ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์ โดยมีฟาร์มจิ้งหรีด ประมาณ 20,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม สำหรับพันธุ์จิ้งหรีดที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สะดิ้ง ทองดำ และจิ้งหรีดขาว โดยมีกำลังผลิตสูงถึง 7,500 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าจิ้งหรีดสดและแปรรูปรวมกว่า 900ล้านบาท
"ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูปมากมาย เช่น Snack food รสชาติต่างๆ ทั้ง รสต้มยำ รสวาซาบิ รวมทั้งจิ้งหรีดชนิดโปรตีนผง เพื่อนำไปแปรรูป เป็น เค้ก คุกกี้ ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว จีน และ EU ซึ่งพบว่า ตลาดให้การตอบรับค่อนข้างดี ผู้ประกอบการจึงได้ประสานมายัง มกอช. เพื่อให้ออกข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือฟาร์มจิ้งหรีดจีเอพี (GAP) ในรูปแบบเดียวกับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วไป เนื่องจากลูกค้าใน EU ต้องการให้ไทยรับรองระบบการผลิตจิ้งหรีดตามมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มขึ้น" รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว
นายพิศาลบอกอีกว่า ขณะนี้ มกอช.อยู่ระหว่างเร่งเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาการจัดทำมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยง การแปรรูปและการส่งออกจิ้งหรีดไปต่างประเทศ หากไทยเร่งจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างเป็นทางการ คาดว่า จะเป็นเครื่องมือการันตีคุณภาพสินค้าแมลงของไทยโดยเฉพาะจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดและผลักดันส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดด้วย
นายพิศาลบอกอีกว่า ขณะนี้ มกอช.อยู่ระหว่างเร่งเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาการจัดทำมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยง การแปรรูปและการส่งออกจิ้งหรีดไปต่างประเทศ หากไทยเร่งจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างเป็นทางการ คาดว่า จะเป็นเครื่องมือการันตีคุณภาพสินค้าแมลงของไทยโดยเฉพาะจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดและผลักดันส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดด้วย
โดยจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อย ทั้งยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือเขตชนบท ซึ่งเกษตรกรสามารถเลี้ยงได้ถึง 7-8 รุ่น/ปี สำหรับจิ้งหรีดบ้านหรือแมงสะดิ้ง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 40-50 วัน ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 80-100 บาท ส่วนจิ้งหรีดทองดำใช้ระยะเวลาเลี้ยง ประมาณ30-45 วัน ราคาขายส่งอยู่ที่ 120-150บาท/กิโลกรัม นอกจากจะมีการซื้อขายภายในชุมชนแล้ว สำหรับตลาดขายส่งจิ้งหรีดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดเกษตรกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว และตลาดจตุจักร กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังมีการส่งออกจิ้งหรีดไปยังญี่ปุ่นEU และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก
"ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (EC)ได้ประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Novel food) เพื่อให้สถานประกอบการสามารถนำเข้า Novel food มายัง EUได้สะดวกขึ้น โดยยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยอาหารไว้ในระดับสูง ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 และได้กำหนดให้แมลงเป็น Novel food ด้วย ถือเป็นการเปิดช่องทางให้กับอุตสาหกรรมอาหารจากวัตถุดิบแมลง คาดว่าจะเป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดของไทยที่จะขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำมาตรฐาน GAP ฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าแมลงของไทยในตลาดโลก"รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว