบกับมีปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ คาดว่าปริมาณกุ้งที่ห้องเย็นรับซื้อตามออร์เดอร์จะลดน้อยลงกว่าปกติเกือบ 70% ขณะที่ตลาดมีความต้องการสูงมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก เช่น สหรัฐอเมริกา มีความต้องการกุ้งประมาณ 50-55% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี กลุ่มสแกนดิเนเวีย ส่วนตลาดจีนเข้ามาซื้อช่วงที่เลี้ยงกุ้งไม่ได้ในเดือนมกราคม-มิถุนายน ดังนั้นจะทำให้ราคากุ้งจะสูงขึ้นแน่นอน

ปัจจุบันบริษัทที่รวบรวมกุ้งส่งให้ห้องเย็นในภาคตะวันออก 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) มีประมาณ 30 ราย ต้องวิ่งหาเกษตรกร ส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำและขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้า ทั้งนี้ที่ผ่านมาปริมาณกุ้งที่แต่ละบริษัทรับซื้อ 200-300 ตัน/เดือน ขณะนี้เหลือ 100-200 ตัน/เดือน ส่วนราคากุ้งทุกไซซ์ตั้งแต่ช่วงปีใหม่สูงขึ้น 15-20% และตอนนี้ถือว่าราคาพีกสุด โดยกุ้งขนาด 60 ตัว/กก. ปรับราคาขึ้น 15-20 บาท/กก. หรือคิดเป็น 20-40% ซึ่งราคาน่าจะดีไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์หลังเทศกาลตรุษจีน เพราะเป็นช่วงที่ตลาดจีนเข้ามาซื้อกุ้งไทยตั้งแต่มกราคม-มิถุนายนของทุกปี

ภาคกลางผลิตไม่พอขาย

นายสมพร บุญเลิศฟ้า เจ้าของฟาร์มกุ้งรายใหญ่ในจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ปัจจุบันราคากุ้งขาวแวนนาไมปรับตัวดีขึ้น เช่น กุ้งขนาด 80 ตัว/กก. ราคาปรับขึ้นอยู่ที่ 200 บาท/กก. จากเดิมอยู่ 150-170 บาท/กก. สาเหตุหลักที่ทำให้ราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัญหาน้ำท่วมฟาร์มกุ้งในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเลี้ยงกุ้งส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ และยังป้อนให้กับโรงงานแปรรูป แนวโน้มราคาจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะภาคใต้จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงฟาร์มอีกนาน ตอนนี้จึงเป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคกลางและภาคตะวันออก

ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดมีความต้องการกุ้งมากแต่ปริมาณกุ้งออกสู่ตลาดมีจำนวนน้อยลงขณะเดียวกันฟาร์มกุ้งภาคกลางก็กำลังประสบปัญหาโรคกุ้งขี้ขาว ทำให้โตช้าและตาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านอากาศแปรปรวนทำให้กุ้งไม่กินอาหาร โตช้า จึงทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
สอดคล้องกับนางวิมลมาศ เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพ จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ราคากุ้งในปัจจุบันสูงขึ้น ถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ โดยกุ้งขาวขนาด 70-80 ตัว/กก. ราคา 208 บาท และขนาด 100 ตัว/กก. ราคา 155 บาท เนื่องจากปริมาณกุ้งในตลาดน้อยลง แต่ความต้องการของตลาดมากขึ้น ประกอบกับปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก โดยที่ผ่านมาราคาเคยต่ำสุด 120-130 บาทขนาด 70-80 ตัว/กก.

"ปริมาณกุ้งในภาคกลางยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากในพื้นที่ภาคกลางยังคงติดปัญหาที่ภาครัฐระงับความเค็มในการเลี้ยงกุ้ง แต่โดยธรรมชาติของกุ้งขาวนั้นต้องการความเค็มมาก ซึ่งปกติแล้วภาคตะวันออกและภาคใต้จะมีศักยภาพที่ผลิตกุ้งออกสู่ตลาดได้เพียงพอ หากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว จะส่งผลให้ราคากุ้งสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน" นางวิมลมาศกล่าว
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"คนเลี้ยงกุ้งภาคกลาง-ตะวันออกเฮราคาพุ่ง น้ำท่วมใต้สินค้าขาดตลาด-ห้องเย็นโอด-ผู้บริโภคจ๋อย". (23-01-2560). ประชาชาติธุรกิจ.: สืบค้นเมื่อ 25-01-2560, เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1485146345