เรื่องเด็ดเกร็ดเกษตร

ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ภาครัฐรุกกลับเอ็นจีโอ ทุ่มทำสารคดีแก้ข้อกล่าวหา กดขี่-ใช้แรงงานทาส

22 ธันวาคม 2558
2,188
นายกสมาคมกุ้งไทยเร่งรัฐบาลแก้ปัญหากีดกันการค้ากุ้ง ทุ่มทำสารคดีโฆษณาฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งไทยไม่ใช้แรงงานทาส โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำทะเลไม่ใช้ล้งที่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย ชี้ปี?59 การเลี้ยงกุ้งไทยฟื้นตัว คาดเพิ่มผลผลิตได้ 10%
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ต้องการให้ภาครัฐทุ่มเงินทำสารคดีเกี่ยวกับธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาสหรือการกดขี่การใช้แรงงานเผยแพร่ไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เนื่องจากขณะนี้มีนักการเมืองและองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ฉวยโอกาสรณรงค์ผู้ซื้อในประเทศไม่ให้ซื้อสินค้าอาหารทะเลของไทย โดยอ้างว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส การกดขี่การใช้แรงงาน บางรายต้องทำงานต่อวันนานถึง 16 ชั่วโมงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไทยต้องระวังตัวและต้องเปิดแนวรุกกลับว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่มีการใช้แรงงานทาสซึ่งตอนนี้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำทะเลส่งออกรายใหญ่เลี่ยงการใช้ซัพพลายเชนโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายแล้ว

สำหรับสถานการณ์กุ้งของไทยปี 2558 นั้น ผลผลิตกุ้งปี 2558 โดยรวมประมาณ 260,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 13 ถือเป็นสัญญาณที่ดี ชี้ให้เห็นว่าไทยสามารถรับมือ-แก้ปัญหาโรคตายด่วน หรืออีเอ็มเอส (EMS) ได้ดีขึ้น และปีหน้าผลผลิตกุ้งจะดีขึ้นเป็นลำดับ คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 290,000 ตัน เพิ่มขึ้นอีก 10% ในขณะที่ผลผลิตกุ้งโลกมีแนวโน้มลดลง ปี 2559 จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมกุ้งไทย

"ประมาณการผลผลิตปี 2558 ผลผลิตกุ้งไทยอยู่ที่ประมาณ 260,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ผลิตกุ้งได้ 230,000 ตัน หรือร้อยละ 13 ทั้งนี้จากการที่ผู้เลี้ยงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยง ทำให้สามารถแก้ปัญหาโรคระบาด EMS ได้สำเร็จ ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2.04 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 ประมาณร้อยละ 8 โดยประเทศคู่แข่งหลักมีปริมาณผลผลิตลดลง โดยเฉพาะจีน เวียดนาม และอินเดีย

ด้านการส่งออก จากข้อมูลการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้อยู่ที่ 127,871 ตัน มูลค่า44,256 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2557 ปริมาณลดลงร้อยละ 1.21 มูลค่าลดลงร้อยละ 14.43" นายกสมาคมกุ้งไทยกล่าว

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกว่า ในปี 2558 ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีการชะลอตัวบ้างในช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ลูกกุ้งในปี 2558 มีคุณภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีความมั่นใจลงกุ้งมากขึ้น และปีหน้าผลผลิตเพิ่มขึ้นเพราะเกษตรกรเตรียมลงกุ้งเลี้ยงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และจะมีการเพิ่มการจัดการการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

นายสมชาย ฤกษ์โภคี กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งประสบปัญหาโรค EMS มาเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ได้มีการปรับปรุงและหาวิธีการเลี้ยง โดยปรับโครงสร้างฟาร์มและวิธีการจัดการ จนได้วิธีการเลี้ยงที่สามารถเลี้ยงได้ประสบผลสำเร็จ ทำให้มีผลผลิตถึงเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 80,700 ตัน คิดเป็นประมาณ 38% ของประเทศ และด้วยแนวทางการเลี้ยงรูปแบบใหม่นี้ จะทำให้ผลผลิตกุ้งในปี 2559 เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

นายชัยพร เอ้งฉ้วน กรรมการบริหารสมาคม กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ในฝั่งอันดามันว่า ปัญหา EMS ในภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีแนวโน้มดีขึ้น จาก 2 ปัจจัยคือ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และเกษตรกรมีการปรับปรุงวิธีการเลี้ยง ทำให้ผลผลิตกุ้งภาคใต้ฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 15 โดยมีการผลิตทั้งกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำ

ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยเผชิญปัญหาโรค EMS แต่ภาคผู้เลี้ยงไม่เคยถอดใจ และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่จนปัจจุบันเราสามารถแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างมั่นใจ และปี?59 จะเป็นโอกาสพลิกฟื้นของอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพราะจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ จากปัจจัยหลักทั้งเรื่องคุณภาพลูกกุ้ง และการปรับวิธีการเลี้ยง ในขณะที่ประเทศคู่แข่งจะผลิตได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ห้องเย็นและผู้เลี้ยงจะต้องมีการประสานข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาราคาตกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
"ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ภาครัฐรุกกลับเอ็นจีโอ ทุ่มทำสารคดีแก้ข้อกล่าวหา กดขี่-ใช้แรงงานทาส". (22-12-2558). ประชาชาติธุรกิจ.: สืบค้นเมื่อ 22-12-2558, เข้าถึงได้จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1450671320