เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

นํ้ายมแห้งขอด ใช้เป็นที่เลี้ยงควายพิจิตร-อ่างทองอ่วม

23 ธันวาคม 2558
3,016
นํ้ายมแห้งขอด ใช้เป็นที่เลี้ยงควายพิจิตร-อ่างทองอ่วม ดอยยะเยือก0องศาฯ
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม สถานการณ์วิกฤติภัยแล้งทวีความรุนแรงต่อเนื่องในหลายพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จ.พิจิตรเริ่มส่งรุนแรงต่อเนื่องจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือในพื้นที่หมู่ 11 บ้านวังปลาทู ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม ต้องต้อนกระบือที่เลี้ยงไว้กว่า 40 ตัวลงไปเลี้ยงในแม่น้ำยมที่ตลอดทั้งท้องแม่น้ำ มีสภาพคล้ายทะเลทรายเพื่อกินน้ำในแอ่งน้ำที่เหลือเพียงแอ่งเล็กๆ และเพื่อแช่น้ำคลายร้อนในช่วงกลางวัน

โดยนายแสงสุรีย์ พูพุ่ม อายุ 25 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ บ้านวังปลาทู ระบุว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้ง ที่ต่อเนื่องรุนแรงส่งผลกระทบให้แม่น้ำยมแห้งขอด จนไม่มีน้ำ กระทบการเลี้ยงกระบือ เพราะไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติใช้เลี้ยงและให้กระบือนอนปลักน้ำ โดยน้ำแอ่งเล็กๆที่มีอยู่คาดว่าจะแห้งจนหมดภายในสิ้นปีนี้ หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับการเลี้ยงกระบืออย่างแน่นอนซึ่งยังไม่รวมถึงหญ้าธรรมชาติที่มีน้อยลง จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้หญ้าธรรมชาติตายจนหมดด้วย

ที่ จ.สุโขทัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ ในพื้นที่สุโขทัยหนักกว่าทุกปี นอกจากส่งผลกระทบต่อชาวนาที่ทำนาปลูกข้าว เกษตรกรที่ทำไร่ ทำสวนพืชผลเสียหายจำนวนมากยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมง โดยเฉพาะที่ ต.กง อ.กงไกรลาศ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำยมและทำประมงเลี้ยงครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างมากแม่น้ำยมลดลง บางจุดแห้งจนเห็นพื้นทราย ไม่มีปลาให้จับ

นางโสนน้อย รอเพื่อน หรือ เจ๊น้อยปลาสด ต.กง เจ้าของร้านซื้อ-ขายปลาสดแหล่งใหญ่ที่สุดในสุโขทัย เผยว่าเป็นแม่ค้ารับซื้อ-ขายปลาสด แม่น้ำมา40ปี ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนหนักมาก ทั้งฝนแล้งน้ำน้อยที่สุด จากที่เคยซื้อปลาได้วันละ 2-3 ตัน เหลือวันละ200-300กิโลกรัม ทำให้ร้านค้าต่างๆขายของกันได้น้อยลง เศรษฐกิจโดยรวมก็แย่ตามกันจึงต้องหันจาก ธุรกิจหลักในการรับซื้อ-ขายปลาสดแม่น้ำ เปลี่ยนมาทำนาปลูกข้าวและปลูกเผือกไปด้วย

ที่ จ.อ่างทอง สถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลกระทบน้ำในบึงรำมะสัก ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง บึงขนาดกว้าง 100 เมตร ยาวกว่า10 กิโลเมตร เริ่มแห้งขอจนมีสันดอนโผล่ให้เห็นหลายแห่งหลัง โดยมีชาวนาจำนานหลายรายเร่งสูบหล่อเลี้ยงต้นข้าวในแปลงที่ใกล้การเก็บเกี่ยว ขณะที่ สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่าน จ.อ่างทอง ระดับน้ำได้ลดลงต่อเนื่อง จนสันดอนกลางแม่น้ำโผล่เห็นชัดเจนหลายจุดที่ ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ. นครราชสีมา มีพื้นที่ 32 อำเภอ ทางป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(ปภ.)นครราชสีมาสรุปรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง และการใช้ความช่วยเหลือ เบื้องต้น พื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง รวม 11 อำเภอ 81 ตำบล 1เทศบาล 884 หมู่บ้าน 16 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 61,630 ครัวเรือน พืชผลการเกษตรเสียหาย 936,679 ไร่

ขณะที่นายชิดชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 (นครราชสีมา) กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ทั้ง 5 เขื่อน เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว , เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย , เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี , เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีกว่า 102 ล้าน ลบ.ม. หากประชาชนร่วมมือกันทำตามแผนน่าจะผ่านฤดูแล้งนี้ไปได้

ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่ากรมมีแนวทางส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในนาข้าว และทดแทนการทำนาในภาวะวิฤกติแล้งทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาไร่ข้าวโพด ที่ชาวบ้านบุกขึ้นไปปลูกกันบนภูเขา จนกลายเป็นเขาหัวโล้น ในหลายจังหวัดที่รุนแรงสุดคือจ.แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ มีพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นแสนๆไร่ถูกบุกรุก

"กรมได้ทำแผนเสนอให้พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯเพื่อวางแนวทางร่วมกับกรมป่าไม้ย้ายพื้นที่ปลูกข้าวโพด ลงมาพื้นล่าง และมาส่งเสริมให้ปลูกในนาข้าว แทนที่สามารถปลูกช่วงแล้ง และปลูกหลังนาได้เลย" อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำ

วันเดียวกันนายพรเทพ เจริญสืบสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าช่วงเช้าอุณหภูมิที่ยอดดอย วัดจากระบบดิจิตอลได้4 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิยอดหญ้าวัดได้0 องศาฯที่ กิ่วแม่ปานวัดได้ 3 องศาฯ โดยที่หน้าที่ทำการอุทยานฯ เกิดเหมยขาบขึ้นเป็นจำนวนมาก สร้างความตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาว

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"นํ้ายมแห้งขอด ใช้เป็นที่เลี้ยงควายพิจิตร-อ่างทองอ่วม". (23-12-2558). แนวหน้า.: สืบค้นเมื่อ 23-12-2558, เข้าถึงได้จาก : http://www.naewna.com/local/194297