วันที่ 10 สิงหาคม 58 เวลาประมาณ 11.00 น. ทางศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันจังหวัดชุมพร ได้ทำการสัมภาษณ์สัตวแพทย์หญิง วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร ถึงสาเหตุการเกยตื้นตายของเต่าตนุในกรณีนี้ โดยคุณหมอได้ให้ข้อมูลว่า เต่าที่พบเป็นเต่าตนุเพศเมีย อายุไม่น่าจะต่ำกว่า 20 ปี จากการผ่าพิสูจน์ซาก พบว่าเป็นเต่าที่มีสุขภาพและกล้ามเนื้อแข็งแรงดี ไม่น่าจะเกิดจากอาการป่วยตายหรือโดนสารพิษอะไร โดยจากการสังเกตพบว่า มีร่องรอยของกระดองที่มีการแตกร้าวจากการถูกของแข็งหรือของมีคมกระแทกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรือเกิดจากเรือประมงบริเวณดังกล่าว ทำให้ภายในอักเสบจนสะสมตัวเป็นก๊าซอยู่ภายใน และดันให้ลำไล้ทะลักออกมา ตามรอยแตกของกระดอง ทำให้ทนความเจ็บปวดไม่ไหวและเกยตื้นตายในเวลาต่อมา
สัตวแพทย์หญิงวัชรา ศากรวิมล ได้ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้ว เต่าทะเลพวกนี้จะอาศัยอยู่บริเวณแนวปะการัง หรือหญ้าทะเล ซึ่งเป็นบริเวณที่เรือประมงพื้นบ้านมักจะออกจับสัตว์น้ำและทำประมงอยู่เป็นประจำ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระทั่ง และไปทำร้ายเต่าพวกนี้ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากการติดอวน หรือโดนใบพัดเรือจนกระดองแตก หรือสาเหตุอื่นๆ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จึงอยากฝากแจ้งเตือนให้ชาวประมงช่วยกันอนุรักษ์และช่วยกันดูแลเต่าเหล่านี้ด้วย เพราะหากสัตว์เหล่านี้ถูกทำร้าย ถูกจับจนสูญพันธุ์ จะส่งผลกับความสมดุลของระบบนิเวศทะเลชายฝั่งโดยตรง และทำให้สัตว์ประเภทอื่นอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา ได้รับผลกระทบไปด้วย
ชาวประมงหรือผู้ที่พบเห็นเต่าทะเล รวมถึงสัตว์ทะเลหายากอื่นๆเกยตื้น ไม่ว่าจะตายเป็นซาก หรือได้รับบาดเจ็บ สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร เพื่อทำการลงพื้นที่ตรวจสอบ หรือให้การช่วยเหลือ หากเป็นซากก็จะทำการเก็บตัวอย่างและผ่าพิสูจน์ซากเพื่อหาสาเหตุการตาย ว่ามีผลกระทบกับทะเลและชายฝั่งมากน้อยแค่ไหน และจะได้เฝ้าระวังกันในโอกาสต่อไป
แหล่งที่มาของข้อมูล : วัชรา ศากรวิมล.สัมภาษณ์,10 สิงหาคม 2558.
เรียบเรียงข้อมูลโดย : อรรถพงศ์ ศักนา.เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดชุมพร.
แหล่งที่มาของข้อมูล : วัชรา ศากรวิมล.สัมภาษณ์,10 สิงหาคม 2558.
เรียบเรียงข้อมูลโดย : อรรถพงศ์ ศักนา.เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดชุมพร.